องค์กร 100 ปี

องค์กร 100 ปี

“ผู้ก่อตั้งองค์กร” ต่างมีความหวังให้องค์กรที่สร้างขึ้นมาอยู่ยงคงกระพัน ประกอบกิจการจนชั่วลูกชั่วหลาน

ในหนังสือเรื่อง “Build to Last” ของ Jim Collin ได้กล่าวถึงองค์กรที่ประสบความสำเร็จและยังค้าขายอยู่ได้นานถึงกว่า 100 ปีในโลก ว่ามีไม่ถึง 100 องค์กร (บริษัท) ซึ่งมีสินค้าที่เด่นเป็นเอกลักษณ์ และมีแบรนด์เนมของตัวเอง อันเนื่องมาจาก คุณภาพของสินค้าอาทิ ใบมีดโกนยิลเล็ตต์  ปากกามองบลังต์  คอนโกกุมิของญี่ปุ่น เป็นต้น

ส่วนบริษัทของไทยเราที่มีอายุเกิน 100 ปี ขึ้นไป ได้แก่ ไปรษณีย์ไทย (140 ปี), เบอรี่ยุคเกอร์ (138 ปี), โอสถสภา (129 ปี)ธนาคารไทยพาณิชย์ (114 ปี) และ ปูนซิเมนต์ไทย (107 ปี) องค์กรหรือบริษัทที่มีอายุเกิน 100 ปี เหล่านี้ จะมี ผู้ก่อตั้งที่มองการณ์ไกล หรือ มีวิสัยทัศน์กว้างไกล และสามารถส่งต่อผู้บริหารหรือผู้สืบทอดที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกล  และมีความสามารถในการนำพาองค์กรสืบต่อไปเป็นทอดๆ ได้อย่างยั่งยืน

ผมจำได้ว่า ในหนังสือ “Toyota  Ways : 14 Principles” ก็ระบุถึง หลักการสำคัญ ที่ทำให้บริษัทรถยนต์โตโยต้าประสบความสำเร็จ ในข้อที่ 1 ว่า ต้องส่งเสริมผู้บริหารที่ยึดมั่นในการเติบโตระยะยาวมากกว่าการทำกำไรในระยะสั้น” ดังนั้น องค์กรที่ประสบความสำเร็จ  จึงมี “ผู้บริหารที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกลที่มุ่งมั่นในการสร้างความเติบโตในระยะยาวมากกว่าการสร้างรายได้หรือทำกำไรเพื่อจะอยู่รอดในระยะสั้น

ผู้นำหรือผู้บริหารที่ประสบความสำเร็จ จึงมีบุคลิกของ ผู้นำที่มีวิสัยทัศน์(Visionary Leader) ซึ่งสามารถคาดการณ์สภาพแวดล้อม ที่ระบุถึง “โอกาสและ ภัยคุกคามต่างๆ ของธุรกิจได้ล่วงหน้า อย่างแม่นยำ ทำให้สามารถบริหารจัดการและแก้ปัญหาหรือความเสี่ยงต่างๆ ในอนาคตได้ (โดยเฉพาะในอนาคตอันใกล้) และ ทำไปปรับไปอย่างคล่องตัว เพื่อให้องค์กรบรรลุเป้าหมายระยะยาว จากการเรียนรู้ที่เกิดจากการสังเกตปรากฏการณ์รอบตัวและแนวโน้มต่างๆ ที่เกิดขึ้น  โดยเฉพาะเรื่องของ เทคโนโลยีใหม่ๆ

               ความสามารถในการมองหรือการคาดการณ์อนาคต (Foresight) ในเรื่องที่จะเกิดขึ้นใหม่ หรือ ที่เรียกกันว่า เรื่องอุบัติใหม่(Emerging Issues) ในเร็ววันนี้  จึงเป็นเรื่องที่ผู้บริหารมองข้ามไม่ได้เลย โดยเฉพาะในเรื่องส่วนที่เกี่ยวกับ พลวัตรของโลกธุรกิจและการค้า  พลังงานทางเลือก  สิ่งแวดล้อม  สาธารณสุข  วิถีชีวิตใหม่  เทคโนโลยีและนวัตกรรม (รวมถึงเรื่องของเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง) เป็นต้น เพื่อจะได้นำมาวางแผนและกำหนดยุทธ์ศาสตร์ของธุรกิจอุตสาหกรรมได้เหมาะสม และเพื่อการเตรียมความพร้อมหรือการปรับเปลี่ยนธุรกิจได้ทันการณ์

               เรื่องของ “อุบัติใหม่หรือเรื่องที่จะเกิดใหม่ในอนาคตอันใกล้ มักจะเกี่ยวข้องกับเรื่องต่อไปนี้

  • พลวัตของโลกธุรกิจและการค้า อาทิ สถานการณ์หลังเลือกตั้งประธานาธิบดีของเอมริกา การกีดกันทางการค้า ข้อกำหนดของคู่ค้าทางด้านความปลอดภัย สุขอนามัย ของเสีย สิ่งแวดล้อม การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา เป็นต้น
  • พลังงานทางเลือก อาทิ แหล่งพลังงานใหม่ๆ ตลอดจนปัญหาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม พลังงานทางเลือกที่เหมาะสม เป็นต้น
  • สิ่งแวดล้อม อาทิ สถานการณ์ COVID-19 การแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น ความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติ น้ำ ความหลากหลายทางชีวภาพ ผลกระทบจากของเสียอุตสาหกรรม ผลกระทบจากภาวะโลกร้อน เป็นต้น
  • สาธารณสุข อาทิ คุณภาพของบริการสาธารณสุขขั้นพื้นฐาน บุคลากรด้านสาธารณสุข การบริการทางการแพทย์ การแพทย์ส่วนบุคคล เป็นต้น
  • วิถีชีวิตใหม่ อาทิ วิถีชีวิตอุบัติใหม่ (Emerging Lifestyle) อันเนื่องจากสภาพสังคมและเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป การอยู่ร่วมกัน ปัญหาการว่างงาน ปัญหาแรงงานต่างด้าว และการก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ รวมตลอดถึงสภาพของ New Normal ที่เกิดขึ้นจากสถานการณ์ COVID-19 ในปัจจุบัน เป็นต้น
  • เทคโนโลยีและนวัตกรรม อาทิ คอมพิวเตอร์ IoT  AI  และความคิดสร้างสรรค์ด้านผลิตภัณฑ์  บริการ  การผลิต  การตลาด  การเงิน  การเพิ่มผลิตภาพ  เป็นต้น

ความเป็นผู้ที่มีความสามารถในการมองอนาคตได้อย่างแม่นยำ จึงเป็นอีกคุณสมบัติหนึ่งที่สำคัญของ “ผู้นำ ทุกยุคทุกสมัย ผู้ซึ่งสามารถจะนำพาองค์กรอยู่ยืนยงเกิน 100 ปี

ดังนั้น ผู้นำยุคสุดท้าย หรือ ผู้นำยุคไหนๆ ก็คงจะต้องขยันถามตัวเองว่า “เอาใกล้หรือ เอาไกลเพื่อ เพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย และขยายโอกาสครับผม !