ทำ 'นโยบายเศรษฐกิจ' ต้องมีวินัย

ทำ 'นโยบายเศรษฐกิจ' ต้องมีวินัย

คนเราเมื่ออายุมากขึ้น การมีวินัยในการดูแลตัวเองและรักษาสุขภาพนั้นสำคัญยิ่ง แต่ในความเป็นจริง คนส่วนใหญ่ยิ่งอายุมากยิ่งจะรักษาวินัยยาก

ยิ่งอายุมากก็มักจะตามใจตัวเองอ้างเหตุผลร้อยแปด ต่างกับสมัยตอนเป็นหนุ่มเป็นสาวที่จะมีสติเตือนตัวเองอยู่เสมอและห้ามใจได้ดีกว่า ข้อสังเกตนี้ไม่ต่างกับการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจ ประเทศที่พัฒนาแล้ว ร่ำรวยแล้วและผ่านโลกมานาน ระยะหลังพอเกิดปัญหาขึ้นมามักจะไม่ยอมแก้ไขปัญหาทันที ไม่ยอมหักดิบด้วยมาตรการแบบตรงจุด แต่จะละเลยซื้อเวลาหรือเลื่อนการแก้ปัญหาออกไปเรื่อยๆ ปัญหาจึงไม่ได้รับการแก้ไข นี่คือ การขาดวินัยในการทำนโยบาย

ตัวอย่างในเรื่องนี้ คือ นโยบายการเงินโดยมาตรการคิวอี (QE) ที่อัดฉีดสภาพคล่องเข้าระบบเศรษฐกิจ โดยเฉพาะหลังวิกฤติเศรษฐกิจโลกปี 2551 เป็นมาตรการที่ประเทศที่พัฒนาแล้วใช้เพื่อรักษาเสถียรภาพและกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ก็มีต้นทุนสูงทำให้เกิดฟองสบู่ในสินทรัพย์ เช่น หุ้น ขณะที่ปัญหาสำคัญของเศรษฐกิจไม่ได้แก้ไข เหมือนคนป่วยที่ไม่ยอมผ่าตัด โด้ปแต่ยาไปเรื่อยๆ จนร่างกายอ่อนแอ และไม่สามารถกลับไปเข้มแข็งได้อย่างเดิม

ตั้งแต่วิกฤติเศรษฐกิจโลกปี 2551 เม็ดเงินที่ธนาคารกลางประเทศพัฒนาแล้วอัดฉีดเข้าระบบเงินโลกมีจำนวนมหาศาล เฉพาะสหรัฐ สินทรัพย์รวมของธนาคารกลางสหรัฐเพิ่มขึ้นจาก 870 พันล้านดอลลาร์ในเดือน สิงหาคมปี 2550 เป็น 4.2 ล้านล้านดอลลาร์ ณ สิ้นเดือนธันวาคมปีที่แล้ว เพิ่มขึ้นกว่า 4.8 เท่า ซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นผลมาจากมาตรการคิวอี เงินเหล่านี้ได้ช่วยรักษาเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจการเงินสหรัฐแต่ไม่สามารถทำให้เศรษฐกิจสหรัฐกลับมาเข้มแข็งได้เหมือนเดิม ต่างกับประเทศในเอเชีย หลังวิกฤติเศรษฐกิจเอเชียปี 2540 ที่ยอมผ่าตัดใหญ่เพื่อแก้ปัญหา ทำให้เศรษฐกิจเอเชียสามารถขยายตัวได้ดีต่อเนื่องจากนั้นมา

โดยเฉพาะเกาหลีใต้ที่มีการปฏิรูปเศรษฐกิจหลังวิกฤติปี 2540 เศรษฐกิจเกาหลีใต้จึงพุ่งทะยานขึ้นมาเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ต่างกับไทยที่ประสบวิกฤติเหมือนกันที่ปัญหาเศรษฐกิจมีการแก้ไขแต่ไม่มีการปฏิรูป เศรษฐกิจของเราจึงเป็นไหนไม่ได้ไกล หลังปี 2540 เป็นเศรษฐกิจที่เติบโตในอัตราที่ต่ำต่อเนื่อง เพราะไม่มีการปฏิรูปเชิงโครงสร้าง ทำให้เศรษฐกิจเหมือนถูกฉุดรั้งไว้ขณะที่ความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจก็ลดลงต่อเนื่อง

ในวิกฤติโควิดคราวนี้ จากผลกระทบต่อเศรษฐกิจที่รุนแรง ธนาคารกลางประเทศอุตสาหกรรมก็ใช้มาตรการคิวอีอัดฉีดสภาพคล่องเพื่ออุ้มเศรษฐกิจอีกครั้ง แต่คราวนี้ทำในปริมาณที่เยอะกว่าที่เคยทำมามาก เฉพาะสหรัฐ สินทรัพย์รวมของธนาคารกลางเพิ่มขึ้นเป็น 7.1 ล้านล้านดอลลาร์ ณ สิ้นเดือนตุลาคมปีนี้ คือ เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวในเวลาเพียง 10 เดือน และนอกจากประเทศอุตสาหกรรม ในวิกฤติคราวนี้เราเห็นธนาคารกลางประเทศตลาดเกิดใหม่ใช้มาตรการคิวอีเหมือนกันในการแก้วิกฤติ สร้างความห่วงใยว่า ธนาคารกลางประเทศตลาดเกิดใหม่กำลังเสียวินัยในการดำเนินนโยบายไปด้วยหรือเปล่า

แต่ที่น่าห่วงกว่าคือ นักการเมืองในประเทศตลาดเกิดใหม่อาจถือโอกาสเสียวินัยในการบริหารประเทศไปด้วย คือ เอาแต่กู้เงินและแจกเงินโดยไม่แก้ไขหรือปฏิรูปเศรษฐกิจ ทำให้หนี้ภาครัฐเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่จุดอ่อนต่างๆ ที่เศรษฐกิจมีไม่มีการแก้ไข ผลคือเศรษฐกิจจะไปไหนไม่ได้ไกล เมื่อมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหมดลง

มาตรการคิวอีคืออะไร
มาตรการคิวอี คือ การเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาล หรือ สินทรัพย์อื่นๆ โดยธนาคารกลางของประเทศ ทำให้เกิดการอัดฉีดสภาพคล่องหรือเงินเข้าระบบ เพื่อให้เงินเหล่านี้เข้าไปหมุนเวียนและสนับสนุนการใช้จ่ายในระบบเศรษฐกิจ 

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ในเดือนตุลาคมรายงานว่า ในวิกฤติคราวนี้ มีธนาคารกลางประเทศตลาดเกิดใหม่ 18 ประเทศที่ใช้มาตรการในลักษณะนี้ด้วยเหตุผลที่แตกต่างกัน บางประเทศใช้เพราะไม่มีเครื่องมืออื่นที่จะอัดฉีดเงินจากที่อัตราดอกเบี้ยลดลงจนเหลือศูนย์ จึงต้องใช้มาตรการคิวอีอัดฉีดสภาพคล่อง บางประเทศไม่ปิดบังบอกว่าทำไปเพื่อช่วยชดเชยการขาดดุลการคลังของภาครัฐ เพื่อให้รัฐมีเงินกระตุ้นเศรษฐกิจ

บางประเทศอ้างการรักษาเสถียรภาพของตลาดการเงินเป็นเป้าหมาย เพราะการเข้าซื้อพันธบัตรของธนาคารกลางจะมีผลต่อ ราคา อัตราดอกเบี้ยและส่วนต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นและระยะยาว (Term premium) นอกจากนั้น บางประเทศใช้มาตรการนี้เพิ่มประสิทธิภาพกลไกส่งผ่านของนโยบายการเงินในการขับเคลื่อนสินเชื่อให้กับภาคธุรกิจ

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ประเมินว่า ถึงขณะนี้การใช้มาตรการคิวอีในประเทศตลาดเกิดใหม่ยังไม่สร้างปัญหาอะไร เพราะขนาดการอัดฉีดยังไม่มาก แต่ควรต้องให้ความสำคัญเรื่องธรรมาภิบาลในการทำมาตรการเพื่อรักษาความเชื่อมั่นของตลาด คือ ทำอย่างโปร่งใส มีเหตุมีผล สามารถอธิบายสิ่งที่ทำได้ และมีเงื่อนเวลาชัดเจนในการใช้มาตรการดังกล่าว

แต่ที่น่าห่วงมากกว่า คือ ความง่ายในการกู้เงินที่ธนาคารกลางเข้าไปซื้อพันธบัตรรัฐบาลในตลาดรองอาจเร่งให้นโยบายการคลังโดยฝ่ายการเมืองขาดวินัย คือ ทำมากเกินความจำเป็น หรือ ทำบ่อยจนเป็นนิสัยใหม่ นำไปสู่การขาดวินัยในการดำเนินนโยบายอย่างรุนแรง ซึ่งจะสร้างผลทางลบต่อเศรษฐกิจ เช่น นักลงทุนต่างประเทศมองว่ารัฐบาลขาดวินัยในการทำนโยบาย เกิดเงินทุนต่างประเทศไหลออก อัตราแลกเปลี่ยนอ่อนค่าต่อเนื่อง สถาบันด้านนโยบายเศรษฐกิจขาดความน่าเชื่อถือ และประเทศมีอัตราเงินเฟ้อและการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดรุนแรง

อุทาหรณ์ในเรื่องนี้ คือ แม้วิกฤติคราวนี้จะเป็นวิกฤติใหญ่ที่ต้องทุ่มเทเต็มที่ในการแก้ไขปัญหา แต่ถ้าการแก้ไขมุ่งแต่จะกู้เงินและใช้เงินอย่างไม่มีวินัย การแก้ไขปัญหาก็อาจจะสร้างปัญหาใหม่ให้กับเศรษฐกิจ นำประเทศไปสู่การเกิดวิกฤติเศรษฐกิจได้ ดังนั้น ในการทำนโยบายเศรษฐกิจ วินัยในการดำเนินนโยบายจึงสำคัญมาก เป็นสิ่งที่ต้องตระหนักและต้องอยู่ในใจผู้ทำนโยบายอยู่เสมอ เพราะในโลกนี้ไม่มีอะไรได้มาฟรีๆ หรือไม่มีต้นทุนอย่างที่ทราบ