ผู้นำยุคสุดท้าย:ต้องเรียนรู้และปรับปรุงอยู่เสมอ

ผู้นำยุคสุดท้าย:ต้องเรียนรู้และปรับปรุงอยู่เสมอ

ผมเชื่อว่า คำถามที่ ผู้ตาม ทุกคนอยากได้คำตอบ ก็คือ อะไรคือปัจจัยแห่งความสำเร็จของผู้นำที่ประสบความสำเร็จ (นอกจากคำตอบ 'ต้องเก่งกับเฮง')

ว่าไปแล้ว  สิ่งที่ผู้นำคนหนึ่งๆ รู้และทำก็ไม่ต่างกันมากนัก เพราะเรื่องที่เรารู้  คนอื่นเขาก็รู้เหมือนกัน  เรื่องที่เราทำผู้นำคนอื่นๆ ก็ทำแบบนั้นเหมือนกัน เผลอๆ อาจจะลอกเลียนไปทำเหมือนกันด้วยซ้ำ

ยิ่งความรู้ทางวิชาการด้านการบริหารจัดการด้วยแล้ว  ผู้นำหรือผู้บริหารทุกคนก็สามารถค้นหาได้จาก “Google” หรือ “Search Engines” ต่างๆ ในคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์มือถือ อาทิ เราอยากรู้เรื่อง ทฤษฏีแรงจูงใจของมาสโลว์(Maslow’s Motivation Theory) เราก็สามารถค้นหารายละเอียดของเรื่องดังกล่าวใน “Google” ได้  และใครๆ ก็ค้นหาได้เช่นเดียวกัน ดังนั้น ความรู้ความเข้าใจทางทฤษฎีหรือวิชาการในวันนี้ ถ้าผู้นำสนใจใฝ่รู้ ก็คงต่างกันไม่มาก

แต่ที่ค้นหาใน Google ไม่ได้ ก็คือ วิธีการทำ(วิธีการบริหารจัดการ) และ ประสบการณ์(ไม่ว่าจะเป็นประสบการณ์ที่สำเร็จหรือล้มเหลว)  ที่เกิดจากการลงมือทำเองจริงๆ จนเกิดการเรียนรู้  วิเคราะห์  สังเคราะห์  และตกผลึกจนเป็น ประสบการณ์ ของผู้นำแต่ละคน

ประสบการณ์ที่ว่านี้ ส่วนใหญ่จะเกิดจาก “การแก้ปัญหาเป็นสำคัญ

ปัญหาและวิธีแก้ปัญหาของผู้นำแต่ละคนจะแตกต่างกันไปตาม “สภาพแวดล้อมหรือ บริบทขององค์กร  ซึ่งมีอิทธิพลต่อวิธีคิดและวิธีแก้ปัญหาของผู้นำขององค์กรนั้น

ปัญหาที่สำคัญที่สุด ก็คือ “ปัญหาคุณภาพ  ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการปรับปรุงให้ดีขึ้น เสมอ

ปัญหาคุณภาพ ในที่นี้  จึงไม่ใช่ปัญหาที่เกี่ยวกับสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ขององค์กรที่บ่งชี้ถึง ความอยู่รอดเท่านั้น แต่ยังรวมถึงคุณภาพของผู้นำในการบริหารจัดการองค์กรที่สามารถทำให้พนักงานเกิดความสามัคคีและความร่วมมือกันในการพัฒนาองค์กรให้บรรลุเป้าหมายด้วย

ทุกครั้งที่มี “ปัญหาจะทำให้เรารู้ว่า มีสิ่งที่เราต้องทำ (ต้องแก้ไขปรับปรุง) อะไรบ้าง เพื่อจะได้ทำให้ หมดปัญหา(ไม่มีปัญหา) และเพื่อทำให้ความเสียหายต่างๆ หมดไปด้วย เพื่อองค์กรจะได้อยู่รอด และเติบโตอย่างยั่งยืนต่อไป

สิ่งที่เราต้องระลึกไว้เสมอเมื่อมีปัญหาเกิดขึ้น (ไม่ว่าปัญหานั้นๆ จะหนักเบามากน้อยเพียงใดก็ตาม) ก็คือ เราจะต้องมุ่งที่ “การแก้ปัญหาไม่ใช่พุ่งประเด็นไปที่ คนเราจะต้องไม่กล่าวโทษคนอื่น เราจะต้องไม่มุ่งไปที่การค้นหา คนทำผิดเพราะบ่อยครั้งที่เราแก้ปัญหาไม่ได้ เรามักจะโยนบาปไปที่ คน(เพื่อหา แพะ)โดยมัก จะกล่าวโทษว่า งานไม่มีปัญหา แต่เป็นเพราะคนมากกว่า ที่ทำให้มีปัญหาแบบนี้เกิดขึ้น

เราจึงพูดอย่างกำปั้นทุบดินได้ในทุกองค์กรเลยว่า ปัญหาต่างๆ เกิดจากคนทั้งนั้น  เพราะคนเป็นผู้ทำงานที่จะทำให้บรรลุผลตามเป้าหมายหรือไม่

ผู้นำทุกยุคทุกสมัย จึงต้องมีความสามารถในการบริหารคน (ชนะใจผู้ตาม) โดยเฉพาะการบริหารจัดการ “ทีมงานเพื่อให้สมาชิกในทีมงานได้ใช้พลังงานและศักยภาพ (ความรู้ความสามารถ) ของตนเองอย่างเต็มที่ เพื่อ การหาทางแก้ปัญหาและมุ่งเน้นไปที่ วิธีการปรับปรุงให้ดีขึ้นมากกว่าการกล่าวโทษคนอื่น หรือพยายามหาคนผิดมารับผิดชอบ

ทุกวันนี้ ผู้นำอาจลืมนึกไปว่า พนักงานและทีมงานอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของตน รวมทั้งระบบงานและสภาพแวดล้อมในที่ทำงานด้วย  ซึ่งผู้นำเป็นผู้จัดสรรปั้นแต่งให้เป็นแบบที่เป็นอยู่

ในประเด็นนี้ ปรมาจารย์ด้านคุณภาพ คือ ดร.เดมมิ่ง (Deming) ได้ให้ “ข้อคิดใน กฎ 85/15 ของเดมมิ่ง ว่า คนส่วนใหญ่ต้องทำงานภายใต้ระบบที่พวกเขาควบคุมได้น้อยมาก จึงขึ้นอยู่กับผู้บริหารที่จะทำการปรับปรุงระบบให้ดีขึ้น แทนที่จะชี้นิ้วไปยังพนักงานเมื่อมีปัญหาต่างๆ เกิดขึ้น

ดร.เดมมิ่ง ยืนยันว่า 85% ของปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในองค์กรจะมาจากระบบ (การบริหารจัดการและอื่นๆ) โดยมีเพียง 15% เท่านั้นที่เกิดจากคน ดังนั้น ภาระในการปรับปรุงระบบต่างๆ ให้ดีขึ้น  จึงอยู่ที่ผู้นำหรือผู้บริหารขององค์กรในการที่จะสร้างเสริมและพัฒนาระบบ (การบริหารจัดการ) ที่พนักงานทำงานอยู่ภายใต้ระบบนั้น เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อการทำงานให้บรรลุเป้าหมายขององค์กรมากที่สุด

ทั้งหมดทั้งปวงนี้  จึงอยู่ที่ความสามารถของผู้นำใน “การเรียนรู้และปรับปรุงอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและสภาพแวดล้อม เพื่อจะได้บริหารจัดการให้ปัญหาต่างๆ ลดน้อยลง และทำให้ประสิทธิภาพประสิทธิผลขององค์กรดีขึ้นเรื่อยๆ ครับผม !