ความรู้ต้องคำสาป

ความรู้ต้องคำสาป

ที่น่าหงุดหงิดเป็นอย่างยิ่งคือ เรื่องที่เราคาดหวังว่าคนอื่นจะเข้าใจในสิ่งที่เราอธิบาย แต่เขากลับไม่เข้าใจได้เท่ากับที่เราคาดหวัง

ทั้งๆ ที่เรื่องนั้นเป็นเรื่องที่เรารู้ดีมากๆ เสียด้วย รู้มากแต่อธิบายแล้วคนอื่นไม่รู้เรื่องมักเจอะเจอกันเป็นประจำเวลาที่เราไปฟังผู้เชี่ยวชาญเรื่องใดเรื่องหนึ่งบอกกล่าวอะไรสักอย่างเกี่ยวกับเรื่องนั้นกับเรา แต่เราฟังเท่าใดก็ไม่รู้เรื่อง เพราะคำอธิบายเต็มไปด้วยคำศัพท์เทคนิคมากมาย ในขณะที่ผู้เชี่ยวชาญเองก็บอกว่าท่านพยายามอธิบายอย่างง่ายที่สุดเท่าที่ทำได้แล้ว แต่ทำไมเรายังไม่ยอมเข้าใจท่านอีก

เราบอกว่ามีคำศัพท์ที่ชวนงงเยอะแยะ ผู้เชี่ยวชาญกลับบอกว่าไม่มีอะไรที่ยุ่งยาก เรารู้สึกว่ายากเพราะไม่เคยเจอไม่เคยเข้าใจคำนั้นมาก่อน แต่ผู้เชี่ยวชาญพบเจอและใช้คำนั้นอยู่เป็นประจำจนคุ้นเคยไม่เห็นเป็นของแปลกอะไร ทำให้เขาเชื่อไปเองว่าคนอื่นควรจะคุ้นเคยตามไปด้วย เขาไม่อาจระลึกถึงครั้งแรกๆ ที่เขาพอเจอคำนั้นว่าตนเองไม่รู้เรื่องอย่างไรบ้าง รู้สึกแต่ว่าถ้าคำนี้ฉันคุ้นเคย คนอื่นน่าจะคุ้นเคยตามไปด้วย 

อาการที่ผู้เชี่ยวชาญไม่สามารถลืมเลือนความคุ้นเคยกับสิ่งที่คนอื่นควรจะไม่คุ้นเคย ไม่สามารถลบเลือนสิ่งที่ตนเองรู้ดีออกไปได้ และเชื่อว่าคนอื่นน่าจะรู้ในเรื่องที่ตนเองคุ้นเคยไปด้วยนั้น เรียกกันในวงวิชาการว่า curse of knowledge หรือความรู้ที่ต้องคำสาป คือรู้แล้วลืมไม่ได้ และรู้แล้วเชื่อว่าคนอื่นต้องรู้ตามไปด้วย

อาการความรู้ต้องคำสาปไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกับผู้เชี่ยวชาญ แต่เกิดขึ้นได้เป็นประจำกับคนทุกคน การบอกกล่าวเรื่องใดก็ตาม หากมีอาการความรู้ต้องคำสาปเกิดขึ้น คนบอกจะเดาการตอบสนองของคนรับการบอกกล่าวนั้นไม่ค่อยถูก ถ้าเรารู้ดีว่าใครสักคนย่ำแย่แค่ไหนจากแหล่งข้อมูลที่เราคุ้นเคย แล้วเราพยายามจะคุยเรื่องความย่ำแย่ของคนนั้นกับคนอื่น โดยเราเชื่อไปเองว่าเขาน่าจะได้รับรู้ความย่ำแย่นั้นจากแหล่งข้อมูลเดียวกันกับเรา

เราจะคาดหวังว่าคงได้นินทากันอย่างสนุกปาก แต่กลับตกใจว่านอกจากไม่ได้สนุกกับการนินทาด้วยกันแล้ว ยังกลายเป็นการทะเลาะกันไปเลยว่าทำไมเราไปว่าคนดีๆ อย่างนั้น เราคาดไปเองว่าคนที่เราคุยด้วยน่าจะได้รับรู้ความย่ำแย่ที่เรารู้แล้ว เราจึงเริ่มต้นชวนนินทา แต่ในความเป็นจริงแล้ว คนที่เราคุยด้วยไม่เคยรับรู้ความย่ำแย่นั้นมาก่อนเลย

ความรู้ต้องคำสาปในกรณีนี้ คือความรู้เกี่ยวกับความย่ำแย่ที่เราทราบดี แต่คนที่เราคุยด้วยไม่ทราบ

จะบอกกล่าวเรื่องใดที่เรารู้ดี ถ้าไม่อยากกลายเป็น คนรู้ดี แต่บอกให้คนอื่นรู้ไม่ได้ ให้ระวังความรู้ต้องคำสาปไว้ให้ดี จะอธิบายว่าแอพอะไรทำงานอย่างไร ให้เริ่มต้นด้วยการแสดงให้เห็นก่อนว่าแอพหน้าตาเป็นอย่างไร อยากบอกใครเรื่องประชุมทางไกลด้วยซูม ให้เริ่มต้นด้วยการให้เขาดูหน้าจอซูมก่อนว่าเป็นอย่างไร อย่าเริ่มต้นด้วยการอธิบายว่าเริ่มต้นด้วยการกดปุ่มนั้นปุ่มนี้ โดยที่เขาไม่เคยพบเจอซูมมาก่อน หน้าตาของหน้าจอซูมคือความรู้ต้องคำสาปสำหรับตัวเรา ที่เรารู้แต่คนที่เราอธิบายให้ฟังนั้น ไม่เคยเจอมาก่อน โดยที่เราจะนึกไม่ออกว่ามันใช้ยากตรงไหนบ้าง

จะบอกอะไรกับใคร ให้วินิจฉัยเสียก่อนว่าเขาน่าจะยังไม่รู้ในอะไรบ้างที่เรากำลังจะบอกให้รู้ ทำความเข้าใจบริบทของคนที่เราจะบอกเรื่องนั้นให้ชัดๆ เสียก่อนว่าเขาเป็นใคร มาจากไหน รู้ดีเรื่องอะไรมาบ้าง ซึ่งยิ่งรู้เกี่ยวกับคนที่จะบอกมากแค่ไหน ยิ่งรู้ว่าอะไรคือความรู้ต้องคำสาป ที่เราต้องเริ่มต้นด้วยการให้รายละเอียดในเรื่องที่เราคิดว่าเขาน่าจะรู้มากก่อนให้มากที่สุด อย่าไปเดาสรุปเองว่าเขาน่าจะรู้เรื่องนั้นเรื่องนี้

ถ้าตระหนักแล้วว่าความรู้ต้องคำสาปมีอยู่จริง โดยเฉพาะในเรื่องที่เราเชี่ยวชาญ แล้วพยายามบอกกล่าวเรื่องนั้นในรายละเอียดมากน้อยตามที่เหมาะสมกับบริบทของคนที่เราบอก ควบคู่ไปกับแสดงตัวอย่างให้เขาเห็นให้มากที่สุดเท่าที่ทำได้ จะพบว่าตัวเรากลายเป็นคนรู้ดีที่บอกให้คนอื่นรู้เรื่องนั้นได้ในทันที