ทำไมมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐชุดใหม่ ไม่คืบหน้า?

ทำไมมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐชุดใหม่ ไม่คืบหน้า?

ตั้งแต่เกิดการระบาดของโรคโควิด-19 รัฐบาลสหรัฐได้ออกมาตรการพยุงเศรษฐกิจไปแล้วด้วยมูลค่าเกือบ 15% ของ GDP

เพื่อความอยู่รอดและเยียวยาประชาชนรวมทั้งธุรกิจ แต่ดูเหมือนว่าจะยังไม่พอ เพราะตอนนี้สหรัฐกำลังเผชิญกับการแพร่ระบาดระลอกใหม่ ซึ่งจะกดดันต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจให้ลากยาวออกไป ลำพังภาคเอกชนคงไม่มีศักยภาพพอที่ฝ่าวิกฤตนี้ไปได้ คงฝากความหวังไว้ที่มาตรการของภาครัฐเท่านั้น

แต่กระนั้น สภาคองเกรสที่ประกอบด้วยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ได้ถกเถียงกันถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหม่อย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลาหลายเดือน แต่ยังไร้ข้อตกลง ล่าสุดสภาผู้แทนราษฎรที่ครองเสียงข้างมากโดยพรรคเดโมแครตได้ผ่านร่างมาตรการวงเงิน 2.2 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งยังขัดแย้งกับที่ทำเนียบขาวและวุฒิสภาซึ่งครองเสียงข้างมากโดยพรรครีพับลิกันที่เสนอวงเงินเพียง 1.8 ล้านล้านดอลลาร์ โดยในรายละเอียดยังมีข้อขัดแย้งกันในหลายประเด็น เช่น วงเงินสำหรับรัฐบาลท้องถิ่นแต่ละมลรัฐ การแจกเงินเยียวยาประชาชน วงเงินช่วยเหลือผู้ว่างงาน และเงินสนับสนุนด้านสาธารณสุข เป็นต้น

อีกหนึ่งเหตุผลทางการเมืองที่ทำให้วุฒิสภายังไม่ยอมผ่านร่างงบประมาณดังกล่าว คือ ก่อนการเลือกตั้งผลโพลชี้ว่านาย Joe Biden มีโอกาสสูงที่จะได้เป็นปธน.สหรัฐคนถัดไป และทางรีพับลิกันอาจไม่ต้องการให้การผ่านร่างงบประมาณเอื้อประโยชน์ต่อทางฝั่งพรรคเดโมแครต นอกจากนี้สมาชิกพรรครีพับลิกันให้ความสำคัญในการรับรองนาง Amy Coney Barrett เป็นตุลาการศาลสูงสุดก่อนการเลือกตั้ง เพื่อเพิ่มสัดส่วนผู้พิพากษาที่มีแนวคิดแบบอนุรักษนิยมและอาจเอื้อประโยชน์ให้แก่ปธน. Trump หากเกิดข้อขัดแย้งทางกฎหมายจากการเลือกตั้งจนต้องนำมาตัดสินที่ศาลสูงสุด

แม้ขณะนี้ สภาคองเกรสจะไม่สามารถคลอดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาได้ แต่มีความเป็นไปได้ที่จะมีมาตรการบางอย่างออกมาในช่วงต้นปี 2021 สำหรับขนาดของมาตรการนั้นจะขึ้นอยู่กับผลการเลือกตั้งในวันที่ 3 พ.ย. ถ้าหากนาย Joe Biden ได้เป็นประธานาธิบดีและพรรคเดโมแครตได้ครองเสียงข้างมากทั้งในสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา คาดว่าจะมีมาตรการเยียวยาประชาชนและธุรกิจเป็นวงเงินสูงถึง 2-2.5 ล้านล้านดอลลาร์ แต่ถ้าหากว่าเป็นสภาผสมคาดว่ามาตรการอาจจะมีขนาดลดลง และมีแนวโน้มจะออกมาล่าช้าจากความขัดแย้งระหว่างทั้ง 2 พรรค

ถึงแม้การผ่านร่างงบประมาณจะเต็มไปด้วยอุปสรรค แต่ไม่ว่าพรรคใดจะชนะการเลือกตั้ง รัฐบาลใหม่ที่จะเข้าปฏิบัติหน้าที่ในต้นปีหน้าจะต้องรีบเข็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาให้ได้อย่างเร็วที่สุด เพื่อป้องกันไม่ให้เศรษฐกิจสหรัฐทรุดหนักจนเข้าสู่ภาวะถดถอยอีกครั้ง เพราะจำนวนผู้ติดเชื้อโรคโควิด-19 มีโอกาสเพิ่มขึ้นในช่วงฤดูหนาว จึงเพิ่มความเสี่ยงที่หลายมลรัฐต้องปิดเมืองเพื่อไม่ให้จำนวนผู้ป่วยเกินศักยภาพของระบบสาธารณสุข

สำหรับการดำเนินนโยบายในภาพรวม หากนาย Joe Biden ได้เป็นประธานาธิบดี และพรรคเดโมแครตครองเสียงข้างมากใน 2 สภา คาดว่าจะมีการผลักดันงบประมาณเพิ่มเติมเพื่อลงทุนในด้านประกันสุขภาพ โครงสร้างพื้นฐาน การศึกษา รวมถึงการลงทุนในพลังงานสะอาด แม้ว่ามาตรการทั้งหมดจะมีมูลค่ามหาศาล แต่ในระยะกลางจะมีนโยบายขึ้นภาษีเพื่อนำรายได้มาชดเชยรายจ่ายที่เพิ่มขึ้น หากปธน.Donald Trump ได้รับเลือกตั้งกลับเข้ามา คาดว่าจะมีมาตรการลดภาษี ซึ่งจะยิ่งเพิ่มการขาดดุลงบประมาณการคลัง และจะเป็นอุปสรรคต่อการผ่านร่างงบประมาณด้านอื่นๆ นอกจากนี้ไม่ว่าใครจะได้เป็นประธานาธิบดีขั้นตอนการผ่านร่างงบประมาณจะต้องใช้เวลา ซึ่งอาจจะต้องรอถึงช่วงปลายปีหน้า กว่าเม็ดเงินจะออกมาสู่ระบบเศรษฐกิจ แต่ด้านตลาดหุ้นมักจะตอบรับเชิงบวกก่อนจะมีมาตรการออกมา

ในระหว่างที่ตลาดการเงินผันผวนตามการลุ้นผลการเลือกตั้งที่ยังไม่แน่นอนและการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจยังไม่มีความคืบหน้า ดังนั้นในแง่ของการลงทุนจึงควรมองข้ามความผันผวนระยะสั้นและเน้นพิจารณาที่ปัจจัยระยะยาวเป็นสำคัญ เราแนะนำนักลงทุนทยอยเข้าลงทุนในหุ้นกลุ่มผู้ชนะ ที่ได้รับผลกระทบจำกัดจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว และสอดคล้องกับวิถีชีวิตแบบใหม่ (New Normal) และหัวใจสำคัญในการสร้างขุมทรัพย์ลงทุนระยะยาว คือ การกระจายการลงทุนในหลายสินทรัพย์และหลายภูมิภาค รวมถึงการลงทุนผ่านผู้เชี่ยวชาญ