CPTPP มีประโยชน์หรือเป็นโทษต่อประเทศไทยแค่ไหน

CPTPP มีประโยชน์หรือเป็นโทษต่อประเทศไทยแค่ไหน

การค้าระหว่างประเทศทำให้คู่สัญญาดีขึ้นได้ เป็น win/win ไม่ใช่ฝ่ายหนึ่งได้ ฝ่ายหนึ่งต้องเสียเสมอไป หรือทุกเรื่องทุกกรณีไป แต่ต้องรอบคอบ

เห็นหลายคนออกมาแสดงความเห็นในสื่อต่างๆ แล้วอยากแสดงความเห็นส่วนตัวบ้าง เพราะแม้ไม่เคยทำหน้าที่ในการเจรจาระหว่างประเทศในฐานะเป็นผู้แทนของประเทศไทย แต่การทำหน้าที่ที่ปรึกษากฎหมายระหว่างประเทศภาคเอกชนมากว่า 30 ปีนั้น ผ่านร้อนผ่านหนาวมาพอสมควร การเจรจาระหว่างคู่สัญญาที่เป็นต่างประเทศที่ผมทำหน้าที่เจรจานั้น ก็ไม่ต่างจากการเจรจาของรัฐบาล เพียงแต่ระดับของการเจรจาที่ผมทำหน้าที่นั้นเป็นธุรกิจและการค้า ประเด็นเจรจามีน้อยกว่าการเจรจาระหว่างรัฐบาลหรือองค์กรระหว่างประเทศที่มีผลกระทบหลายด้าน

 

สมัยเรียนหนังสือ เคยเรียนวิชาเศรษฐศาสตร์ International Trade and Commercial Policy ซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ และเมื่อมาทำงานเป็นที่ปรึกษากฎหมายต่างประเทศให้หลายโครงการขนาดใหญ่ ทั้งฝ่ายไทยและฝ่ายต่างประเทศที่ว่าจ้าง ก็ทำให้รู้ถึงการเจรจาที่ไม่มีใครได้ทั้งหมด เรื่องการเป็นสมาชิก CPTPP นั้น ต้องเข้าใจก่อนว่าการเจรจาสนธิสัญญาระหว่างประเทศนั้นไม่มีมิติเดียว ฉะนั้นก่อนที่จะลงนามก็ต้องรอบคอบ บวกลบคูณหาร ไม่มีสัญญาอะไรที่เรามีแต่ได้ คนอื่นมีแต่เสีย

 

ที่จริงเรื่องนี้ ติดตามมาตั้งแต่เริ่มต้นที่เรียกว่า TPP ซึงเป็นเรื่องการเมืองระหว่างประเทศด้วย ไม่ใช่แค่ประเด็นทางการค้าแต่ก็เป็นเรื่องดีที่คนไทยจะตระหนักในข้อผูกมัด ถ้าลงนามเป็นสมาชิก ในเรื่อง sensitive ไม่ว่าเรื่องยา เรื่องพันธุ์พืช แต่สิ่งเหล่านี้ยังอยู่ภายใต้เงื่อนไข เงื่อนเวลาอีกหลายขั้นตอนที่ต้องพิจารณาเป็นขั้นไป สิ่งที่รัฐบาลควรทำ คือแถลงทั้งหมดว่าเราได้อะไรบ้าง เสียอะไรบ้าง แล้วยังเจรจาต่อรองอะไรได้บ้างก่อนที่จะเข้าเป็นสมาชิกเต็มตัว ประชาชนก็ควรฟังรัฐบาลบ้าง การคัดค้านบางเรื่องบางประเด็นที่มีผลให้เข้าร่วมไม่ได้เลย อาจเป็นผลเสียมากกว่า

 

โลกนี้เป็นโลกของการแข่งขัน แม้จะเป็นภาคีสมาชิกในสนธิสัญญาอะไร ก็ยังต้องแข่งขัน เพียงแต่มีเวทีพิเศษเฉพาะกลุ่มสมาชิกและกลุ่มสมาชิกก็ต้องไปแข่งกับกลุ่มสมาชิกอื่นซึ่งมีอีกมากมายทั่วโลก บางประเทศที่เป็นสมาชิกหลายกลุ่มก็ต้องทำตามข้อตกลงให้ครบ ไม่งั้นก็อาจถูกแอนตี้หรือถูกบีบได้ ในที่สุดก็กลายเป็นสมาชิกที่ไม่แอ็คทีฟ ไม่ได้ประโยชน์อะไร ก็ต้องช่วยกันคิด ไม่มีอะไรดีไปหมดหรือเลวไปหมด ได้ไปหมดไม่มีเสียเลย เพราะมันเป็นการแลกเปลี่ยน

 เรื่องการเข้าเป็นสมาชิกเขตการค้าในภูมิภาคต่างๆนี้ ถ้าไม่คิดเยอะๆ ก็คิดว่าทำไมเราต้องไปเป็นสมาชิกที่ทำให้เราเสียสิทธินั้นสิทธินี้ ไม่เห็นดีกับประเทศเลย เราอยู่ของเราอย่างนี้ เป็นอิสระ ใครจะมาสั่งเราไม่ได้ ก่อนไปเรียนหนังสือก็เคยคิดคล้ายๆนี้ว่า บ้านเรา ในน้ำมีปลาในนามีข่าว ไม่จำเป็นต้องค้าขายกับใคร เราก็อยู่ได้ แต่พอได้เรียนรู้เรื่องของการค้าระหว่างประเทศช่วงที่ไปเรียนหนังสือ โดยเฉพาะ International Economic ก็รู้ว่าการค้าระหว่างประเทศทำให้คู่สัญญาดีขึ้นได้ เป็น win/win ไม่ใช่ฝ่ายหนึ่งได้ ฝ่ายหนึ่งต้องเสียเสมอไป หรือทุกเรื่องทุกกรณีไป

 ยกตัวอย่างเช่น ประเทศไทยที่มีข้าวเยอะเหลือกิน กับซาอุดิอราเบียที่มีน้ำมันเยอะเหลือใช้ในประเทศ เรามีข้าวเยอะ เราก็มีข้าวราคาถูกมากบริโภคในประเทศแต่เราไม่มีน้ำมัน เราต้องซื้อจากต่างประเทศราคาแพงมาก ซาอุดิอราเบียมีน้ำมันราคาถูกมากจนเกินความต้องการ เกือบจะไม่มีค่า แต่ปลูกข้าวไม่ได้ต้องซื้อข้าวจากต่างประเทศ ซึ่งก็จะแพงมาก ทีนี้ ถ้าไทยกับซาอุดิอราเบียมาค้าขายกัน ไทยขายข้าวให้ซาอุดิอราเบียในราคาที่ไม่แพง แต่มีข้อตกลงว่าซาอุดิอราเบียก็ต้องขายน้ำมันให้ไทยในราคาที่ไม่แพงเหมือนกัน ซาอุดิอราเบียก็เห็นด้วย มีข้อตกลงการค้าระหว่างประเทศทั้งสอง ทั้งไทยทั้งซาอุดิอราเบีย ก็จะมีข้าวกินในราคาไม่แพง และมีน้ำมันใช้ในราคาไม่แพงอีกเช่นกัน นี่คือประโยชน์ของการค้าระหว่างประเทศ

 แต่เมื่อเป็นเรื่องของเขตการค้าเป็นพหุภาคี ไม่ใช่ทวิภาคีแบบตัวอย่างไทยกับซาอุดิอราเบีย มันก็ต้องเจรจากัน เพราะสินค้าจะมีหลายตัว ตัวไหนที่เป็นเรื่องสำคัญกับความอยู่รอด ก็ยอมไม่ได้ แต่ถ้ามีทางออก ก็อาจลดหย่อนเงื่อนไขกัน เจรจากันไปมา จนกว่าจะตกลงกันได้ รัฐบาลก็ต้องฟังเสียงประชาชนก่อนจะไปตกลงกับเขา เพราะรัฐบาลไปลงนามก็เท่ากับประชาชนถูกผูกพันไปด้วย

เรื่องการค้าระหว่างประเทศไม่ว่าทวิภาคี พหุภาคี ก็ต้องเจรจากันในรายละเอียด ถ้าคิดแค่เรื่องใดเรื่องหนึ่งแล้วตัดสินเข้าหรือไม่เข้า อาจเสียประโยชน์อย่างที่ยกตัวอย่าง ต้องคิดทั้งระยะสั้นระยะยาว ด่ากันไปด่ากันมา ไม่เกิดประโยชน์อะไร