ถ่อมตนได้งาน อหังการงานเจ๊ง

 ถ่อมตนได้งาน อหังการงานเจ๊ง

วันนี้กิจการแบบข้ามาคนเดียวที่ประสบความสำเร็จ ไม่ค่อยได้เจอะเจอกันมากเท่าใดนัก จึงต้องมี "คนอื่น" มาช่วยกิจการงานของเราให้สำเร็จ

แต่การที่จะได้คนอื่นมาช่วยการงานของเรานั้น กระทำแตกต่างกันแบบสุดขั้วได้ 2 แบบ คือ แบบใช้ความอหังการบังคับให้คนอื่นมาช่วย ซึ่งจะมาอย่างจำใจ ใช้อำนาจวาสนาของตนกะเกณฑ์มาได้ดั่งใจ กับอีกแบบหนึ่ง คือแบบขอแรงกันแบบถ่อมเนื้อถ่อมตัว ร้องขอไม่ใช่กะเกณฑ์ จะใหญ่แค่ไหนก็ยังขอร้องให้ช่วย ไม่ใช้อำนาจกะเกณฑ์กันตามความพอใจ งานวิจัยงานหนึ่งบอกว่า งานที่ผู้นำขอแรงกันแบบถ่อมตัว มีโอกาสประสบความสำเร็จมากกว่าการที่ผู้นำกะเกณฑ์ ด้วยความอหังการมากถึงสองเท่า

การนำแบบใช้ความถ่อมตน ไม่ได้หมายถึงผู้นำพูดจาไพเราะ วาทะดี หรือทำตนเป็นคนต่ำต้อยไปอ้อนวอนขอความร่วมมือ แต่การนำแบบใช้ความถ่อมตนเริ่มจากการที่ผู้นำมองเห็นความสำคัญของคนร่วมงานเทียบเท่ากับความสำเร็จของงาน ในขณะที่ผู้นำอหังการยอมให้คนมีความสูญเสีย ยอมให้คนที่ทำงานให้ต้องลำบากลำบนเพื่อให้งานที่ต้องการสำเร็จ

อยากให้มีคนมาช่วยสร้างงานให้สำเร็จ ให้รักษาสมดุลระหว่างความทุกข์ยากของคน กับความสำเร็จที่ต้องการให้เกิดขึ้น ยอมล่าช้าเพื่อให้คนทำงานไม่ต้องทนทุกข์กับงานนั้น ลดความยากลำบากให้คนร่วมงาน สำคัญไม่น้อยกว่าความสำเร็จของงาน

การนำแบบใช้ความถ่อมตน อาศัยความศรัทธาที่คนทำงานมีต่อผู้นำในการขอให้ช่วยทำการงาน ผู้นำจึงประพฤติปฏิบัติตนไปในทางที่ใครพบใครเห็นแล้วศรัทธา ซึ่งเป็นความศรัทธาที่เกิดขึ้นเอง ไม่ใช่การจำใจยอมทำงานให้ด้วยเกรงอำนาจบาตรใหญ่ ดังนั้น หากอยากนำใครให้ทำอะไร ถามตนเองก่อนว่า เราได้ทำอะไรบ้างที่สร้างความศรัทธาในตัวเราให้เกิดขึ้นกับคนเหล่านั้น ศรัทธาเกิดจากความเชื่อมั่นในพฤติกรรมของผู้นำ

ดังนั้น ทุกก้าวการทำงานของผู้นำ ต้องสร้างความเชื่อมั่นให้คนร่วมงาน งานจะช้าไปบ้างเพื่อแลกกับความเชื่อมั่นในตัวผู้นำก็ไม่เป็นไร ผู้นำที่แสดงให้ผู้คนเห็นความสามารถว่าทำได้จริงตามที่พูด ผู้นำที่รักษาคำพูด ผู้นำที่ใช้เหตุผล เรียกศรัทธาได้ดีกว่าแสดงความอหังการให้พบเห็น ชนะใจยิ่งใหญ่กว่าชัยชนะอื่นใด

ในการนำแบบใช้ความถ่อมตน ผู้นำกระทำตนเป็นตัวอย่างในสิ่งที่ร้องขอให้คนอื่นช่วยทำ อยากให้คนใช้จ่ายอย่างประหยัด ผู้นำก็ประหยัดด้วย ไม่มีสองมาตรฐานคือคนอื่นต้องทำ แต่ฉันเป็นข้อยกเว้น กระทำตนภายใต้กติกาเดียวกันกับคนร่วมงาน ไม่จำเป็นสุดขีด จะไม่พบเห็นการยกเว้นกติกาให้ผู้นำ ระลึกไว้เสมอว่าการยกเว้นกติกาเพื่อตัวผู้นำไม่ใช่ลักษณะของการถ่อมตน

ความเห็นของคนร่วมงาน เป็นสิ่งที่ผู้นำแบบถ่อมตนให้ความสำคัญ การรับฟังอย่างตั้งใจ สามารถพบเห็นได้เสมอ และเมื่อรับฟังแล้วก็พยายามหาหนทางให้ได้ตามความต้องการที่รับฟังมานั้น เสียงของคนร่วมงานไม่ใช่เป็นแค่เสียงนกเสียงกา แค่เป็นเรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งของผู้นำ ทำเรื่องไหนได้แค่ไหนก็ตอบกลับอย่างจริงใจ ไม่ใช่แค่ฟังแล้วก็แล้วกันไป การตอบข้อจำกัดต่างๆ จากการกระทำตามความคิดความเห็นของคนร่วมงานกระทำแบบเพื่อนร่วมงาน ไม่ใช่แบบนายใหญ่สั่งการ จึงไม่มีใครรู้สึกไม่สบายใจกับการกล่าวคำตอบข้อจำกัดนั้น

ผู้นำแบบถ่อมตนพยายามแก้ความขัดแย้ง ในขณะที่ผู้นำอหังการพยายามทุกวิถีทางที่จะกำจัดคนที่ตนคิดว่าเป็นตัวสร้างความขัดแย้ง การถ่อมตนทำให้ไม่คิดว่าตนเองมีอำนาจในการทำลายล้างคนอื่น ในทางตรงข้ามกลับช่วยให้ยอมรับว่า ความร่วมมือเป็นสิ่งที่แสวงหาได้โดยไม่ต้องใช้ความอหังการ และงานสำเร็จได้ด้วยความร่วมมือมากกว่าการสั่งการ ผู้นำถ่อมตนมีเพื่อนร่วมงานที่ความขัดแย้งเป็นเพียงปัญหาชั่วครั้งชั่วคราวที่เกิดขึ้นแล้วก็แก้ไขได้เสมอ โดยมักเป็นการแก้ไขที่ปราศจากผู้แพ้ผู้ชนะ ทุกคนได้บ้างเสียบ้างจากการแก้ไขความขัดแย้งนั้น

ผู้นำถ่อมตนเดินอยู่เคียงข้างกับคนร่วมงาน จึงมองเห็นทุกข์สุขของคนร่วมงานที่เดินไปด้วยกัน จึงเข้าใจข้อจำกัดที่มีอยู่ในแต่ละคน งานใดช้าไปเพราะข้อจำกัดใดของใครคนไหนก็ยอมรับได้ และหาหนทางแก้ไขให้ ไม่ใช่เอาแต่เล่นงานใครที่ทำไม่ได้ดั่งใจ รวมทั้งยังใช้ทุกความพยายามที่ตนเองมีอยู่ ในการขจัดทุกข์บำรุงสุขให้กับคนร่วมงาน

ไม่ใช่เรื่องเป็นไปไม่ได้ที่จะได้เจอะเจอกับการนำแบบถ่อมตน แต่เป็นเรื่องแปลกที่ยังมีคนที่ยังใช้ความอหังการเป็นแนวทางในการนำ ทั้งๆ ที่รู้ดีกันแล้วว่า “ถ่อมตนได้งาน อหังการงานเจ๊ง”