สังคมแบ่งขั้วทางการเมือง อิทธิพล AI บนสื่อโซเชียล?

สังคมแบ่งขั้วทางการเมือง อิทธิพล AI บนสื่อโซเชียล?

สัปดาห์ที่ผ่านมาหนังสือพิมพ์เดอะวอชิงตันโพสต์จากสหรัฐอเมริกาได้เผยแพร่บทบรรณาธิการที่อ้างถึงบทวิจัยของนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเวอร์จินเนีย

ที่ได้ศึกษาอิทธิพลของAIบนสื่อโซเชียลที่มีต่อการแบ่งขั้วของสังคมทางการเมือง

โดยบทวิจัยดังกล่าวได้วิเคราะห์ถึงพฤติกรรมของสื่อโซเชียล เนื่องมาจากการถูกออกแบบของอัลกอริทึมที่จะเลือกเฟ้นทั้งเนื้อหาและเฟรนด์ที่ AI ได้วิเคราะห์แล้วว่าจะสร้างความสนใจหรือความสุขให้กับผู้ใช้งานสูงสุด

ฟังดูโดยผิวเผินแล้วอาจเป็นเรื่องที่ดีแต่ผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นนั้นคือผู้ใช้งานก็จะถูกห้อมล้อมด้วย“ฟองสบู่”ของเนื้อหาและเพื่อนที่มีความสนใจเดียวกันและอาจถูกตัดขาดจากเนื้อหาและเพื่อนที่มีความเห็นต่าง

บทวิจัยยังได้ค้นพบด้วยว่ายิ่งผู้ใช้งานยิ่งมีความเห็นที่สุดขั้วซึ่งในตัวอย่างของสหรัฐอเมริกานั้นหมายถึงกลุ่มอนุรักษ์นิยมฟองสบู่ที่ถูกสร้างขึ้นยิ่งมีความโฟกัสและยิ่งจะแปลกแยกจากโลกแห่งความเป็นจริงอย่างที่น่าเป็นห่วง

ทั้งนี้ AI ของสื่อโซเชียลเรียนรู้ความสนใจของผู้ใช้งานจากพฤติกรรมการใช้งาน

ดังนั้น ยิ่งผู้ใช้งานยิ่งมีพฤติกรรมที่แสดงออกถึงมุมมองทางการเมือง เช่น การเลือกชมเนื้อหาที่อ่านแล้วชอบใจหรือเลือกคบเฟรนด์ที่มีรสนิยมถูกคออัลกอริทึมจะยิ่งเฟ้นหาเนื้อหาและเฟรนด์ที่สนองความต้องการทางการเมืองของผู้ใช้งาน

การแบ่งขั้วของสังคมทางการเมืองจากอิทธิพลของสื่อโซเชียลอาจไม่ได้เป็นวัตถุประสงค์โดยตรงของการออกแบบ AI แต่กลับเป็นผลข้างเคียงที่ได้เกิดขึ้นอย่างที่ไม่มีใครได้คาดฝันเอาไว้แต่เมื่อมันได้เกิดขึ้นแล้วกลับสามารถส่งเสริมความร้าวฉานได้อย่างน่าเหลือเชื่อ

อย่างไรก็ตาม กรณีดังกล่าวอาจเปรียบเทียบในทางตรงกันข้ามกับสื่อจากยุคก่อนที่มีกฎหมายสำหรับจัดสรรโควต้าของเนื้อหาประเภทต่างๆเช่นช่องโทรทัศน์ที่ต้องขอใบอนุญาตซึ่งในยุคนั้นทุกคนต้องถูกบังคับให้รับชมเนื้อหาทุกประเภทและไม่เพียงเฉพาะเนื้อหาที่ผู้รับชมมีความสนใจเท่านั้น

แต่ในปัจจุบันเราได้เข้าสู่ยุคของ On Demand ยุคที่ผู้รับชมเลือกเนื้อหาเองและกระทั่งยุคที่AIเลือกเนื้อเฟ้นหาให้

สิ่งที่น่าสะพรึงกลัวคือการที่ AI ของสื่อโซเชียลส่วนใหญ่ล้วนอยู่ในมือของธุรกิจเอกชนและยังไม่สามารถถูกควบคุมได้โดยรัฐบาลใดๆและนี่อาจเป็นบทพิสูจน์ถึงอนาคตของมนุษยชาติที่สามารถถูกควบคุมและบริหารจัดการโดยAIถึงขั้นที่ส่งผลสู่การแตกแยกทางสังคม

สิ่งที่หลายคนอาจลืมคิดไปคือการที่สื่อโซเชียลถึงแม้จะมีข้อดีตรงที่ได้เปิดโอกาสให้ทุกคนสามารถเป็นสื่อได้แต่สิ่งที่ได้เกิดขึ้นนั้นก็คือข้อมูลที่มีอยู่บนสื่อโซเชียลนั้นมีอยู่มากมายมหาศาลและกำลังถูกสร้างขึ้นใหม่อยู่ทุกเสี้ยวหนึ่งของวินาทีและไม่มีใครที่จะสามารถดูเนื้อหาทั้งหมดได้

จึงมีความจำเป็นที่ต้องอาศัยอัลกอริทึมในการคัดเลือกเนื้อหาที่ตรงต่อความสนใจของผู้ใช้บริการแต่ละคนซึ่งผลของการใช้AIกลับเป็นการสร้างฟองสบู่ที่ปิดกั้นผู้ใช้งานจากเนื้อหาที่ไม่สนองความต้องการหรือเป็นเนื้อหาที่มีความเห็นต่าง

ในอนาคตอาจจำเป็นที่จะต้องมีกฎหมายบังคับให้สื่อโซเชียลมีโควต้าในการนำเสนอเนื้อหาที่อยู่นอกฟองสบู่เพื่อขยายวิสัยทัศน์ของผู้ใช้งานโดยส่วนใหญ่ซึ่งอาจช่วยลดทอนการแบ่งขั้วทางสังคมที่ส่วนหนึ่งเป็นอิทธิพลมาจากการใช้สื่อโซเชียล