ช่วยเหลือด้านการเงินSMEs:เมื่อSoft Loan ไม่ใช่คำตอบสุดท้าย

ช่วยเหลือด้านการเงินSMEs:เมื่อSoft Loan ไม่ใช่คำตอบสุดท้าย

เป็นที่ทราบกันดีนะครับว่าภาคธุรกิจ SMEs นั้นได้รับผลกระทบอย่างหนักจากวิกฤตทางเศรษฐกิจในครั้งนี้

ทั้งการล็อกดาวน์ปิดเมืองและกำลังซื้อจากต่างชาติและในประเทศที่หดหาย ล้วนแต่ทำให้ธุรกิจ SMEs ประสบกับปัญหารายได้ที่ลดลง ซึ่งส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังภาคครัวเรือนที่ธุรกิจ SMEs มีการจ้างงานในระบบจำนวนมากกว่า 12 ล้านคน เรียกได้ว่า ผลกระทบของธุรกิจ SMEs ส่งผลกระทบไปต่อเนื่องเป็นวงกว้างทั้งประเทศ
ภาคธุรกิจ SMEs โดยทั่วไปแล้วมีสภาพการเงินที่ไม่แข็งแกร่งนัก เมื่อพบกับปัญหารายได้ที่หดตัวลง ธุรกิจ SMEs จำนวนมาก จึงเผชิญกับปัญหาด้านการเงินในช่วงวิกฤต Covid-19 เพื่อให้การช่วยเหลือแก่ภาคธุรกิจ ธนาคารแห่งประเทศไทยจึงได้มีแนวทางการช่วยเหลือปัญหาการเงินของ SMEs โดยเน้นไปที่การเสริมสภาพคล่อง โดยมีมาตรการทางการเงินสนับสนุน ทั้งการพักชำระหนี้ของลูกหนี้ SMEs และการปล่อยสินเชื่อให้แก่ภาคธุรกิจ หรือ Soft Loan ผ่านทางธนาคารพาณิชย์
 
อย่างไรก็ตาม แม้มาตรการจะออกมาระยะหนึ่งแล้ว แต่ยอดการเข้าถึงสินเชื่อ Soft Loan ยังอยู่ในระดับต่ำ โดยล่าสุด ณ สิ้นเดือนตุลาคม มียอดสินเชื่อที่ได้รับการอนุมัติ 120,000 ล้านบาท จากวงเงินรวม 500,000 ล้านบาท หรือเรียกได้ว่ามียอดสินเชื่อที่ได้รับอนุมัติเพียง 24% ของวงเงินทั้งหมด จำนวนยอดธุรกิจได้รับสินเชื่อ Soft loan ทั้งหมดอยู่ที่ 7.1 หมื่นราย
ยอดการเข้าถึงสินเชื่อ Soft loan ที่ต่ำ นัยหนึ่งอาจแสดงถึงความเข้มงวดของธนาคารพาณิชย์ ในการอนุมัติสินเชื่อให้แก่ธุรกิจรายย่อยที่มีความเสี่ยง ภายใต้สภาพเศรษฐกิจที่ถดถอยเช่นนี้ แต่ในขณะเดียวกัน การเข้าถึงสินเชื่อ soft loan ที่ต่ำ ก็อาจสะท้อนถึงความต้องการสภาพคล่องในระบบที่ไม่ได้มีสูงมากอย่างที่คาดการณ์ไว้ เพียงแต่อาจมีความต้องการที่กระจุกตัวสูงอยู่อยู่ในบางกลุ่มธุรกิจ ยิ่งไปกว่านั้น อาจะสะท้อนภาพกว้างให้เห็นว่านอกเหนือจากการให้สินเชื่อ Soft loan อาจมีเครื่องมือทางการเงินอื่นๆ เป็นตัวเลือกที่เหมาะสมให้แก่ภาคธุรกิจตามสภาพธุรกิจภายใต้ผลกระทบของ Covid-19
ในประเด็นเรื่องความต้องการสภาพคล่อง ด้านหนึ่งที่น่าสนใจ คือ เมื่อเราศึกษาข้อมูลเงินฝากในระบบธนาคารพาณิชย์ไทย เราจะพบว่า ณ เดือนสิงหาคม 2563 ยอดเงินฝากในระบบธนาคารพาณิชย์มีการขยายตัว 9.6% เมื่อเทียบกับช่วงสิ้นปีที่แล้ว หรือ คิดเป็นมูลค่าเงินฝากที่เพิ่มขึ้นประมาณ 1.2 ล้านล้านบาท ซึ่งในยอดรวมนี้ มียอดเงินฝากในภาคธุรกิจที่เพิ่มขึ้นกว่า 2.8 แสนล้านบาท ข้อมูลเงินฝากนี้แสดงให้เห็นว่าในภาพรวมธุรกิจยังมีสภาพคล่องเหลืออยู่ จึงเป็นไปได้ว่าความต้องการด้านสภาพคล่องกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบทางรายได้อย่างหนัก
เมื่อมาตรการ Soft loan อาจยังไม่เป็นมาตรการที่ตอบโจทย์กับทุกธุรกิจ แนวทางการดำเนินนโยบายในระยะต่อไปจึงควรขยายความช่วยเหลือไปยังด้านอื่นๆ โดยอาศัยเครื่องมือทางการเงินอื่นๆ เพื่อแก้ปัญหาอย่างตรงจุดและเหมาะสมกับความต้องการของลูกหนี้แต่ละราย (Targeted policy)
ยกตัวอย่างเช่นในบางอุตสาหกรรมที่มี Supply chain ของธุรกิจขนาดใหญ่และธุรกิจ SMEs เกี่ยวเนื่องกัน เราสามารถให้การสนับสนุนสินเชื่อเพื่อการขยายธุรกิจแก่ธุรกิจขนาดใหญ่เพื่อขยายกิจการ (Supply Chain loans) โดยมีเป้าหมายเพื่อเป็นการสร้างความต้องการสินค้าจากธุรกิจ SMEs ให้เพิ่มมากขึ้น หรือในอีกกรณี ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากรายได้ที่หดหายไป เช่นธุรกิจโรมแรม อาจต้องการระดมทุนในช่วง 1-3 ปี กว่าที่ธุรกิจจะสามารถกลับมาดำเนินงานได้ตามปกติ ก็สามารถสนับสนุนให้ธุรกิจ SMEs ร่วมกันออกสินเชื่อหรือหุ้นกู้แปลงสภาพ (Convertible Loan/Bond) ที่ธุรกิจ SMEs สามารถแปลงขายสินทรัพย์ที่มีอยู่ เพื่อนำมาหมุนเป็นเงินทุนในช่วงที่รายได้หดหาย ให้แก่ นักลงทุน ธนาคารพาณิชย์ สถาบันการเงิน หรือ รัฐบาล โดยเมื่อเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยวกลับมาเติบโตเป็นปกติ ธุรกิจเหล่านี้ก็สามารถนำเงินที่มีมาซื้อสินทรัพย์คืนได้ ในขณะเดียวกันย่อมมีบางธุรกิจที่ต้องการพักหรือหยุดกิจการไปก่อน เราก็ควรมีนโยบายการจัดการหนี้สินและสินทรัพย์อย่างมีระบบ (Warehousing) ของบริษัทบริหารสินทรัพย์และธนาคารพาณิชย์ เพื่อให้ไม่เกิดผลกระทบต่อเนื่องต่อตลาดสินทรัพย์
สิ่งสำคัญในการขยายความช่วยเหลือในช่องทางอื่นๆ คือความเหมาะสมต่อธุรกิจนั้นๆ การออกแบบนโยบายจึงจำเป็นต้องสอดคล้องกับแนวโน้มธุรกิจในอนาคต รวมถึงสภาพการทำกำไรและสภาพความแข็งแกร่งทางการเงินของธุรกิจนั้นด้วย การวางแผนความช่วยเหลือทางการเงินแก่ภาคธุรกิจ SMEs ในระยะต่อไป ธนาคารแห่งประเทศไทยและสถาบันการเงินจึงควรวางแผนช่วยเหลือธุรกิจที่มีศักยภาพอย่างเป็นระบบ เพื่อให้การช่วยเหลือเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด เพื่อช่วยให้ภาคธุรกิจสามารถฟื้นตัวจากวิกฤตครั้งนี้ได้โดยเร็ว