ความเป็นอิสระ...ของ กขค.

ความเป็นอิสระ...ของ กขค.

คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) ประกอบด้วยกรรมการ 7 คน ซึ่งนายกฯ แต่งตั้งโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี ภายใต้ พรบ.การแข่งขันทางการค้า

คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) มีหน้าที่หลัก คือ การกำกับดูแลการประกอบธุรกิจ ให้มีการแข่งขันทางการค้าที่เป็นธรรม รวมถึงการวินิจฉัยคดี ที่เกี่ยวข้องกับการแข่งขันทางการค้า ซึ่งกรรมการแต่ละคนจะมีความเป็นอิสระต่อกันในการใช้ดุลพินิจเพื่อวินิจฉัยในแต่ละคดี

กรณีตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงความเป็นอิสระในการใช้ดุลพินิจของ กขค. คือ ห้างสรรพสินค้า ก. ได้ว่าจ้างบริษัทรับจัดงานแสดง หรือออแกไนเซอร์ (Organizer) ข. เข้าบริหารจัดการพื้นที่จัดงานแสดงของห้าง โดยเปิดโอกาสให้บริษัทต่างๆ เข้ายื่นเจตจำนงเพื่อขอเช่าพื้นที่ หนึ่งในนั้นคือ บริษัท ค. ผลปรากฏว่า บริษัท ค. ได้รับการอนุญาตให้เข้าร่วมจัดแสดงสินค้าจากบริษัท ข. ในตอนแรก แต่แล้วก็ได้รับการปฏิเสธไม่ให้เข้าร่วมจัดงานโดยไม่ทราบสาเหตุในภายหลัง บริษัท ค. จึงได้ร้องเรียนมายังสำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (สขค.) เนื่องจากไม่ได้รับการปฏิบัติทางการค้าที่เป็นธรรม

เมื่อ สขค. ได้รับเรื่องร้องเรียน ก็ต้องปฏิบัติตามระเบียบ กล่าวคือ ต้องแสวงหาข้อเท็จจริงในเบื้องต้น ซึ่งปรากฏว่า พฤติกรรมที่ห้างฯ ก. กระทำ มีความเป็นไปได้ว่าจะเป็นความผิดตาม พ.ร.บ. การแข่งขันฯ พ.ศ. 2560 สขค.จึงนำเรื่องเสนอต่อ กขค. เพื่อพิจารณาแต่งตั้งอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริง คณะอนุกรรมการฯ ได้ทำการสอบสวนเก็บข้อมูล และสรุปเป็นสำนวนเพื่อนำเสนอต่อ กขค. ดำเนินการวินิจฉัย

ข้อเท็จจริงจากการสอบสวนปรากฏว่า บริษัท ค. ได้รับการปฏิเสธการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าจากบริษัท ข. ทั้งที่ก่อนหน้า บริษัท ค. ก็สามารถเข้าร่วมงานแสดงสินค้าที่ห้างฯ ก. มาโดยตลอด โดยบริษัท ข. ให้เหตุผลว่าเป็นไปตามคำสั่งของห้างฯ ก. อย่างไรก็ตาม บริษัท ค. ได้ติดต่อห้างฯ ก.โดยตรง เพื่อขอเช่าพื้นที่จัดแสดงสินค้าของตน ในตอนแรกห้างฯ ก. อนุญาต แต่เมื่อทราบภายหลังว่าเป็นบริษัท ค. ที่ติดต่อขอเช่าพื้นที่ จึงปฏิเสธ ทุกการติดต่อสื่อสารมีหลักฐานพิสูจน์ยืนยันได้เป็นจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ (E-mail)

ในส่วนของห้างฯ ก.ให้เหตุผลในการปฏิเสธไม่ให้บริษัท ค. เข้าร่วมงานว่า เนื่องจากสินค้าที่บริษัท ค. จะนำมาจัดแสดงนั้นทับซ้อนกับสินค้าของผู้ให้เช่าพื้นที่หลัก ซึ่งก็คือห้างฯ ก. นั่นเอง ยิ่งกว่านั้นบริษัท ค. ได้มาร่วมงานแสดงสินค้าที่ห้างฯ ก. บ่อยครั้งแล้ว จึงอยากเปิดโอกาสให้บริษัทอื่นเข้าร่วมงานบ้าง ที่สุดแล้วจากการปฏิเสธไม่ให้บริษัท ค. เข้าร่วมงาน ส่งผลให้พื้นที่ที่แต่เดิมเป็นของบริษัท ค. เช่าต้องว่างลง เพราะบริษัท ข. ไม่สามารถหาบริษัทอื่นมาเช่าพื้นที่ตรงส่วนนั้นได้ทันเวลา

ประเด็นที่ กขค. ต้องวินิจฉัยมีด้วยกัน 2 ประเด็น คือ หนึ่ง พฤติกรรมทางการค้าของห้างฯ ก. ถือว่ามีความผิดต่อบริษัท ค. ตามมาตรา 57 แห่ง พ.ร.บ. การแข่งขันฯ พ.ศ. 2560 ที่ว่าด้วยการห้ามมิให้ ผู้ประกอบธุรกิจกระทำการใด ๆ อันเป็นผลให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ประกอบธุรกิจรายอื่น หรือไม่

สอง พฤติกรรมทางการค้าของห้างฯ ก. ถือว่ามีความผิดต่อบริษัท ข. ตามมาตรา 57 แห่ง พ.ร.บ. การแข่งขันฯ พ.ศ. 2560 หรือไม่

ในประเด็นแรก กขค. มีมติเป็นเอกฉันท์ว่า ห้างฯ ก. มีพฤติกรรมทางการค้าที่เป็นความผิดตามมาตรา 57 (1) และ (3) กล่าวคือ ห้างฯ ก. มีพฤติกรรมทางการค้าที่เป็นการกีดกัน และกำหนดเงื่อนไขทางการค้า อันเป็นการจำกัดหรือขัดขวางการประกอบธุรกิจของผู้ประกอบธุรกิจรายอื่นอย่างไม่เป็นธรรม แม้ห้างฯ ก. จะอ้างถึงเหตุผลของการทับซ้อนของสินค้าที่จัดแสดง รวมถึงความถี่ในการเข้าร่วมงานของบริษัท ค. แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่า บริษัทอื่นที่ได้รับอนุญาตให้เข้าร่วมงาน ก็แสดงสินค้าประเภทเดียวกันกับบริษัท ค. และยังมีอีกหลายบริษัทที่ความถี่ในการเข้าร่วมงานในห้างฯ ก. มากกว่าบริษัท ค. เสียด้วยซ้ำ

ในประเด็นที่สอง กขค. เสียงข้างมากมีความเห็นว่า ห้างฯ ก. และบริษัท ข. ผูกนิติสัมพันธ์กัน ด้วยผลของสัญญาการใช้บริการพื้นที่ และห้างฯ ก. มิได้กำหนดเงื่อนไขทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมต่อบริษัท ข. เนื่องจากเป็นคู่ค้ากัน ส่วนความเสียหายที่เกิดขึ้น (พื้นที่ว่าง) ซึ่งควรจะเป็นรายได้ของบริษัท ข. เป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นโดยผลของการกีดกันมิให้บริษัท ค. เข้าร่วมงานแสดง หาใช่เป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นจากพฤติกรรมทางการค้าของห้างฯ ก. ต่อ บริษัท ข.

ในขณะที่ กขค. เสียงข้างน้อยมีความเห็นในประเด็นนี้ว่า พฤติกรรมทางการค้าของบริษัท ข. ที่ปฏิเสธการเข้าร่วมงานต่อบริษัท ค. ถือเป็นความผิดตามมาตรา 57 (1) และ (3) เช่นเดียวกับ การกระทำความผิดของห้างฯ ก. ต่อบริษัท ค. หากแต่การกระทำผิดของบริษัท ข. เป็นไปตามคำสั่งของห้างฯ ก. และบริษัท ข. เอง ก็ได้รับความเสียหายจากการขาดรายได้ของพื้นที่ที่ว่าง ซึ่งความเสียหายที่เกิดขึ้นนี้ เป็นข้อพิสูจน์ว่า บริษัท ข. มิได้ตกลงร่วมกันทางธุรกิจ (ฮั้ว)ในการกระทำความผิดกับห้างฯ ก. มิฉะนั้นบริษัท ข. จะมีความผิดตามมาตรา 55 แห่ง พ.ร.บ. การแข่งขันฯ พ.ศ. 2560 ที่ว่า ห้ามมิให้ผู้ประกอบธุรกิจใดร่วมกับ ผู้ประกอบธุรกิจอื่นกระทำการใดๆ อันเป็นการผูกขาด หรือลดการแข่งขัน หรือจำกัดการแข่งขัน ในตลาดในตลาดหนึ่ง

ดังนั้น ห้างฯ ก. จำต้องรับผิดชอบต่อพฤติกรรมทางการค้าที่เป็นความผิดที่เกิดขึ้นโดยการกระทำของบริษัท ข. และมีความเสียหายเกิดขึ้น ซึ่งถือว่าครบองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 57 แห่ง พ.ร.บ. การแข่งขันฯ พ.ศ. 260 โดยห้างฯ ก. ได้ใช้อำนาจตลาดหรืออำนาจต่อรองที่เหนือกว่าอย่างไม่เป็นธรรมต่อบริษัท ข. ซึ่งถือเป็นความผิดตามมาตรา 57 (2) แห่ง พ.ร.บ. การแข่งขันฯ พ.ศ. 2560

ยิ่งกว่านั้น กขค. เสียงข้างน้อยยังเห็นว่า หากห้างฯ ก. ไม่มีความผิดต่อบริษัท ข. เพราะนิติสัมพันธ์ของสัญญาการใช้บริการพื้นที่ นั่นก็หมายความว่า พฤติกรรมทางการค้าของห้างฯ ก. ที่กระทำต่อบริษัท ค. ในประเด็นแรก ก็ไม่ควรเป็นความผิดเช่นกัน เพราะกระทำบนนิติกรรมสัญญา หากแต่ข้อเท็จจริงคือ พฤติกรรมทางการค้าของห้างฯ ก. เป็นพฤติกรรมทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม และเลือกปฏิบัติ ดังนั้น เหตุผลของการอ้างนิติสัมพันธ์ของสัญญาการใช้บริการ จึงควรตกไป

อีกทั้งถ้าการกระทำความผิดของบริษัท ข. ไม่มีผู้รับผิดชอบ อาจเป็นได้ว่าในอนาคต หากมี 3 บริษัท เช่น บริษัท A B และ C โดยที่บริษัท A มีพฤติกรรมทางการค้าที่เป็นความผิดต่อบริษัท C ซึ่งในความเป็นจริงได้ตกลงร่วมกันกับบริษัท B ในการกระทำผิดนั้น เมื่อการสอบสวนข้อเท็จจริงพบการกระทำความผิด บริษัท B อาจอ้างได้ว่า กระทำความผิดเนื่องจากเป็นไปตามคำสั่งของบริษัท A ทำให้เกิดเป็นความผิดฐานเดียว และในความเป็นจริง บริษัท B อาจช่วยเหลือบริษัท A ในการร่วมรับผิดชอบความผิดฐานเดียวนั้นได้

จะเห็นได้ว่า กรณีตัวอย่างข้างต้นชี้ให้เห็นถึงความเป็นอิสระในการใช้ดุลพินิจเพื่อพิจารณาคดีของ กขค. และเมื่อเกิดความเห็นต่าง มติเสียงส่วนใหญ่จะถูกใช้เป็นหลักในการตัดสิน!