โรงสีข้าว ชาวนา ธนาคาร กับวิกฤติที่จะมาถึง (ต่อ)

โรงสีข้าว ชาวนา ธนาคาร กับวิกฤติที่จะมาถึง (ต่อ)

โรงสีข้าวในประเทศไทย แบ่งเป็น โรงสีรุ่นเก่า ที่เป็นอาคารไม้ เครื่องจักรไม่ทันสมัยกำลังการผลิตต่ำ ใช้แรงงานในการสีข้าว ทำให้มีต้นทุนในผลิตสูง

ปัจจุบันเลิกกิจการ เนื่องจากสถาบันการเงินไม่ให้การสนับสนุนสินเชื่อ มีการประกาศขายโรงสีราคาเหลือเพียงแค่ 20% เครื่องจักรไม่มีการประเมินราคา ใช้ราคาที่ดินในการขาย ถ้าอยู่ในทำเลที่ดีจึงจะขายได้

โรงสีรุ่นใหม่ มีเครื่องจักรที่ทันสมัย กำลังการผลิตสูงวันละ 300 ตันขึ้นไป มีโกดังเก็บข้าว ก่อสร้างด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย กระจุกตัวอยู่ในจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีการก่อสร้างเพิ่มมากขึ้นในช่วงที่รัฐบาลมีนโยบายรับ

จำนำข้าว ซึ่งถือเป็นยุคทองของโรงสีข้าว ที่มีเศรษฐีใหม่จากเจ้าของโรงสีเป็นจำนวนมาก

ตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมารัฐบาลเปลี่ยนนโยบายจากการรับจำนำเป็นการประกันราคา และจัดตั้งคณะทำงาน จัดแบ่งเกรดข้าว เป็นเกรด ABC โรงสีที่เป็นคลังสินค้าหลายรายถูกแจ้งความดำเนินคดี โดยองค์การคลังสินค้าและองค์การตลาดเพื่อการเกษตร เรียกร้องค่าเสียหาย จากหนังสือค้ำประกัน เป็นเรื่องที่โรงสีไม่เคยประสบมาก่อน ทำให้กลายเป็นหนี้เสีย (NPL) ของสถาบันการเงิน คดีได้ยืดเยื้อมานานเกือบ 6 ปีแล้ว

ปัจจุบันธุรกิจโรงสีข้าวกำลังก้าวเข้าสู่วิกฤติ หลายรายตัดสินใจหยุดชำระหนี้ เพราะไม่มีสภาพคล่องที่จะดำเนินการต่อไป สถาบันการเงินมีมุมมองที่เป็นลบต่อธุรกิจโรงสีข้าว โรงสีข้าวถูกแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่กลุ่ม สีเขียว ที่ยังดำเนินกิจการตามปกติ กลุ่มสีเหลือง ที่ขาดสภาพคล่อง ไม่สามารถชำระเงินเงินต้นได้ ชำระได้เพียงดอกเบี้ย กลุ่มสีแดง คือกลุ่มที่ต้องหยุดกิจการ

มาตรการทางการเงินที่รัฐบาลออกมาเพื่อให้ความช่วยเหลือ เป็นมาตรการเหมา เข่ง ไม่มีการให้ความช่วยเหลือโรงสีข้าวเป็นการเฉพาะเจาะจง ทำให้โรงสีข้าวในกลุ่มสีเขียวและกลุ่มสีเหลืองอาจกลายเป็นกลุ่มสีแดงในอนาคต

โรงสีข้าวเป็นธุรกิจกลางน้ำ ที่ได้รับผลกระทบเป็นลูกโซ่ โดยเฉพาะจากผู้ส่งออกที่รับซื้อข้าวจากโรงสีในระบบเครดิต ปัจจุบันผู้ส่งออกหลายรายส่งสัญญาณให้โรงสีชะลอการส่งมอบข้าวสารเนื่องจากโกดังเริ่มแน่น โดยเฉพาะโรงสีข้าวที่ทำธุรกิจส่งออกด้วย ไม่มี

ความรอบคอบในการตรวจสอบ โบรกเกอร์ ตลาดส่งออกปัจจุบันผู้ขายมากกว่าผู้ซื้อ ต้องให้เครดิตเป็นเวลานาน โบรกเกอร์บางรายผิดนัดชำระหนี้ค่าข้าว ส่งผลกระทบต่อโรงสีข้าวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

การส่งออกข้าวไทยในปี 2563 คาดว่าจะติดลบประมาณ 29.2 % หล่นลงมาอยู่อันดับที่ 3 โดยมีอินเดีย เป็นอันดับที่ 1 ประมาณ 9.86 ล้าน เวียดนาม ประมาณ 5.25 ล้านตัน โดยการส่งออกข้าวของไทย จะมีเพียงแค่ 4.20 ล้านตัน เท่านั้น

จากการขึ้นทะเบียนเกษตรกรปลูกข้าวในปี 2563/2564 มีชาวนาจำนวน 4,521,044 ครัวเรือน พื้นที่เพาะปลูกข้าวทั้งสิ้น 61.2 ล้านไร่ คาดว่าจะมีผลผลิต 25.52 ล้านตัน จากปัญหาภัยแล้งในช่วงต้นปี 2563 ชาวนาพึ่งจะหว่านข้าวได้ในเดือนสิงหาคม คาดว่าจะเก็บเกี่ยวข้าวได้ ในเดือนพ.ย. ซึ่งเป็นช่วงเก็บเกี่ยวของชาวนาจากภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ข้าวเริ่มออกมาพอดี คาดว่าจะสงผลกระทบต่อราคาอย่างแน่นอน

มติ ค.ร.ม.เมื่อวันที่ 3 พ.ย.2563 ได้อนุมัติในหลักการโครงการประกันรายได้เกษตรกรปลูกข้าว ปี 2563/2564 รอบที่ 1 พร้อมมาตรการคู่ขนาน และโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ผมไม่แน่ใจว่า

จะทันกับความเดือดร้อนของชาวนาหรือไม่

เรื่องของโรงสีข้าว ชาวนาเป็นเรื่องสำคัญที่ถือเป็นวาระแห่งชาติ ขอนำเสนอทางออกเพื่อความอยู่รอด รวมทั้งข้อเรียกร้องที่มีต่อสถาบันการเงินของโรงสีข้าวด้วย อย่าพลาดตอนต่อไปนะครับ..