เมื่อธุรกิจให้ความสำคัญกับ Purpose มากขึ้น

เมื่อธุรกิจให้ความสำคัญกับ Purpose มากขึ้น

แนวคิดทางการบริหารประการหนึ่งที่ได้ยินจากปากของผู้บริหารองค์กรธุรกิจต่างๆ มากขึ้น คือเรื่องของ Purpose ของธุรกิจ

        Purpose ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพียงแต่ในอดีตองค์กรธุรกิจอาจจะไม่ได้ให้ความสนใจและสำคัญกับเรื่องของ Purpose มากเท่ากับบรรดาองค์กรที่ไม่ได้หากำไร แต่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ได้เริ่มเห็นการจุดกระแสของ Purpose ในองค์กรธุรกิจกันมากขึ้น

        Purpose นั้นจะไม่ใช่เพียงแค่จุดมุ่งหมายหรือวัตถุประสงค์เท่านั้น หลายท่านเข้าใจว่า Purpose ขององค์กรคือสาเหตุของการดำรงอยู่ แต่จริงๆ แล้ว Purpose นั้นมีความหมายและนัยยะที่กว้างกว่านั้น หลายๆ นิยามของ Purpose จะเน้นเลยว่า Purpose คือสิ่งที่องค์กรทำเพื่อผู้อื่น (What the organization is doing for someone else) โดย Purpose ที่ดีจะต้องคำนึงถึงประโยชน์ที่องค์กรทำให้กับผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง (Stakeholders) ต่างๆ และสังคมเป็นหลัก ไม่ใช่การมุ่งเน้นที่ผลตอบแทนที่ผู้ถือหุ้นจะได้รับหรือกำไรสูงสุดเพียงอย่างเดียว

        แนวคิดเรื่ององค์กรที่ขับเคลื่อนด้วย Purpose (Purpose-driven organization) เริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้นด้วยความตื่นตัวขององค์กรธุรกิจในเรื่องของ ESG (Environment, Social, Governance) เรื่องของความยั่งยืน และ Stakeholder Capitalism ประกอบกับความท้าทายจากบรรดาผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต่างๆ และคนรุ่นใหม่ที่เข้าสู่ตลาดแรงงาน ที่มีความต้องการและคาดหวังจากองค์กรธุรกิจมากขึ้น และมองว่าองค์กรธุรกิจควรจะต้องตอบสนองต่อบุคคลกลุ่มอื่นๆ และสังคมโดยรวมมากกว่าเพียงแค่ผู้ถือหุ้นเพียงกลุ่มเดียว

        มีคนถามบ่อยๆ เหมือนกันว่าแล้ว Purpose นั้นจะแตกต่างจากแนวคิดเดิมๆ อย่างพวก Vision (วิสัยทัศน์) หรือ Mission (พันธกิจ) หรือไม่? วิสัยทัศน์นั้นจะเน้นในสิ่งที่องค์กรต้องการหรืออยากจะเป็นในอนาคต ขณะที่พันธกิจจะมุ่งเน้นถึงกรอบ ขอบเขต สาเหตุการคงอยู่อยู่ขององค์กร แต่ Purpose นั้นจะเน้นถึงสิ่งที่องค์กรทำเพื่อผู้อื่นและสังคม เช่น Lego ที่ผลิตของเล่นเด็กก็ระบุไว้ในหน้าเว็บเลยว่า “Inspire and develop the builders of tomorrow”

        มีคำถามต่อมาว่าในเมื่อองค์กรมีวิสัยทัศน์ พันธกิจแล้ว ทำไมถึงยังต้องกำหนด Purpose กันอีก? ในเมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป พฤติกรรมและมุมมองของคนในยุคปัจจุบันแตกต่างจากอดีต ทั้งในฝั่งลูกค้าและพนักงาน ดังนั้นถ้าองค์กรมี Purpose ที่ชัดเจนว่านอกเหนือจากการทำกำไรและผลตอบแทนให้ผู้ถือหุ้นแล้ว องค์กรธุรกิจยังทำสิ่งดีๆ เพื่อบุคคลอื่นและสังคม พนักงานก็จะมีความผูกพันและมุ่งมั่นในการทำงานมากขึ้น ขณะเดียวกันลูกค้าก็เกิดความภักดีและพร้อมที่จะสนับสนุนต่อองค์กรมากขึ้น นอกจากนี้องค์กรที่มี Purpose ที่ชัดเจนยังสามารถใช้เป็นโอกาสในการปรับเปลี่ยนองค์กร สร้างรายได้และเติบโตมากขึ้นได้ด้วย

        ความสำคัญของ Purpose คือการทำให้ทั้งพนักงาน ลูกค้า หรือแม้กระทั่งผู้ถือหุ้น มีความรู้สึกร่วมกันว่าตนเองได้เป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่มีคุณค่า เป็นประโยชน์ และยิ่งใหญ่กว่าแค่สิ่งเดิมๆ ที่เคยทำหรือเป็นอยู่ ซึ่งความรู้สึกร่วมดังกล่าวสุดท้ายย่อมนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในสิ่งที่ดีให้กับองค์กร

        อย่างไรก็ดี เช่นเดียวกับแนวคิดการบริหารอื่นๆ ความท้าทายของ Purpose คือผู้นำหรือผู้บริหารองค์กรสามารถที่จะเนรมิตถ้อยคำที่สวยหรูขึ้นมาได้ แต่ถ้า Purpose ดังกล่าวไม่ได้ถูกฝังเข้าไปในกลยุทธ์ วิธีคิด กระบวนการทำงาน หรือ วัฒนธรรมขององค์กร การที่องค์กรกำหนด Purpose ไว้ก็ไม่มีประโยชน์แต่อย่างใด

        ตัวอย่างล่าสุดที่เกี่ยวข้องกับ Purpose ในประเทศไทย ก็คือกรณีของ แอปสั่งอาหารน้องใหม่อย่าง robinhood ของธนาคารไทยพาณิชย์ ที่เกิดขึ้นมาได้ในช่วงสถานการณ์โควิดและใช้เวลาเพียงไม่กี่เดือนก็เปิดให้บริการได้ โดยถ้าได้อ่านข้อเขียนหรือคำให้สัมภาษณ์ของผู้บริหารที่เกี่ยวข้องก็จะเห็นว่า robinhood เกิดขึ้นมาสำหรับร้านค้าขนาดเล็กที่ไม่สามารถมีกำไรได้จากแพล็ตฟอร์มสั่งอาหารเจ้าเดิม โดย Purpose ของ robinhood ก็คือการเป็น “แอปเพื่อคนตัวเล็ก”

        Purpose ไม่จำเป็นต้องใช้สำหรับองค์กรธุรกิจเท่านั้น แม้กระทั่งคำถามที่น่าคิดคือ “แล้ว Purpose ของแต่ละคนคืออะไร?”