เศรษฐกิจซอมบี้

เศรษฐกิจซอมบี้

สัปดาห์ที่ผ่านมา จะเริ่มได้ยินคำว่า บริษัทซอมบี้, Zombie Firms มากขึ้น รวมทั้งเศรษฐกิจของไทยก็เสี่ยงที่จะเข้าสู่ Zombie Economy ด้วย

        ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา จะเริ่มได้ยินคำว่าบริษัทซอมบี้ หรือ Zombie Firms กันมากขึ้น รวมทั้งความเสี่ยงว่าเศรษฐกิจของไทยก็จะมีความเสี่ยงที่จะเข้าสู่ Zombie Economy ด้วย ซึ่งในภาพยนตร์ต่างประเทศเราจะเห็นบรรดาซอมบี้ฟื้นขึ้นมาจากหลุมและไล่ตามตัวเอกกันเป็นประจำ ดังนั้น ซอมบี้ในความเข้าใจทั่วไป ก็จะเป็นซากศพที่ควรจะเสียชีวิตไปแล้ว แต่กลับมาเคลื่อนไหวได้เสมือนยังมีชีวิต เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับบริษัทที่ดำเนินธุรกิจ บริษัทซอมบี้ก็คือบริษัทที่ถ้าดูจากสถานะการเงินจริงๆ ก็ควรที่จะปิดหรือเลิกกิจการไปแล้ว แต่ก็ยังสามารถดำเนินธุรกิจอยู่ได้

        บริษัทซอมบี้นั้น ถึงแม้จะยังคงมีกระแสเงินสดเป็นบวก มีเงินสดเพียงพอที่จะเป็นค่าใช้จ่ายต่างๆ แต่กำไรที่ได้จากการดำเนินงานนั้นไม่เพียงพอที่จะชำระดอกเบี้ยจากเงินกู้ และเงินต้นที่จะต้องจ่ายคืนในงวดนั้นๆ อย่างไรก็ดีบริษัทเหล่านี้ยังคงมีเงินสดและสามารถอยู่รอดได้ (เหมือนซอมบี้) เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ ที่ยังทำให้สามารถกู้เงินจากแหล่งอื่นๆ มาหมุนเวียนต่ออายุได้เรื่อยๆ ที่สำคัญคือความช่วยเหลือจากมาตรการของรัฐหรือธนาคารพาณิชย์ที่ขยายเวลาพักชำระหนี้และมาตรการอื่นๆ จึงยังทำให้เสมือนว่าบริษัทเหล่านี้ยังสามารถดำเนินการอยู่ได้ ทั้งๆ ที่ถ้าหยุดมาตรการช่วยเหลือต่างๆ บริษัทเหล่านี้อาจจะต้องปิดกิจการลง

        ดังนั้นจึงมีการเปรียบเปรยบริษัทที่เข้าข่ายลักษณะดังกล่าวว่าเป็นบริษัทซอมบี้ที่ควรจะปิดกิจการไปแล้ว แต่ยังคงอยู่ได้ด้วยดอกเบี้ยที่ต่ำและมาตรการช่วยเหลือต่างๆ และถ้าประเทศใดที่มีบริษัทที่เป็นซอมบี้มากๆ สุดท้ายก็จะทำให้โครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศกลายเป็น Zombie Economy ไปด้วย

        แนวคิดของบริษัทซอมบี้และ Zombie Economy ไม่ใช่เรื่องใหม่ คำดังกล่าวได้ถูกพูดถึงมากในช่วงทศวรรษที่ 1990 ในประเทศญี่ปุ่น (ที่คนญี่ปุ่นเองระบุว่าเป็น Lost Decade ทางเศรษฐกิจ) ที่ธนาคารพาณิชย์และบริษัทจำนวนมากในญี่ปุ่นต้องได้รับการช่วยเหลือจากรัฐบาลและธนาคารกลางอย่างต่อเนื่องเพื่อให้สามารถอยู่รอดได้ ทำให้เกิด Zombie Banks ขึ้นในญี่ปุ่น และบรรดาธนาคารซอมบี้เหล่านี้ก็ปล่อยกู้ให้กับบริษัทซอมบี้ต่อไปเป็นลูกโซ่

        ก่อนภาวะโควิด เนื่องจากภาวะทางเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มไม่ดี ก็เริ่มมีการเขียนถึงการกลับมาของ Zombie Economy กันอีกครั้ง อย่างไรก็ดีโควิดกลับเป็นตัวกระตุ้นของ Zombification ให้เร็วและแรงมากขึ้น จนปัจจุบันนี้หลายๆ ประเทศทั่วโลก มีความเสี่ยงสูงที่จะเข้าสู่ Zombie Economy เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจหดตัวอันเนื่องมาจากโควิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบรุนแรงจากภาวะโควิด

        มีสองมุมมองที่น่าสนใจเกี่ยวกับ Zombie Economy โดยในมุมมองแรกนั้นมองว่ามาตรการช่วยเหลือภาคธุรกิจต่างๆ ของภาครัฐนั้น กลับยิ่งเป็นการเร่งให้เกิดบริษัทซอมบี้และ Zombie Economy มากขึ้น ในหลายๆ ประเทศที่มีมาตรการพักหรือผ่อนผันการชำระนี้ จะทำให้ตัวเลขของ NPL ในประเทศนั้นๆ ไม่ได้สะท้อนภาพของธุรกิจที่ประสบปัญหาจริงๆ เนื่องจากการที่ธุรกิจได้รับการพักหรือผ่อนผันการชำระหนี้ ซึ่งสุดท้ายธุรกิจเหล่านั้นก็จะกลายเป็นบริษัทซอมบี้ไปโดยไม่รู้ตัว ภายใต้มุมมองนี้มีแนวคิดว่าภาครัฐของแต่ละประเทศควรที่จะสนับสนุนบริษัทที่ยังมีโอกาสที่จะเติบโตต่อไปแทนที่จะมาสนับสนุนบริษัทซอมบี้ อีกทั้งควรปล่อยให้การดำเนินงานของบริษัทต่างๆ ได้สะท้อนภาพที่แท้จริงของบริษัทนั้น

        อย่างไรก็ดีในอีกมุมมองหนึ่งนั้นก็มองว่าถ้ารัฐปล่อยให้บริษัทซอมบี้เหล่านี้ต้องเลิกหรือปิดกิจการไปจริงๆ จะนำไปสู่ปัญหาลูกโซ่ที่ลุกลามและขยายใหญ่ยิ่งขึ้นไปอีกทั้งปัญหาการว่างงานที่จะต้องเพิ่มขึ้น ซึ่งนำไปสู่ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้นเนื่องจากคนว่างงานมากขึ้น และจากปัญหาเศรษฐกิจก็จะลามไปสู่ปัญหาสังคม ทั้งความเหลื่อมล้ำในสังคมที่มากขึ้น รวมไปถึงปัญหาอาชญกรรมที่อาจจะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

        ไม่ว่าจะเป็นทางเลือกใด ในภาวะที่ยังมองไม่เห็นว่าปัญหาจากโควิดจะสิ้นสุดลงเมื่อใด ดูเหมือนว่า Zombie Economy จะกลายเป็นอีกหนึ่งความเสี่ยงที่ประเทศต่างๆ จะต้องเผชิญ