'ความเสื่อม' กับ 'ความหวัง' ของอเมริกา

'ความเสื่อม' กับ 'ความหวัง' ของอเมริกา

ขณะที่เขียนบทความนี้ การลงคะแนนวันสุดท้ายของการเลือกประธานาธิบดีในสหรัฐผ่านมา 1 สัปดาห์ ตามธรรมดาผลจะออกมาแล้วว่า ใครจะเป็นประธานาธิบดีต่อไป

แม้การนับคะแนนจะยังไม่เสร็จสมบูรณ์ก็ตาม แต่ครั้งนี้มีปัญหามากเนื่องจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้หวังจะดำรงตำแหน่งต่อไปไม่ยอมรับว่า คะแนนที่นับออกมาเกือบหมดแล้วนั้นชี้ว่า ตนจะแพ้แน่นอน

เขากล่าวหาว่าผู้ได้รับคะแนนสูงกว่า เขาโกงการเลือกตั้งทั้งที่ไม่มีหลักฐาน นายทรัมป์จึงกำลังดำเนินกลยุทธ์ต่างๆ เพื่อหาทางรั้งเก้าอี้ไว้ ส่งผลให้สหรัฐตกอยู่ในภาวะวิกฤติ 3 ด้านซ้อนกัน นั่นคือ วิกฤติทางการเมือง วิกฤติเศรษฐกิจและวิกฤติจากโรคโควิด-19 วิกฤติดังกล่าวอาจมองได้ว่าเป็นปรากฏการณ์ระยะสั้น ซึ่งอีกไม่นานจะยุติ เนื่องจากสัปดาห์นี้มีรายงานว่า ก่อนสิ้นปีสหรัฐจะมีวัคซีนป้องกันการระบาดของโควิด-19 เมื่อการระบาดนั้นยุติ วิกฤติเศรษฐกิจจะยุติด้วย ส่วนวิกฤติทางการเมืองเกิดขึ้นเพราะนายทรัมป์ทำตัวเป็นขี้แพ้ชวนตี อย่างไรก็ตาม วิกฤติทั้ง 3 อาจมองได้ว่าเป็นอาการของความป่วยพื้นฐานของสังคมอเมริกันก็ได้

ดังเป็นที่ทราบกันดี ทั้งที่มีความก้าวหน้าทางการแพทย์สูงและมีทรัพยากรมหาศาลสำหรับรับมือกับการระบาดของไวรัสก่อโรคโควิด-19 แต่ชาวอเมริกันกลับป่วยและตายมากที่สุดในโลก การระบาดของไวรัสเป็นปัจจัยก่อให้เกิดวิฤติเศรษฐกิจ ปัจจัยที่ทำให้ไวรัสระบาดกว้างขวางมาก เนื่องจากชาวอเมริกันจะป่วยหรือตายเท่าไร นายทรัมป์มิให้ความสำคัญเพราะเขายึดผลประโยชน์ของเขาเท่านั้นเป็นที่ตั้ง จึงไม่รับฟังคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญด้านโรคระบาด ส่งผลให้รัฐบาลอเมริกันไม่ดำเนินมาตรการตามคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญอย่างจริงจังมาตั้งแต่ต้น

การมีวุฒิภาวะต่ำและไร้คุณธรรมของนายทรัมป์เป็นที่ประจักษ์แก่สังคมอเมริกันมานาน ก่อนที่เขาจะชนะการเลือกตั้งเมื่อ 4 ปีก่อน แต่ชาวอเมริกันหลายสิบล้านคนพร้อมใจกันมองข้ามสิ่งเหล่านั้นด้วยปัจจัยหลายอย่าง เช่น ตามโลกยุคใหม่ไม่ทัน ขาดคุณธรรมเช่นเดียวกับนายทรัมป์ และมองว่านายทรัมป์จะสามารถทำให้ตนร่ำรวยมากขึ้นได้ตามความฝันที่ชาวอเมริกันโดยทั่วไปถ่ายทอดต่อกันมาตั้งแต่ครั้งปู่ย่าตาทวด

การเสื่อมลงของคุณธรรมตามแนวของนายทรัมป์และผู้สนับสนุน ซึ่งส่วนหนึ่งแสดงออกมาทางการละเมิดกฎเกณฑ์ของประชาธิปไตยและตลาดเสรี เป็นปัจจัยที่ทำให้นักวิจารณ์มองกันว่า สหรัฐอาจกำลังเดินเข้าสู่ทางแห่งความล่มสลาย

คอลัมน์นี้อ้างหลายครั้งถึงตัวอย่างในหนังสือชื่อ Are We Rome? The Fall of an Empire and the Fate of America และชื่อ Freefall: America, Free Markets, and the Sinking of the World Economy (มีบทคัดย่อภาษาไทยและวิพากษ์อยู่ในเว็บไซต์ www.bannareader.com)

การมองเช่นนั้นเกิดการโต้แย้งจำนวนมากจากหลากหลายมุมมอง อย่างไรก็ดี ดูจะยังไม่มีใครมองว่า แม้ตามหลักความไม่จีรังของสรรพสิ่ง สหรัฐจะไม่สามารถอยู่ตลอดไปได้ แต่จะสามารถอยู่ได้นานกว่าสังคมจำนวนมากเนื่องจากมีปัจจัยสำหรับ “ถ่ายเลือด” ของตนเองอยู่เสมอ

การถ่ายเลือดล่าสุดของสหรัฐ ได้แก่ การเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาจะส่งผลให้ คามาลา แฮร์ริส เป็นรองประธานาธิบดีสตรีคนแรกในประวัติศาสตร์ของตน ยิ่งกว่านั้น นางแฮร์ริส มิใช่สตรีผิวขาวเช่นชาวอเมริกันส่วนใหญ่ หากเป็นลูกของชายผิวดำและหญิงอินเดียที่เพิ่งอพยพเข้าไปอยู่ในสหรัฐ ดังเป็นที่ทราบกันดี ย้อนไปก่อนสมัยของนายทรัมป์ นายบารัค โอบามา เป็นลูกของชายผิวดำชาวเคนยาและหญิงผิวขาวชาวอเมริกัน ด้วยความสามารถเป็นเลิศ เขาสามารถตีฝ่าความยากจนและอุปสรรคสารพัดออกมาจนเป็นประธานาธิบดีได้

การเปิดโอกาสให้ผู้มีความสามารถสูง ไม่ว่าจะเกิดที่ไหน เพศอะไรและผิวสีอะไร เข้าไปตั้งถิ่นฐานและสร้างความก้าวหน้าในด้านต่างๆ ได้อย่างต่อเนื่องนี้ เป็นปัจจัยที่ทำให้สหรัฐสามารถปรับเปลี่ยนได้ง่ายกว่าประเทศที่ไม่เปิดโอกาส ด้วยเหตุนี้ สหรัฐน่าจะเสื่อมช้า หรือมีความหวังมากกว่าสังคมโดยทั่วไป