แร่ธาตุแห่งความขัดแย้ง: ช่องว่างทางกฎหมายที่ถูกลืมเลือน

แร่ธาตุแห่งความขัดแย้ง: ช่องว่างทางกฎหมายที่ถูกลืมเลือน

บทความฉบับนี้จะนำเสนอถึงแนวนโยบายพื้นฐาน ความตื่นตัวและมุมมองทางกฎหมาย “แร่ธาตุแห่งความขัดแย้ง” ซึ่งมีต้นกำเนิดในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก

จากที่เคยเขียนบทความแนะนำให้ผู้อ่านได้รู้จักกับ “แร่ธาตุแห่งความขัดแย้ง (Conflict Mineral)” อันประกอบไปด้วยดีบุก ทังสเตน แทนทาลัม และทองคำ (tin, tungsten, tantalum, gold หรือ “3TG”) โดยได้อธิบายถึงจุดเริ่มต้นของนโยบายจำกัดการใช้แร่ที่มีความขัดแย้งใด ๆ ซึ่งมีต้นกำเนิดในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก (DRC) หรือประเทศที่อยู่ติดกัน (หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ คอลัมน์กฎหมาย 4.0 ฉบับวันศุกร์ที่ 23 ตุลาคม 2563) ซึ่งถือว่าเป็นการนำผู้อ่านเข้าสู่โลกแห่งแร่ธาตุต้องห้ามแล้ว ในบทความฉบับนี้จะพาผู้อ่านเดินทางต่อให้ได้รับทราบถึงแนวนโยบายพื้นฐาน ความตื่นตัวของสังคมและมุมมองทางกฎหมายต่อประเด็นปัญหาดังกล่าว

ในปัจจุบันกลุ่มธุรกิจแร่และบริษัทผู้ประกอบการผลิต นำเข้า ส่งออก หรือรับซื้อแลกเปลี่ยนแร่ต่างชูนโยบายในการตรวจสอบสถานะเชิงรุกและตรวจสอบห่วงโซ่อุปทานของแร่ที่เข้าสู่กระบวนการทางอุตสาหกรรมของตนอย่างต่อเนื่อง เพื่อหลีกเลี่ยงการเกี่ยวข้องกับแร่แห่งความขัดแย้งไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม ทั้งนี้ มิได้หมายความว่าผู้ประกอบการจะไม่สามารถแสวงหาผลกำไรจากแร่ทั้งสี่ชนิดนี้ได้เลย หากแต่หมายถึงการเข้มงวดต่อการตรวจสอบแหล่งที่มาของแร่ชนิดดังกล่าว

การป้องกันประเด็นปัญหานี้ในหมู่ผู้ประกอบการยังอาจทำได้ โดยความร่วมมือกันอย่างต่อเนื่องกับซัพพลายเออร์เพื่อดำเนินมาตรการจำพวกการระบุแหล่งแร่ภายในห่วงโซ่อุปทาน การสื่อสารกับเจ้าของเหมืองและผู้ดำเนินการขนส่ง รวมถึงสนับสนุนการใช้แหล่งแร่ที่เป็นไปตามข้อกำหนดจากการใช้งานโปรแกรมตรวจสอบต้นทางของแร่ (Conflict-Free Smelter- CFS) ภายใต้การกำกับดูแลของกลุ่มพันธมิตรผู้ทำธุรกิจแร่อย่างมีความรับผิดชอบ (Responsible Business Alliance -RBA /EICC) เช่น หากมีการระบุแหล่งแร่ใด ๆ โดยไม่เป็นไปตามข้อกำหนด ซัพพลายเออร์ที่เกี่ยวข้องจะต้องระงับกระบวนการในการจัดหาแร่จนกว่าแหล่งที่มาของแร่ชุดนั้น ๆ จะได้รับการชี้แจง เป็นต้น

โดยหลักแล้วการใช้เครื่องมือที่ได้รับจากคณะกรรมการตรวจสอบแหล่งแร่แห่งความขัดแย้ง (Conflict-Free Sourcing Initiative- CFSI) จะตรวจสอบตัวแร่ซึ่งเป็นวัตถุดิบขั้นพื้นฐานซึ่งจะถูกนำไปใช้ผลิตสินค้าและข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน  อาจกล่าวได้ว่าในเครื่องอุปโภคบริโภคของผู้คนทั่วโลกทุกวันนี้อาจมีการเจือปนของแร่แห่งความขัดแย้งอยู่ ซึ่งยังคงเป็นช่องโหว่เชิงนโยบายและเกี่ยวพันกับประเด็นเรื่องสิทธิในการรับทราบข้อมูลและส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์ของผู้บริโภค รวมถึงประเด็นทางสิทธิมนุษยชนอยู่พอสมควรตามที่ได้กล่าวแล้วในบทความก่อนหน้านี้  ท่ามกลางสถานการณ์ซึ่งแฝงเร้นอยู่ในกระบวนการผลิตแร่ซึ่งน้อยคนจะทราบ ได้มีกลุ่มองค์กรที่ผลักดันและสนับสนุนการจัดซื้อจัดหาแร่ธาตุอย่างมีความรับผิดชอบ ให้การสนับสนุนการตรวจสอบสถานะแร่ทุก ๆ กรัมว่าปลอดจากความขัดแย้งอย่างกลุ่ม ITSCI หรือ RMI (the Responsible Minerals Initiative)

ผู้ประกอบการผลิตแร่ชั้นนำหลายแห่งให้การยอมรับการอำนวยความสะดวกในการปฏิบัติตามข้อกำหนดการรับประกันแหล่งแร่ (Responsible Minerals Assurance Process -RMAP) ขององค์กรดังกล่าวซึ่งมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถหลีกเลี่ยงการเกี่ยวพันกับการจัดหาเงินทุนที่ขัดแย้งกัน การละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือความเสี่ยงอื่น ๆ เช่น การติดสินบนเจ้าหน้าที่ในห่วงโซ่อุปทานแร่ มาตรการที่องค์กรเหล่านี้ใช้ในการกำหนดมาตรฐานของกระบวนการตรวจสอบคือ The OECD Due Diligence Guidance for Responsible Supply Chains of Minerals from Conflict-Affected and High-Risk Areas (OECD Guidance) โดยองค์กรความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (The Organization for Economic Co-operation and Development)

ห่วงโซ่อุปทานที่ได้รับการตรวจสอบแล้วช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถจัดหาแร่ได้อย่างรวดเร็วและหลีกเลี่ยงการถูกปลดจากพื้นที่สัมปทานที่มีความเสี่ยงสูง ในขณะเดียวกันก็ทำให้มั่นใจได้ว่าคนงานเหมืองจะยังคงได้รับความคุ้มครองรวมถึงมีความมั่นคงในอาชีพจากผู้ประกอบการที่มีความรับผิดชอบ ที่กล่าวมาข้างต้นเป็นระบบการปฏิบัติงานในภาพรวมของหน่วยงานซึ่งช่วยสนับสนุนนโยบาย Conflict Mineral จะเห็นได้ว่า OECD Guidance ถูกนำมาใช้เสมือนเป็นบรรทัดฐานทางกฎหมายในระดับสากลก็ว่าได้ ช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถตัดสินใจได้อย่างเหมาะสม เพิ่มโอกาสทางธุรกิจและลดความผิดพลาดในระบบอุตสาหกรรมแร่ 

ปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้ คือความเสี่ยงในการติดสินบนและหลบหลีกการตรวจสอบมาตรฐานของ OECD Guidance รวมถึงมาตรฐานการคุ้มครองผู้บริโภคแห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภคของสหรัฐอเมริกา ภายใต้หลักคิดของ Dodd-Frank ซึ่งเป็นแนวบรรทัดฐานที่ใช้ในการประเมินความเป็นแร่แห่งความขัดแย้งระหว่างเหมืองแร่กับผู้ประกอบการ ดังเช่นที่เกิดขึ้นกับประเทศในแถบภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้บางประเทศ  การจัดการกับแนวนโยบายนี้มีความสำคัญต่อการปฏิบัติตามกฎหมายท้องถิ่นซึ่งอ้างอิงหลักกฎหมายดังกล่าว ไม่ว่าจะในทวีปแอฟริกา ในสหรัฐอเมริกาหรือ EU ยังคงปรากฏประเทศซึ่งเข้าข่ายการเป็นแหล่งแร่แห่งความขัดแย้งแต่กลับไม่ถูกจัดกลุ่มให้อยู่ในระดับเดียวกันกับ DRC ทั้งที่เหมืองแร่ในประเทศดังกล่าวมีทั้งการใช้แรงงานเด็ก การใช้แรงงานผิดกฎหมาย ถูกควบคุมโดยกลุ่มติดอาวุธและผู้ก่อการร้ายรวมถึงเป็นแหล่งการฟอกเงิน

สำหรับประเทศไทย แม้ว่าผู้ประกอบการหลายรายจะขานรับและให้ความร่วมมือกับแนวนโยบายแร่แห่งความขัดแย้งแล้ว แต่ยังคงปรากฏการเล็ดรอดเข้ามาของแร่ชนิดดังกล่าวอยู่เนือง ๆ จึงควรให้มีประการแรก การปฏิรูปกฎหมายและนโยบายที่ชัดเจนต่อการควบคุมแร่แห่งความขัดแย้ง ประการที่สองควบรวมองค์กรที่มีหน้าที่ความรับผิดชอบโดยตรงเพื่อการทำงานร่วมกันอย่างเป็นระบบและรวดเร็ว และประการสุดท้ายจัดทำโครงการความร่วมมือในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงและระบบธุรกิจแร่ระหว่างประเทศ เพื่อให้ข้อมูลและอบรมให้บริษัทขนาดใหญ่และขนาดย่อม รวมถึงบุคคลทั่วไปได้ตระหนักถึงประเด็นปัญหานี้

การดำเนินการตรวจสอบสถานะแร่อย่างมีประสิทธิภาพโดยผู้เชี่ยวชาญควรเป็นสิ่งที่ภาครัฐเข้ามาช่วยสนับสนุนโดยไม่ผลักภาระให้กับผู้ประกอบการเอกชนมากเกินไป หลายครั้งที่ความเจริญก้าวหน้าทางการค้าและเทคโนโลยีมักเดินสวนทางกับสิทธิมนุษยชนและความเสี่ยงจากความขัดแย้งทางการเมืองอยู่เสมอ จึงเป็นหน้าที่ของทุกภาคส่วนที่จะต้องร่วมมือกันตามกำลังของตนเองในการระแวดระวังการสนับสนุนการมีอยู่ของแร่แห่งความขัดแย้งโดยไม่รู้ตัว

*บทความโดย ดร. ณัชชา สุขะวัธนกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์