วัฒนธรรมที่ทำให้ AI ล้มเหลว

วัฒนธรรมที่ทำให้ AI ล้มเหลว

คนใหญ่คนโตบางคนพูดถึงเอไอ หรือ Artificial Intelligence ไปในทางที่แสดงความผิดหวังกับเอไอ บางคนก็พยายามชักชวนให้เห็นประโยชน์จากเอไอ

เลยงงกันไปหมดว่า เอไอจะดีกับบ้านเมืองของเราหรือไม่ ที่หนักขึ้นไปอีกคือบ้านเรายังใช้เอไอกันน้อยมาก หากเมื่อเทียบกับจีน หรือเกาหลีที่ใช้ไปไกลแล้ว ถ้าเรายังอนุบาล ของเขาก็ไปปริญญาเอกแล้ว  แต่กลับมีความพยายามกำกับดูแลเหมือนกับบ้านเมืองอื่นที่ก้าวไปไกลแล้ว ลูกยังใช้คอมพิวเตอร์ไม่เป็น แต่พ่อแม่ตั้งกติกาแล้วว่าเว็บนั้นไม่ให้ดู เฟซนี้ไม่ให้เขียน ขับรถยังไม่เป็น แต่เริ่มต้นก็ห้ามไม่ให้ไปที่นั่นที่นี่

การใช้เอไออย่างประสบความสำเร็จ ไม่แตกต่างกับที่เราเคยประสบความสำเร็จกับเทคโนโลยีใหม่ ๆที่มีมาแต่ดั่งเดิม คือคนต้องปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมการทำงานให้สอดคล้องกับเทคโนโลยีใหม่ที่เกิดขึ้นมานั้น ความสำเร็จในการนำของใหม่ไปใช้งานจึงจะปรากฏเป็นที่ประจักษ์ จะใช้รถให้ปลอดภัย ต้องปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมการขับรถให้แตกต่างไปจากการขี่ควาย ที่นึกอยากจะหยุดก็หยุด อยากจะเลี้ยวก็เลี้ยวโดยไม่ดูซ้ายขวาหน้าหลัง เพราะรถยนต์กับควายมีอัตราเร่งไม่เหมือนกัน ใครที่ใช้วัฒนธรรมขี่ควายมาขับรถตามถนนมีหวังเจออุบัติเหตุได้ทุกเวลาทุกสถานที่

เอไอจะล้มเหลวโดยสิ้นเชิงในวัฒนธรรมปฏิเสธคำถาม คือมีการทำงานกันแบบเชื่ออย่างเดียว ห้ามสงสัย ห้ามถาม  เมื่อไม่มีความสงสัย ก็ไม่มีคำถามใด ๆ ก็ไม่จำเป็นต้องใช้เอไอ เอไอช่วยเราตอบคำถามต่าง ๆที่อาจใช้เวลานานนับปีในการหาคำตอบของคำถามนั้นด้วยวิธีการดั่งเดิม ถ้าไม่รู้จักถาม เครื่องมือช่วยตอบคำถามก็ไร้ประโยชน์ในทันทีที่ได้มา

เอไอหมดฤทธิ์ในการทำงานแบบไม่มีวัฒนธรรม คืออยากทำอะไรก็ทำตามที่อยากทำ โดยอธิบายหลักการ อธิบายที่มาที่ไปของการตัดสินใจว่าจะทำอย่างไรไม่ได้ ชอบก็ทำอย่างหนึ่ง ไม่ชอบก็ทำอีกอย่างหนึ่ง กติกาสำหรับคนไม่มีบอกว่าเกิดอะไรขึ้น จะทำอย่างไร ไม่บอกไม่อธิบายว่าทำไมต้องทำแบบนั้นแบบนี้ ไร้ตรรกะในการทำงาน  จนคนร่วมงานต้องเดาใจกันอย่างเดียว คือทำงานกันไปแบบไม่ใช่ปัญญา เมื่อปัญญาจริงไม่ได้ใช้ ปัญญาประดิษฐ์ย่อมยิ่งไม่มีบทบาทอะไรเลย

ในวัฒนธรรมอนุรักษ์นิยมสุดขั้ว คือเคยทำอะไรอย่างไร ก็ต้องทำอย่างนั้นกันต่อไป จะปรับปรุงอะไรสักอย่างก็สร้างสารพัดอุปสรรคมาขัดขวาง จึงไม่มีความจำเป็นใด ๆที่ต้องลงทุนลงแรงในเรื่องเอไอ เพราะไม่ว่าเอไอจะทำงานได้ถูกต้อง หรือไม่ถูกต้องอย่างไร ท่านก็ไม่ใส่ใจ ตราบเท่าที่เอไอยังให้คำตอบที่ไม่ตรงใจท่าน เอไอก็ผิดในสายตาของท่านเสมอ เมื่อท่านคิดว่าท่านคิดอะไรแล้วถูกต้องเสมอ ปัญญาประดิษฐ์ก็ไร้ความจำเป็น

หากมีสรณะในเรื่องที่เกินเลยความเป็นจริงอย่างเหนี่ยวแน่น เอไอคงสร้างความผิดหวัง มากกว่าการยอมรับ หากคิดว่าเอไปเป็นอะไรสักอย่าง ผิดได้ถูกได้ เอไอจะใช้งานง่ายกว่าเยอะ เมื่อเทียบกับความเชื่อว่าเอไอเป็นสิ่งกายสิทธิ์​ ทำได้สารพัด เชื่อแล้วก็ไปตั้งความหวังต่าง ๆนาๆ เหมือนกับเชื่อว่าต้นไม้เป็นสิ่งกายสิทธิ์ แล้วต่างคนต่างไปขอหวย หวังรำ่รวยจากสิ่งกายสิทธิ์นั้น ๆ ผู้นำต้องไม่ทำให้เอไอกลายเป็นสิ่งมหัศจรรย์จากต่างดาวที่ทำอะไรได้สารพัด คือต้องเรียนรู้ความสามารถที่เอไอทำได้จริง ๆ แทนที่จะมโนไปเองตามคำบอกกล่าว เมื่อใช้แล้วไม่วิเศษเหมือนที่มะโนไว้ เอไอก็เลยกลายเป็นสถานที่ทัวร์ลง ต่างคนต่างด่าว่าใช้ไม่ได้ ใช้ไม่ดี

คงพอจะทราบกันว่า เอไอเก่งขึ้นตามการเรียนรู้ แปลว่ายิ่งมีตัวอย่างข้อมูลให้เรียนรู้มากขึ้นเท่าใด เอไอก็ค่อย ๆเก่งขึ้นตามไปด้วยเท่านั้น แต่เอไออาจผิดพลาดได้ง่าย ๆ หากเรียนรู้จากข้อมูลตัวอย่างที่มีอยู่อย่างจำกัด หรือมีการปลอมแปลงข้อมูลที่นำมาใช้ฝึกเอไอ ดังนั้น วัฒนธรรมการทำงานแบบไร้ข้อมูล ปลอมข้อมูล จึงเป็นศัตรูตัวฉกาจของเอไอ ต่อให้ไปเอาเอไอที่มีอัลกอริธึมที่ดีที่สุดในโลกมาใช้งาน แต่ฝึกเอไอนั้นด้วยข้อมูลปลอม ๆ เอไอชั้นดีนั้นจะมีสภาพไม่แตกจากบัณฑิตเมายาอี

แค่ดูวัฒนธรรมก็บอกได้แล้วว่าที่ไหน เอไอจะไปได้ดี ไม่ต้องรอจนกระทั่งผู้นำมาปล่อย “ไก่เอไอ” ให้เห็น