หลังโควิดต้องคิดให้หนัก

หลังโควิดต้องคิดให้หนัก

ความไม่แน่นอนที่ทวีคูณเพิ่มขึ้นบีบให้เราต้องปรับตัวครั้งใหญ่เพื่ออยู่รอด

ความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นมาโดยตลอด ถึงวันหนึ่งก็อาจกลายเป็นความคุ้นชินและทำให้เราปรับตัวเข้าหามันได้ทีละน้อยๆ โดยไม่รู้ตัว ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดในวันนี้ก็คือสถานการณ์โควิด-19 ที่เราเริ่มเคยชินและใช้ชีวิตร่วมกับมันได้แม้จะไม่เต็มใจนักก็ตาม

ในช่วงแรกของการระบาด ธุรกิจร้านอาหารได้รับผลกระทบเข้าอย่างจังโดยเฉพาะร้านอาหารขนาดเล็กที่ต้องปิดตัวลงโดยไม่ทันตั้งตัว ในขณะที่ร้านขนาดกลางที่ปรับตัวเป็นบริการส่งถึงบ้านได้ก็พอจะเอาตัวรอดได้ ในขณะที่ภัตตาคาร 5 ดาวก็อาศัยเงินทุนที่มีประคองตัวไปได้

แต่มาถึงวันหนึ่งที่สถานการณ์โควิดทำท่าจะคลี่คลายลง แต่การชุมนุมทางการเมืองก็ทำให้เกิดความไม่แน่นอนขึ้นอีกระลอกหนึ่ง โดยครั้งนี้ร้านขนาดเล็กโดยเฉพาะรถเข็นกลับขายได้ดีจนมีเท่าไรก็ไม่พอ แต่ภัตตาคารขนาดใหญ่ถูกผลกระทบเยอะมากเพราะลูกค้าไม่รู้ว่าจะมีการชุมนุมเกิดขึ้นที่ไหน จึงยกเลิกการจองไปเสียหมดแม้จะไม่มีการชุมนุมในบริเวณนั้นก็ตามเพราะถูกปล่อยข่าวลวง

หันมาดูธุรกิจไอทีที่ดูเหมือนจะได้อานิสงส์จากสถานการณ์โควิด-19 โดยเฉพาะกระแสการทำงานที่บ้าน รวมไปถึงโฮมออฟฟิศที่เกิดขึ้นนับตั้งแต่มีการระบาดจนคนไม่อยากออกไปไหน ทำให้ความต้องการใช้อุปกรณ์ไอทีเพิ่มขึ้นทันที

แต่ถึงช่วงปลายปี ความต้องการดังกล่าวก็เริ่มอิ่มตัว ตลาดไอทีจึงกลับเข้าสู่ภาวะความเป็นจริงของอุปสงค์และอุปทาน ซึ่งเป็นภาวะที่ผิดไปจาก 2 ไตรมาสก่อนหน้าเนื่องจากเป็นกำลังซื้อที่แท้จริงซึ่งกำลังอยู่ในช่วงขาลงเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโดยรวมที่ยังไม่มีทางออก

ปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจะสะท้อนให้เราเห็นมากขึ้นนับตั้งแต่ไตรมาส 4 ของปีนี้ไปจนถึงไตรมาสแรกของปีหน้า เพราะหลายๆ อุตสาหกรรมที่เคยเป็นกำลังหลักของเครื่องจักรเศรษฐกิจไทยเช่นท่องเที่ยวยังไม่สามารถกลับมาดำเนินธุรกิจตามปกติได้

โดยเฉพาะสายการบินที่แม้จะเริ่มให้บริการในประเทศได้แล้ว แต่การเดินทางระหว่างประเทศซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของธุรกิจท่องเที่ยวยังต้องรอความชัดเจนในมาตรการควบคุมโรคก่อน ดังนั้นในช่วงที่ผ่านมาจนถึงทุกวันนี้เมื่อไม่มีการการบิน ไม่มีนักท่องเที่ยว ก็ย่อมไม่มีลูกค้าในโรงแรมต่างๆ

เมื่อไม่มีคนซื้อของในร้านขายของที่ระลึก ก็แน่นอนว่าโรงงานที่ผลิตสินค้าป้อนให้ร้านค้าเหล่านี้ก็ต้องหยุดดำเนินการชั่วคราว เมื่อโรงงานไม่ผลิตพนักงานและครอบครัวเหล่านี้ก็ย่อมขาดรายได้ ไม่มีกำลังในการจับจ่ายใช้สอยเหมือนแต่ก่อน

สุดท้ายแล้วความซบเซาดังกล่าวก็ย่อมขยายวงไปยังอุตสาหกรรมต่างๆ เป็นลูกโซ่ เพราะจากเดิมความคึกคักในนิคมอุตสาหกรรมแต่ละแห่ง ทำให้เรามองเห็นว่าภาวะเศรษฐกิจของบ้านเราเป็นอย่างไร

เพราะจากเดิมที่เราเห็นรถราติดขัดในเขตนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ในช่วงเช้าและช่วงเย็นนั้นมักเป็นเพราะการเปลี่ยนกะของแต่ละโรงงานที่ผลิตกัน 2 กะ หรืออาจมากถึง 3 กะ

จากที่เราเห็นการผลิตอย่างเต็มกำลังมาหลายปี เมื่อเกิดการระบาดของโรคโควิด-19 โรงงานต้องหยุดการผลิตลง แม้ว่าหลายๆ โรงงานจะเน้นการส่งออกไปยังทุกประเทศทั่วโลก ซึ่งไม่น่าจะมีผลกระทบอะไร แต่กลายเป็นว่าโรงงานทุกแห่งไม่สามารถส่งสินค้าออกไปได้ คลังสินค้าที่มีก็เต็มไปหมดแล้วจึงไม่มีที่เก็บสินค้าใหม่ๆ อีกต่อไป

ความไม่แน่นอนที่ทวีคูณเพิ่มขึ้นบีบให้เราต้องปรับตัวครั้งใหญ่เพื่ออยู่รอดในภาวะเช่นนี้ให้ได้ ทางเลือกแรกที่องค์กรหลายแห่งเลือกใช้ในช่วงเวลานี้ก็คือการปรับโครงสร้าง ลดกำลังคนส่วนเกินเพื่อรักษาคนส่วนใหญ่เอาไว้และเป็นการคัดสรรคนที่สามารถอยู่ได้ในสถานการณ์เช่นนี้

หากจำเป็นต้องมีคนทำงานเพิ่ม ก็ต้องคิดให้ได้ว่าจะเป็นการทดแทนใครเพราะในภาวะเช่นนี้การเลือกคนใหม่ย่อมเป็นการมองหาคนที่มีศักยภาพใหม่ๆ ที่คนเก่าไม่มี และคนเก่าจำนวนมากก็อาจไม่พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงเช่นนี้

แม้จะเป็นเรื่องยาก แต่นี่จะเป็นหนทางให้เราก้าวข้ามภาวะอันยุ่งยากนี้ไปได้ และเติบโตอย่างแข็งแรงต่อไปในอนาคต