โรงไฟฟ้านิวเคลียร์  จะเมื่อไหร่ก็ไม่ควรมี

โรงไฟฟ้านิวเคลียร์  จะเมื่อไหร่ก็ไม่ควรมี

ผมเพิ่งมีโอกาสได้ดูหนังเรื่อง Pandora ซึ่งเป็นหนังภัยพิบัติจาก "โรงงานนิวเคลียร์" ในยุคการสร้างชาติของประเทศเกาหลีใต้

  บทสนทนาตอนต้นของภาพยนตร์พูดถึงความจำเป็นและความกังวลที่มีต่อโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ว่า ตกลงมันเป็นกล่องของขวัญหรือกับดักมรณะกันแน่ สำหรับบ้านเรา  น้ำมันแพงทีไรก็ได้มีเรื่องโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ผุดขึ้นมาเป็นประจำ เหตุผลหลักหนีไม่พ้นเรื่องความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศซึ่งเพิ่มขึ้นแต่แหล่งพลังงานเรามีไม่พอ 

          แน่นอนว่า  กว่าโรงไฟฟ้าจะเกิดขึ้นมาได้ต้องผ่านกระบวนการต่างๆ มากมาย  ไม่ว่าจะเป็นประเมินความเสี่ยง  ความคุ้มค่าในการลงทุน  การเลือกทำเลที่ตั้ง  การทำประชาพิจารณ์  และการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม  โดยใช้หลักวิชาการเข้ามาจับเพื่อให้ผลการศึกษาเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย หลักการประเมินโครงการแบบนี้เป็นมาตรฐานที่ใช้กันทั่วโลก  โครงการส่วนใหญ่สามารถตีค่าประโยชน์และต้นทุนได้ชัดเจน  จนทำให้หลายคนเข้าใจผิดว่าหลักการประเมินโครงการแบบนี้ใช้ได้กับโครงการทุกประเภท  แม้กระทั่งโรงงานนิวเคลียร์ 

ในความเป็นจริงแล้ว  หลักการนี้เหมาะกับโครงการที่มีขอบเขตในการลงทุนชัดเจน  ต้นทุนสามารถประเมินออกมาเป็นตัวเงินได้อย่างค่อนข้างถูกต้องแน่นอน  มีข้อมูลเกี่ยวกับความเสี่ยง  และโอกาสในการเกิดเหตุการณ์ต่างๆ  ค่อนข้างครบถ้วน  อย่างไรก็ตาม  ในกรณีของ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์  เราไม่ควรเอาหลักการวิเคราะห์ผลประโยชน์และต้นทุนแบบที่ใช้กันทั่วไปมาเป็นตัวตัดสินว่าจะ “เอา” หรือ “ไม่เอา” โครงการนี้ 

          เหตุผลสำคัญคือ  ถึงแม้ทีมงานประเมินโครงการจะสามารถคำนวณประโยชน์ในรูปของตัวเงินได้อย่างค่อนข้างแม่นยำ  แต่คงไม่มีใครในบ้านเมืองเราหรือแม้แต่ในโลกที่เก่งพอจะประเมินต้นทุนรวมที่แท้จริงของโครงการนี้ได้ 

          ต้นทุนของการมีโรงไฟฟ้าไม่ได้มีเฉพาะค่าวัสดุก่อสร้าง  ค่าเวนคืน   ค่าจ้าง  และค่าใช้จ่ายที่เป็นตัวเงินเท่านั้น  ความวิตกกังวลของคนที่อยู่ใกล้ๆ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ก็ถือว่าเป็นต้นทุนเหมือนกัน  ใครจะบอกได้ว่าการนอนไม่หลับ  สะดุ้งตื่นตอนกลางดึก  ความเป็นห่วงเป็นใยสมาชิกในครอบครัวรวมกันแล้วมีค่าสักเท่าไหร่  แม้แต่เจ้าตัวเองยังบอกไม่ได้เลย 

          นี่ยังไม่นับกรณีเกิดอุบัติเหตุ  สมาชิกชมรมคนรักโรงไฟฟ้านิวเคลียร์มักจะบอกเราเสมอว่าโรงงานนี้มีความปลอดภัยสูง  โอกาสจะเกิดอุบัติเหตุมีน้อย  กากนิวเคลียร์ก็จะถูกเก็บรักษาไว้อย่างดี  ไม่มีทางรั่วไหลออกมาได้  ดังนั้น  ตามหลักสถิติแล้ว  โอกาสจะเกิดอุบัติเหตุมีน้อยมากจนแทบจะเป็นศูนย์เปอร์เซ็นต์

          แต่ถ้าเกิดเราโชคร้ายกิดอุบัติเหตุขึ้นจริง  ความเสียหายจะมากมายขนาดไหน  หลายคนน่าจะจำได้ว่าตอนที่โรงไฟฟ้าเชอร์โนเบิลเกิดอุบัติเหตุ  กัมมันตรังสีลอยไปไกลถึงยุโรป  นั่นแสดงว่า  ต่อให้เอาโรงงานไปตั้งไว้เหนือสุดที่แม่ฮ่องสอน  หรือใต้สุดแถวนราธิวาส  หากทิศทางลมเป็นใจ  คนกรุงเทพและคนไทยทั่วทุกภาคก็มีโอกาสได้รับกัมมันภาพรังสีได้เหมือนกัน  ความเสียหายระดับนี้  จะตีค่าออกมาเป็นเงินได้ไหม?  หายนะระดับสิ้นชาติแบบนี้  ถ้าตีค่าออกมาได้จริงก็คงจะมหาศาลเกินกว่าจะรับได้

                   อีกประเด็นหนึ่งซึ่งน่าคิดคือ  เราขาดพลังงานหรือว่าเราบริหารจัดการพลังงานไม่ดีกันแน่?  ถ้าเราขาดพลังงานจริง  จำเป็นด้วยหรือที่ต้องจบลงด้วยโรงไฟฟ้านิวเคลียร์  การยกเอาเหตุผลว่าประเทศพัฒนาแล้วเขามีกันมานานแล้ว  ทำไมเราจะมีบ้างไม่ได้  สะท้อนให้เห็นถึงจิตสำนึกของการเป็นผู้ตาม  อยากจะไปอยู่แนวหน้าทางเศรษฐกิจ  แต่เดินตามเขาตลอด  อีกกี่สิบกี่ร้อยปีก็ไม่มีทางจะเทียบชั้นกับใครได้ 

จริงอยู่  แหล่งพลังงานทางเลือกอื่นมีต้นทุนสูง  แต่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เองต้องใช้เงินทุนมหาศาลเหมือนกัน  หากโรงไฟฟ้าเป็นแผนระยะยาว  แสดงว่าเรายังพอมีเวลา  ถ้ามีเวลา  ก็แสดงว่ายังมีโอกาสมองหาทางเลือกใหม่ เมื่อเป็นเช่นนี้  ทำไมไม่เอาเงินเหล่านี้มาทุ่มกับการวิจัยและพัฒนาหาทางออกในแบบของเราเอง? 

อย่าดูถูกสติปัญญาของคนไทยนะครับ  ผมเชื่อว่าบ้านเมืองเรามีนักวิทยาศาสตร์ที่เก่ง นักคิดนักวิจัยที่มีวิสัยทัศน์อยู่เป็นจำนวนมาก  หากให้การสนับสนุน  ให้เวลา  ให้โอกาส  คงไม่เกินความสามารถของคนเหล่านี้ที่จะหาทางออกแบบไม่ต้องมาเสียวสันหลังกันทั้งประเทศ  ดีไม่ดีการเลือกคิดเองทำเองอาจถูกกว่าเอาเงินไปจ้างเขามาสร้างโรงไฟฟ้าเสียอีก  หากกล้าจะเอาประเทศไปไทยเสี่ยงกับโรงไฟฟ้า  ก็ต้องกล้าเดิมพันกับคนเก่งบ้านในบ้านในเมืองเราเหมือนกัน  เสี่ยงน้อยกว่าเยอะ

เศรษฐกิจเป็นเรื่องสำคัญ  แต่การพัฒนาเศรษฐกิจที่อยู่บนพื้นฐานของโอกาสเกิดมหันตภัย  มันไม่ต่างอะไรกับการสร้างประสาททรายบนชายหาย  ตอนลมฝนสงบก็ดูสวยงามดี  วันไหนลมแรงคลื่นสูง  ประสาทจะโดนซัดจนเสียหาย  ยิ่งถ้าเกิดโชคร้ายเจอกับซึนามิขึ้น  ตูมเดียวปราสาทก็หายวับไปกับตา  ไม่ต้องถามว่าชะตากรรมของคนในปราสาทจะเป็นอย่างไร