จะแก้ปัญหา PM2.5 ให้ได้ผล ต้องทำแบบนี้เท่านั้น

จะแก้ปัญหา PM2.5 ให้ได้ผล ต้องทำแบบนี้เท่านั้น

ฝุ่นจิ๋ว PM2.5 เป็นเรื่องที่อยู่ในความสนใจของคนไทย โดยเฉพาะคนที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานครและมหานครเชียงใหม่มาเป็นเวลา 2-3 ปีแล้ว

         ทั้งๆที่อันที่จริงแล้วปัญหามลพิษฝุ่นนี้ได้อยู่กับเราคนไทยมาไม่น้อยกว่ายี่สิบปีก่อนหน้านี้ แต่เมื่อมันมาอยู่ในกระแสสังคมปัจจุบันภาครัฐก็ได้ออกมาตรการต่างๆ เพื่อที่จะลดปัญหาฝุ่นจิ๋ว PM2.5 เช่น จะห้ามรถบรรทุกเข้าเขตเมืองในชั่วโมงเร่งด่วน จะใช้ระบบวันคู่วันคี่ให้รถส่วนบุคคลวิ่ง จะเปลี่ยนน้ำมันเป็นมาตรฐานใหม่ที่ลดมลพิษอากาศได้ จะห้ามเผาป่าและซากพืชเกษตร จะเข้มงวดกับโรงงาน จะเปลี่ยนรถของรัฐเป็นรถไฟฟ้า ฯลฯ

        มาตรการพวกนี้แม้เรายังทำกันได้ไม่ดีนักแต่ก็ต้องเร่งทำและช่วยกันทำ แต่มาตรการบางอย่างที่พิจารณาทางเทคนิคแล้วทำไปก็ไม่ช่วยลดฝุ่นจิ๋ว PM2.5 ได้มากนัก เช่น การล้างถนน การติดเครื่องกรองฝุ่นในพื้นที่เปิดสาธารณะ การฉีดละอองน้ำบนยอดตึก การใช้โดรนบินขึ้นไปฉีดน้ำลงมา การใช้เครื่องฉีดพ่นน้ำจากพื้นขึ้นสู่อากาศ ก็ไม่ควรเสียเวลาไปทำ สู้เอาเวลา งบประมาณรวมทั้งคน ไปทำอย่างอื่นที่มันแก้และลดปัญหาได้จริงจะดีกว่า

        อนึ่งมีข้อสังเกตด้วยว่ามาตรการต่างๆที่ภาคส่วนต่างๆช่วยกันระดมความคิดมาเพื่อใช้แก้ปัญหาฝุ่นจิ๋ว PM2.5 นี้ มักเป็นมาตรการในทางเทคนิควิศวกรรมเท่านั้น ในขณะที่มันมีมิติอื่นอีกมากมายที่ต้องคิดพิจารณาไปพร้อมกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเศรษฐกิจ สังคม สุขภาพ ฯลฯ แบบบูรณาการให้ครบทุกประเด็น การแก้ปัญหาจึงจะรอบคอบและเป็นไปได้จริง ซึ่งเราอยากจะขอนำเสนอให้พิจารณาการแก้ปัญหาแบบองค์รวมอันประกอบไปด้วย 1) ผู้ได้รับผลกระทบ 2) ผู้เป็นต้นเหตุแห่งปัญหา 3) ผู้แก้ปัญหา 4) ผู้ทำให้การแก้ปัญหาเกิดขึ้นได้จริง 5) ผู้สร้างมาตรการเพิ่มแรงจูงใจ 6) ผู้ศึกษาวิจัยหาสาเหตุและมาตรการแก้ไขป้องกัน 7) ผู้กำหนดนโยบาย และ 8) ภาคประชาชนพวกเรากันเอง ทั้งนี้ ภาพอินโฟกราฟฟิกที่แนบมาด้วยนี้สามารถใช้แสดงการบูรณาการขององค์ประกอบและมาตรการต่างๆได้อย่างชัดเจนพอสมควร

  

ผู้ได้รับผลกระทบจากฝุ่น PM2.5

        ผู้ได้รับผลกระทบมีอยู่หลายภาคส่วน ตั้งแต่

(1) สิ่งแวดล้อมเลวลง(ดูประกอบกับตัวเลขในภาพ) อากาศเป็นพิษ หายใจไม่สะดวก หายใจเข้าไปแล้วก่อให้เกิดโรคทางเดินหายใจไปจนถึงโรคหัวใจ ซึ่งมีผลเสียต่อ

(2) สุขภาพ ที่รัฐต้องเสียค่ารักษาพยาบาลคนจำนวนมากเป็นเงินมหาศาลในแต่ละปี รวมทั้งหากมองในมุมที่ประชากรของประเทศจะเป็นพลเมืองที่เจ็บออดๆแอดๆ ไม่สามารถทำงานได้มีประสิทธิผลและเต็มประสิทธิภาพ ก็จะมีผลต่อเนื่องไปยังภาค

(3) เศรษฐกิจและขีดความสามารถในการแข่งขันกับต่างชาติ ทำให้ GDP(หรือผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ)ลดลง นอกจากนี้หากค่าฝุ่น PM2.5 เกินมาตรฐานอากาศสะอาดอยู่บ่อยๆ ก็จะมีผลกระทบต่อ

(4) การท่องเที่ยว ซึ่งเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญในลำดับต้นๆของประเทศ เพราะนักท่องเที่ยวต่างชาติเมื่อได้ข้อมูลเชิงลบที่หาได้ง่ายมากในอินเตอร์เนตก็คงลังเลที่จะมาเมืองไทยและเลือกไปเยือนประเทศอื่นที่คุณภาพอากาศดีกว่าไทย ไม่แต่เท่านั้นเรื่องของ

(5) การกีฬาก็จะได้รับผลกระทบทางลบด้วยเข่นกัน การฝึกซ้อมของนักกีฬาไทยจะทำได้ไม่เต็มที่ สมรรถภาพปอดของนักกีฬาจะลดลง เมื่อไปแข่งในระดับนานาชาติก็จะสู้ต่างชาติไม่ได้และไม่สามารถนำชื่อเสียงกลับมาสู่ประเทศ ซึ่งมีผลต่อความเชื่อมั่นของคนต่างชาติที่มีต่อไทย ทั้งนี้ข้อคิดหรือข้อสรุปเช่นว่านี้มาจากฐานคิดที่ว่าประเทศที่เด่นทางกีฬาเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วแทบทั้งสิ้น

        และเมื่อผลเสียมีทั้งต่อสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และเศรษฐกิจดังที่ได้กล่าวมาแล้วสุดท้ายปัญหาฝุ่น PM2.5 ก็จะนำไปสู่สภาพการณ์ที่เคยมีคนถากถางสังคมไทยว่าเป็น

(6) สังคมแห่ง “โง่ จน เจ็บ” ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อใครเลยไม่ว่าจะมองในแง่มุมใด ดังนั้น เราจึงไม่มีทางเลือกเป็นอื่นได้ นอกจากต้องมาร่วมใจกันหาวิธีการลดหรือแก้ปัญหานี้ให้ได้โดยเร็วที่สุด

ผู้เป็นต้นเหตุแห่งปัญหาฝุ่น PM2.5

        นับมาถึงวันนี้(เดือนพฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๖๓) คนไทยส่วนใหญ่ได้รับรู้ผ่านสื่อมามากแล้ว ว่าต้นกำเนิดของฝุ่น PM2.5 มาจากแหล่งใหญ่ๆ 3 ส่วน คือ (7) การคมนาคมขนส่ง (8) การเผาซากพืช เผาป่า และ (9) โรงงานอุตสาหกรรม โดยอาจมีแหล่งย่อยอื่นๆอยู่บ้าง เช่นการพัดพามาจากต่างพื้นที่ (เช่นจากปริมณฑลเข้ากรุงเทพฯ จากอินโดนีเซียเข้าภาคใต้ จากกัมพูชาเข้าภาคตะวันออก) และจากการผลิตในภาค (10) พลังงาน

 

ผู้แก้ปัญหาทางตรงก็คือผู้ที่เป็นต้นเหตุของปัญหา

        เมื่อเรารู้แล้วว่าต้นตอของปัญหาอยู่ที่ใด วิธีที่ดีที่สุดคือตรงเข้าไปแก้ปัญหาที่จุดนั้น ซึ่งมาตรการต่างๆที่คิดและนำเสนอกันขึ้นมาเพื่อลดฝุ่น PM2.5 ก็ได้มีการนำไปจัดทำเป็นแผนทั้งในระยะเร่งด่วนช่วงวิกฤติ ระยะกลางและระยะยาว โดยมุ่งหวังที่จะลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ดังที่เราได้ยกเป็นตัวอย่างไว้แล้วในย่อหน้าแรกของบทความนี้ ผู้สนใจอาจหาข้อมูลรายละเอียดของแผนต่างๆได้จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทว่า อย่างที่เราได้เอ่ยไว้แต่ต้นว่า มาตรการเหล่านี้เป็นเพียงทางเทคนิคซึ่งไม่เพียงพอ มันจะต้องพิจารณาประเด็นอื่นควบคู่ไปด้วย ดังที่เราจะได้นำเสนอในลำดับต่อไป

 

ผู้ทำให้การแก้ปัญหาเกิดขึ้นได้จริง

        หากไม่นับองค์กรบริหารระดับนโยบายชาติ เช่นคณะรัฐมนตรี คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติแล้ว หน่วยงานที่อยู่กับพื้นที่และใกล้ชิดกับปัญหาที่สุดก็คือ (11) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในสังกัดกระทรวงมหาดไทย รวมทั้งกรุงเทพมหานครและเมืองพัทยา หน่วยงานเหล่านี้จะต้องเป็นเจ้าภาพหลักในการประสานงาน และนำมาตรการต่างๆมาบังคับให้เกิดขึ้นจริงในพื้นที่ของตัวเอง โดยเจ้าพนักงานของอปท.จะต้องศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับปัญหา สาเหตุของปัญหา วิธีการแก้ไข มาตรการที่จำเป็นต้องทำ อะไรด่วนก่อนหลัง อะไรที่ทำแล้วได้ผลก็เร่งทำ อะไรที่ทำแล้วไม่ได้ผลก็อย่าไปเสียเวลาทำ โดยต้องเชื่อข้อมูลทางวิทยาศาสตร์(ที่โกหกไม่ได้เฉกเช่นในกรณีการระบาดของโควิด-19)จากฝ่ายวิชาการ(ลำดับที่ 15)เป็นหลักการพื้นฐาน ทั้งนี้จะต้องทำงานควบคู่ไปกับ

(12) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) อันจะเป็นผู้บังคับใช้กฎหมาย โดยเฉพาะในเรื่องจราจร และการปล่อยมลพิษจากแหล่งกำเนิดต่างๆ ซึ่งต้องยอมรับว่างานในส่วนนี้เรายังทำได้ไม่ดีนัก  โดยอาจต้องอาศัยมติคณะรัฐมนตรี  รวมทั้งแรงกดดันทางสังคม(กิจกรรมนี้น่าจะเป็นสิ่งที่ทำให้มาตรการต่างๆถูกนำไปใช้จริงได้อย่างทันท่วงทีที่สุดในบริบทของสังคมไทยปัจจุบัน)  ตลอดจนคำพิพากษาของ

(13) ศาล มาช่วยผลักดันให้การบังคับใช้กฎหมายเป็นจริงและทันกาล

 

ผู้สร้างมาตรการเพิ่มแรงจูงใจ/ เพิ่มต้นทุน

        ยังมีอีกสองมาตรการที่น่าจะนำมาใช้ในการจัดการกับฝุ่น PM2.5 นี้ คือมาตรการด้าน (14) การคลังและการพาณิชย์ (ทั้งนี้มิได้หมายเฉพาะแต่งานในสองกระทรวงนี้เท่านั้น) เช่น การลดภาษีสำหรับการนำเข้าของอุปกรณ์ที่จำเป็นในการลดฝุ่นที่ประเทศไทยยังทำเองไม่ได้ การส่งเสริมและสนับสนุนด้านภาษีหรือแรงจูงใจอื่นๆให้ภาคอุตสาหกรรมผลิตแบตเตอรีและ/หรือยานพาหนะไฟฟ้า(ทั้งในระบบ รถ ราง เรือ)ได้อย่างรวดเร็วและทำได้ในราคาที่แข่งขันกับสินค้านำเข้าได้ การสนับสนุนภาคประชาชนผลิตเครื่องมืออุปกรณ์ในการเก็บเกี่ยวผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรที่ใช้เทคโนโลยีชาวบ้าน สามารถผลิตและซ่อมได้เองในราคาเยา การทำให้สินค้าที่ก่อให้เกิดฝุ่น PM2.5 ต้องมีต้นทุนเพิ่มขึ้น (เช่น อ้อยที่ได้มาจากการเผาไร่) ดังนี้เป็นต้น

        มาตรการเหล่านี้เป็นมาตรการที่เรียกว่าพลังอ่อน หรือ soft power ที่สามารถก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้มาก โดยภาครัฐต้องคิดในรูปแบบทฤษฎี “ขาดทุนคือกำไร” คือต้องยอมเสียรายได้ในส่วนนี้บ้างเพื่อที่จะไม่ต้องไปเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมหาศาลในการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และสังคมในอนาคต

 

ผู้ศึกษาวิจัยและหาข้อเสนอแนะสำหรับปัญหา PM2.5

        สิ่งที่ได้กล่าวมาข้างต้นทั้ง 14 ข้อล้วนเกี่ยวพันกันและกัน แต่การเกี่ยวพันกันที่ว่ามันซับซ้อนเกินกว่าที่จะมีบุคคลใดบุคคลหนึ่งมองได้อย่างครบรอบด้าน จึงควรมี (15) หน่วยงานวิชาการที่รวมเอานักคิด นักเทคโนโลยี นักสังคม นักเศรษฐศาสตร์ นักสิ่งแวดล้อม นักสาธารณสุข นักปกครอง ฯลฯ มาช่วยกันระดมสมอง และสังเคราะห์จัดทำเป็นภาพรวมของโจทย์วิจัยภาพใหญ่ โดยเอาประเด็นตั้งแต่ (1) จนถึง (14) มาบูรณาการและคิดไปพร้อมกัน มิใช่เพียงศึกษาหามาตรการทางวิศวกรรมมาแก้ปัญหาดังที่ทำกันมาแต่เดิม จากนั้นจึงแบ่งย่อยออกเป็นโครงการที่เล็กลงให้นักวิจัยในต่างมหาวิทยาลัย ต่างสถาบัน ต่างหน่วยงาน ไปทำการวิจัยจนได้ข้อมูลมากพอที่จะนำมาสรุปรวม รวมทั้งวิเคราะห์และสังเคราะห์เป็นภาพใหญ่ เพื่อนำไปกำหนดเป็นนโยบาย แผน แผนงาน และมาตรการ รวมทั้งมาตรฐาน ให้กระทรวงที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะ อปท.นำไปถือปฏิบัติต่อไป

        นอกจากนี้ควรได้มีการจัดทำหลักสูตรการศึกษาที่สอนให้ทั้งระดับนักเรียนและนักศึกษา เข้าใจในประเด็นการพัฒนาที่ยั่งยืนอันเป็นการเชื่อมโยงมิติสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจเข้าด้วยกัน ทั้งนี้เพื่อสร้างการยอมรับของสาธารณะให้มีมากขึ้นโดยเฉพาะกับคนรุ่นต่อไปในอนาคตของประเทศ

 

ผู้กำหนดนโยบายด้านฝุ่น PM2.5

        จากข้อสรุปที่ได้มาจากการศึกษาวิจัยและสังเคราะห์เป็นข้อเสนอแนะที่ได้กล่าวมาแล้วต่อไปก็เป็นหน้าที่ของภาคนโยบายอันหมายถึงตั้งแต่ระดับบน เช่นคณะรัฐมนตรี(ครม.) คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ(กก.วล.) สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(ศสช.) คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) ไปจนถึงระดับกลาง เช่นกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงคมนาคม กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ต้องนำเอาข้อเสนอเหล่านั้นมาพัฒนาเป็นนโยบายระดับชาติและระดับปฏิบัติการ ตลอดจนต้องออกเป็นแผนและข้อกำหนด รวมทั้งมีการติดตามแผนเหล่านั้นอย่างเข้มงวด โดยต้องย้ำหลักคิด “ขาดทุนคือกำไร” มาเป็นฐานในการกำหนดนโยบายเหล่านี้

 ภาคประชาชน

        ที่กล่าวมาทั้งหมดนั้นเป็นการทำงานอย่างมอง 360 องศาในรูปแบบ “บนลงล่าง” ใช้ผู้รู้และผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาต่างๆมาช่วยกันกำหนดแผนงานที่จะให้หน่วยปฏิบัตินำไปปฏิบัติ แต่แค่นั้นคงได้ผลเพียงครึ่งเดียว อีกครึ่งต้องมาจากพวกเรากันเองที่จะต้องร่วมมือกันช่วยลดปัญหานี้ในลักษณะการมีส่วนร่วมแบบ “ล่างขึ้นบน” ไม่ว่าจะเป็นการสร้างแรงกดดันทางสังคมให้เกิดการงดการเผา โรงงานต้องเข้มงวดกับตัวเองในการไม่ปล่อยสารมลพิษอากาศออกมา หรือชาวบ้านอย่างเราๆก็ต้องหัดใช้การเดินทางทางเลือก เช่น ใช้ระบบขนส่งสาธารณะ ใช้การเดินหรือจักรยานเป็นพาหนะในการเชื่อมต่อกับระบบรถ ราง เรือ ฯลฯ

        ทั้งหมดทั้งปวงนี้ก็ไม่ใช่เพื่อใครที่ไหน แต่เราจะทำเพื่อตัวเราเอง เพื่อลูกหลานอันเป็นที่รักของเรา และเพื่อพ่อแม่ปู่ย่าตายายของเราที่เป็นกลุ่มเสี่ยงสูงต่อภัย PM2.5 นี้ และเราในที่นี้ คือจตุภาคีหรือข้าราชการ นักวิชาการ ผู้ประกอบการเอกชน และประชาชนนั่นเอง

*บทความโดย ธงชัย พรรณสวัสดิ์ และศิริมา ปัญญาเมธีกุล ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย