‘คนละครึ่ง’ทางการเมือง

‘คนละครึ่ง’ทางการเมือง

ได้ใจประชาชนไปแล้ว 10 ล้านคน มาตรการคนละครึ่งที่เกื้อหนุนโดยตรงการดำรงชีพของประชาชนในสถานการณ์เฉพาะหน้าโควิด-19

ในส่วนของร้านค้าผู้ค้าคาดว่าจะถึงหลักหนึ่งล้านในไม่ช้า เห็นแม่ค้าแผงลอยตัวเล็กๆ ขายกับข้าวถุงละ 20-30 บาทได้รับอานิสงส์เต็มๆ กับมาตรการนี้ แล้วก็ได้คิดว่า การประนีประนอมผ่อนปรนประโยชน์ (ทางเศรษฐกิจและการเมือง) ย่อมจะดีกว่าการการปะทะขัดแย้งกันจนเสียของเสียเวลาและอาจถึงเสียสุขภาพเสียชีวิต ไม่ว่าจะระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภค นายทุนและผู้ใช้แรงงาน หรือระหว่างรัฐบาลกับประชาชนผู้ประท้วงหรือไม่ได้ประท้วง ซึ่งก็ไม่ผิดกติกาใดหากจะทั้งประท้วงและรับสิทธิทุกมาตรการช่วยเหลือของรัฐไปด้วย

ความฮอตของมาตรการคนละครึ่งถึงขนาดแย่งกันจองสิทธิจนเว็บล่ม หลังจากเปิดจองไม่กี่ชั่วโมงในการจองสิทธิรอบใหม่เมื่อ 11 พ.ย.นี้ น่าจะเป็แรงบันดาลใจบนเส้นทางรัฐสภาประชาธิปไตยของเราขณะนี้ ฝ่ายรัฐบาลโดยเฉพาะ 250 ส.ว.แต่งตั้ง ท่านจะต้องได้สติแล้วว่า หากไม่ประนีประนอมอะลุ้มอล่วยเดินหน้ามาพบกันครึ่งทางบนเส้นทางแก้หรือร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทางรัฐสภา ความยุ่งยากจะรออยู่ข้างหน้า

ไม่ใช่มีชุมนุมประท้วงจึงเกิดปัญหา แต่เพราะรัฐธรรมนูญฉบับอันเป็นที่มาของตัวท่านเองนี้แหละที่สร้างปัญหามาตั้งแต่การร่างโน่นแล้ว การชุมนุมประท้วงเป็นเพียงการย้ำว่า จะเป็นความผิดพลาดอย่างยิ่งหากร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ว่าฉบับใดจะไม่ผ่านการโหวตรับรองในการประชุมรัฐสภาวันที่ 17-18 พ.ย.

หลังจากนี้ เราจะมีเวทีเปิดเพื่อสะสางแก้ปัญหาบ้านเมือง ที่ใช่ว่าเพิ่งเกิดขึ้นเพราะรัฐประหาร แต่เกี่ยวโยงสะสมเรื้อรังกันมานานมาก เช่น การศึกษา กระบวนการยุติธรรมโดยเฉพาะตำรวจ สถาบันทางการเมืองโดยเฉพาะพรรคและนักการเมือง สถาบันทหารทั้งประชาภิบาล ( good governance ) และบทบาททางเศรษฐกิจการเมืองที่ตั้งแต่สมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม ยังไม่เคยสะสางด้วยวิถีประชาธิปไตย รวมทั้งการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ซึ่งไม่ได้หมายความว่าล้มเลิก แต่เป็นการปฏิรูปให้ทันกับยุคสมัยของโลกที่หลายประเทศเช่น  สเปน   อังกฤษ  สวีเดน   เนเธอร์แลนด์   มีระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญที่เกื้อหนุนระบอบประชาธิปไตย

การรัฐประหารบ่อยๆ และรัฐธรรมนูญที่เปลี่ยนไปมา 20 ฉบับของเรา เป็นปัญหาหนึ่งสำหรับสถาบันกษัตริย์ที่จะปรับตัวอยู่ “ใต้รัฐธรรมนูญ” อีกทั้งที่มักอ้างว่า เอื้อประโยชน์ต่อกัน (symbiotic) จนขาดกันไม่ได้ระหว่างสถาบันทหารและสถาบันกษัตริย์ มีความจริงอยู่หรือไม่และเพียงใด ควรทำให้กระจ่างด้วยข้อเท็จจริงและเหตุผลเป็นกรณีๆไป

หรือว่าแท้จริงแล้ว การนำประชาธิปไตยเข้ามาใช้โดยคณะราษฎรนั่นเอง ที่เป็นการทำให้ทหารมีบทบาทอย่างไม่เคยมีมาก่อนและเติบโตกล้าแข็งยิ่งขึ้น คล้ายๆ อาละดินบังเอิญถูตะเกียงวิเศษปล่อยยักษ์ออกมาและใครก็ยังหาวิธีเอากลับคืนเข้าไปไม่ได้

อาจจะไม่ได้ดั่งใจใครเลย 100% เส้นทางรัฐสภาในการแก้ปัญหาของบ้านเมือง แต่เมื่อเริ่มใช้ได้ในครั้งนี้ เลี่ยงการแตกหักด้วยรัฐประหารอย่างที่เคยเป็นมาสำเร็จ ก็ต้องถือว่าเป็นหมุดหมายอีกหนึ่งในระบอบประชาธิปไตยที่สำคัญมาก เป็นหมุดหมายของจริงชีวิตจริง มิใช่เพียงวัตถุทำขึ้นและฝังกันไว้ตรงนั้นตรงนี้หรือเป็นตราปรากฏขึ้นบนกระทะแจ่วฮ้อน นัยว่าเพื่อเชิดชูประชาธิปไตย ซึ่งที่จริงควรเพลาๆ กันได้แล้วความรุนแรงทางสัญลักษณ์เพราะทำให้เข้าใจไปได้ต่างๆ นานา และสร้างบาดแผลเพิ่มอารมณ์ความเจ็บปวดแก่กันและกัน แทนที่จะใช้ข้อเท็จจริงความเป็นจริงมาพูดกัน

อย่างเช่นไม่พอใจคุณภาพการศึกษา ก็ถึงกับส่งสัญลักษณ์ความตาย (ของรัฐมนตรีเจ้ากระทรวงฯ ?) แห่โลงศพ จะประท้วงช่วยเพื่อนถูกนำตัวไปฝากขังเรือนจำพิเศษด้วยความผิดตาม พ.ร.บ การชุมนุม ก็เปรียบไปถึง “คุกบาสติญ” ในสมัยศตวรรษที่ 18 จะขอความเห็นใจใครไม่ได้หากเป็นคดีความขึ้นมา เป็นความรับผิดชอบของผู้ชุมนุมที่ต้องรู้ต้องเข้าใจ ทันใครก็ตามที่เป็นคนคิดจัดฉากจัดคำขวัญทลายคุกบาสติญมาให้สำแดง

ทั้งนี้ รวมถึงผู้ชุมนุมที่จะโดนข้อหาตาม พ.ร.บ.โบราณสถานและอื่นๆ ในการปีนเอาผ้าขาวที่เขียนข้อความต่างๆ ขึ้นไปคลุมอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ทั้งยังมีเจ้าหน้าที่ได้รับบาดเจ็บสองนาย ส่วนที่มีผู้ตอบโต้การเอาผ้าขาวไปคลุมอนุสาวรีย์ด้วยการเสนอต่อสาธารณชนให้ทุบทิ้งอนุสาวรีย์ (ซึ่งเป็น “โบราณสถาน” ) เพราะไร้ค่า ไม่มีประโยชน์ เกะกะทางสัญจร ก็ช่างเป็นการตอบโต้รุนแรงสุดซอยยิ่งกว่าผู้ชุมนุมเสียอีก

ความตั้งใจดีที่จะแก้ปัญหา แต่เต็มไปด้วยการประชดสาดซัดความรุนแรงความโกรธความเกลียดชังดูหมิ่นใส่กันเช่นนี้ มีหรือที่จะแก้ปัญหาได้อย่างสันติและจะเสร็จที่ “รุ่นเรา” กันง่ายๆ จนถึงวันนี้ 2,000 กว่าปีมาแล้วตั้งแต่สมัยกรีก ปราชญ์เพลโตเขียนไว้ในหนังสือ The Republic ประชาธิปไตยทุกประเทศมีปัญหาต้องแก้ ไม่ว่าจะสหรัฐอเมริกา ประเทศเจ้าตำรับ ปฏิวัติฝรั่งเศสปี 1789 เองก็เถอะ 2 ธันวาที่จะถึงนี้ โปรดคอยฟังคำตัดสินของศาลกรณีมีผู้ฟ้องนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เรื่องยังอยู่อาศัยบ้านพักทหารหลังเกษียณราชการ

สัจธรรมก็คือยังต้องดำเนินอยู่เสมอ ที่ประชาชนต้องเฝ้าติดตามตรวจสอบทั้งผู้อยู่ในอำนาจการเมืองและผู้รอวันจะสืบทอด