11.11 วันชอปปิงโลก กับการศึกษา

11.11 วันชอปปิงโลก  กับการศึกษา

มหกรรมชอปปิงและโปรโมชั่นในช่วง 11.11 ที่เกิดขึ้นวันที่ 11 เดือน 11 ทั้งในโลกออนไลน์และออฟไลน์ ที่เราต่างตื่นเต้นและสนุกสนาน

วันนี้ผมจึงอยากจะมาเล่าเชื่อมโยงให้เห็นภาพว่าแล้วเราในฐานะผู้บริโภคคนทั่วไปนั้นจะได้ประโยชน์อะไรจากวันแห่งการชอปปิงนี้

วันชอปปิง 11.11 นี้แท้จริงแล้วได้รับการพัฒนาจากไอเดียของวันคนโสดที่เกิดขึ้นจากเมืองจีน โดย 1 นั้นถือเป็นสัญลักษณ์ของคนโสด ดังนั้นจึงถือฤกษ์การซ้อนตัวกันของเลข 1 ที่ติดกัน 4 ตัวจัดงานปาร์ตี้สังสรรค์ จนกระทั่งพัฒนามาเป็นมหกรรมวันชอปปิงใหญ่

คล้ายๆ กันกับทั่วโลกที่ในช่วงฤดูกาลแห่งการสังสรรค์ โดยเฉพาะในช่วงปลายปีที่จะมีมหกรรมชอปปิงและมีสินค้าลดราคามากมาย อาทิ Boxing day ในอังกฤษ หรือ Black Friday ในสหรัฐ โดยเทศกาลชอปปิงทั้ง 2 นี้จะเกิดขึ้นหลังเทศกาลคริสมาสต์และขอบคุณพระเจ้าเพื่อระบายสินค้าที่มักจะเหลือจากการขาย เพราะคนมักจะซื้อสินค้าของขวัญก่อนเทศกาลสำคัญเพื่อมอบแก่คนที่รักในวันเทศกาลที่จะมีการรวมตัวกันของเพื่อนและครอบครัว

ชัดเจนว่า  ผู้บริโภคนั้นได้รับประโยชน์จากมหกรรม 11.11 เพราะได้สินค้าราคาที่ดี แต่พฤติกรรมของผู้บริโภคอันเนื่องมาจากเทคโนโลยีที่พัฒนาเปลี่ยนแปลงไปนั้นทำให้ผู้ขายรายใหญ่รวมถึงรัฐนั้นเสียประโยชน์ไปจากมูลค่าการซื้อขายที่ย้ายไปสู่ออนไลน์ซึ่งมีความยากลำบากมากขึ้นในการจัดเก็บภาษี ซึ่งรัฐบาลในหลายประเทศก็มีความพยายามในการจัดเก็บเม็ดเงินที่หายไปนี้

ในเชิงธุรกิจ มหกรรมชอปปิงที่เริ่มมาจากออนไลน์นี้ได้ขยายตัวไปสู่ออฟไลน์จนเรียกได้ว่า ตอนนี้ทุกร้านค้าไม่ว่าจะใหญ่เล็ก จะอยู่ในโลกออนไลน์หรือไม่ก็มีโปรโมชั่นเพื่อดึงดูดเม็ดเงิน และยิ่งประกอบกับช่วงเวลาปลายปีที่ผู้บริโภคมักจะจับจ่ายใช้สอยมากขึ้นเพราะใกล้เทศกาลปีใหม่ และหน้าหนาวที่มีบรรยากาศแห่งการเฉลิมฉลอง

โดยตัวเลขมวลรวมของการชอปปิงในวันนี้ก็เรียกไว้ว่ามหาศาล เฉพาะการค้าในเว็บไซต์ค้าขายชื่อดังของจีนอย่าง Alibaba นั้นก็มี ยอดขายทะลุ 38,400 ล้านดอลลาร์ภายในวันเดียวเมื่อปี 2562 ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในทุกๆ ปีเป็นระยะเวลากว่า 10 ปีมาแล้ว พูดได้ว่าเมื่อกว่าสิบปีที่แล้ว หรือ ในปี 2552 นั้นยอดขายยังอยู่ที่ระดับ 100 ล้านดอลลาร์เท่านั้น

และนี่คือเหตุผลว่าทำไมสมรภูมิการค้าออนไลน์นั้นจึงดุเดือด โดยมีโปรโมชั่นมากมาย กลยุทธ์ราคาล่อใจ การส่งสินค้าฟรีเพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดที่เพิ่มขึ้นจากออฟไลน์สู่ออนไลน์

สงครามตลาดการค้าออนไลน์ของไทย ที่มีประชากร 70 ล้านคนนี้ ผู้เข้าแข่งขันที่เป็นบริษัทสัญชาติต่างๆ เจ้าใหญ่อยู่ถึง 3 แพลตฟอร์ม คือ Lazada (จีน), Shopee (สิงคโปร์), JD Central (จีน-ไทย) ยังคงต่อสู้ชิงฐานลูกค้ากัน โดยในระหว่างการช่วงชิงตลาดนั้นผู้บริโภคก็ถือเป็นผู้ที่จะได้รับผลประโยชน์จากการแข่งขันตรงนี้ ทั้งแง่ของราคา แพลตฟอร์ม คุณภาพการการันตีสินค้า ตลอดจนเรื่องของการจ่ายเงิน

ในเชิงของการศึกษาและตลาดแรงงานจะพบว่า บริษัทเหล่านี้ยังคงต้องการแรงงานเข้าไปพัฒนาและเจริญเติบโตไปพร้อมกับบริษัทซึ่งอยู่ในช่วงขาขึ้นหรือ sunrise business    เพราะสอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภคอย่างเราๆ ที่เปลี่ยนแปลงไป ดังนั้นการอุดหนุนให้บุตรหลานได้เรียนรู้เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ การ Coding นั้นก็เสมือนติดอาวุธปลายนวมให้บุตรหลานพร้อมสู่การแข่งขันในตลาดแรงงานในอนาคต

หากพิเคราะห์ให้ถี่ถ้วนแล้ว ทุกหน่วยในสังคมต่างมีบทบาทในการฉกฉวยโอกาสนี้เพื่อแปลงมาเป็นประโยชน์แก่ตนเองและประเทศชาติได้ การส่งเสริมให้เยาวชนก้าวทันและเตรียมพร้อมเพื่อก้าวล้ำเทคโนโลยีเป็นหน้าที่ของพ่อแม่ เช่นเดียวกับการดูแลผลประโยชน์ที่หายไปของชาติจากเม็ดเงินภาษีและเจ้าของแพลตฟอร์ตสัญชาติต่างชาติก็เป็นหน้าที่ของรัฐ