'แก่ก่อนรวย' เป็นทางรอดของจีน

'แก่ก่อนรวย' เป็นทางรอดของจีน

 หัวข้อสำคัญหนึ่งในแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่ 14 ของจีน (ปี2021-2025) ก็คือ ปัญหาจีนกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยอย่างรวดเร็ว

          ในวงนโยบายของจีน ปริศนาหนึ่งที่ชอบหยิบยกมาพูดกันมากก็คือ ทำอย่างไรจีนจะไม่ซ้ำรอยญี่ปุ่น เพราะจีนในวันนี้ดูคล้ายกับญี่ปุ่นในทศวรรษ 1990 คือ กำลังเผชิญความท้าทายทั้งค่าแรงและต้นทุนการผลิตภายในประเทศที่ปรับสูงขึ้น รวมทั้งเผชิญสงครามการค้าและสงครามเทคโนโลยีกับสหรัฐฯ และอีกสิ่งที่เหมือนญี่ปุ่นในทศวรรษ 1990 ก็คือ สังคมจีนวันนี้กำลังเปลี่ยนผ่านสู่ผู้สูงวัยอย่างรวดเร็ว

            จากทศวรรษ 1990 มาถึงวันนี้ เศรษฐกิจญี่ปุ่นติดหล่ม 30 ปี คำถามคือ จีนจะเดินซ้ำรอยญี่ปุ่นหรือไม่

            อย่างน้อยในเรื่องสำคัญอย่างสังคมผู้สูงวัย ศ.เหยาหยาง แห่งคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยปักกิ่งมีความเห็นที่เฉียบคมว่า จีนนั้นแตกต่างจากญี่ปุ่น เพราะญี่ปุ่นในทศวรรษ 1990 เป็นสังคม “แก่พร้อมรวย” ขณะที่จีนในปัจจุบันเป็นสังคม “แก่ก่อนรวย”

            ผมฟังท่านแล้วก็ฉงนว่า จีนนี่ดูเหมือนวิกฤตยิ่งกว่าญี่ปุ่นในทศวรรษ 1990 เสียอีก คล้ายๆ กับไทย นักวิชาการไทยชอบพูดกันว่าไทยกำลัง “แก่ก่อนรวย” เราชราเช่นเดียวกับประเทศรวย ในขณะที่เรายังจนอยู่ แต่ ศ.เหยาหยางกับเสนอว่า การที่จีน “แก่ก่อนรวย” ต่างหากที่ทำให้จีนมีโอกาสมหาศาลที่จะไม่ติดหล่มเศรษฐกิจหยุดชะงักดังเช่นญี่ปุ่น

            เพราะ “แก่ก่อนรวย” ทำให้จีนยังมีช่องว่างที่จะเติบโตต่อไปเหลืออยู่ โดยการพยายามยกระดับคนยากจนขึ้นมาเป็นชนชั้นกลางและขึ้นมาเป็นพลังการบริโภคระลอกใหม่ รวมทั้งการแปลงชนบทเป็นเมือง ในขณะที่ญี่ปุ่นในทศวรรษ 1990 ได้เข้าสู่การเป็นสังคมเมืองโดยสมบูรณ์แล้ว จีนในวันนี้ยังต้องผ่านกระบวนการสร้างเมือง (urbanization) อีกระยะเวลาหนึ่ง

            จึงไม่แปลกใจที่รัฐบาลจีนมีนโยบายการสร้างคลัสเตอร์เมืองเพื่อเชื่อมโยงขุมพลังของเมือง และสร้างเมืองใหม่เพื่อเป็นเครื่องจักรเศรษฐกิจ มีสถิติน่าสนใจว่า ในสหรัฐอเมริกา มีเมืองที่มีขนาด 1 ล้านคน จำนวน 12 เมือง แต่ในจีนปัจจุบันมีเมืองที่มีขนาด 1 ล้านคน ถึง 167 เมือง และกำลังจะขยายเป็น 300 เมือง ในช่วงเวลา 5 ปี

            จีนกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยรวดเร็วที่สุดในโลก อันเนื่องมาจากนโยบายลูกคนเดียวที่ดำเนินมาหลายทศวรรษ ส่งผลให้โครงสร้างประชากรจีนบิดเบี้ยวอย่างสาหัส แต่ในขณะเดียวกัน จีนก็กำลังก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมเมืองรวดเร็วที่สุดเช่นกัน กระบวนการสร้างเมือง (urbanization) ของจีนทั้งเร็วและแรงที่สุดในประวัติศาสตร์โลก เพราะจีนต้องเน้นการเติบโต เพื่อแก้ปัญหาชราวัย

            แผนพัฒนาฉบับใหม่ จะมีบทที่กล่าวถึงการรับมือสังคมผู้สูงวัยโดยเฉพาะ ซึ่งในขณะนี้รายละเอียดยังไม่ชัดเจน เราจะได้เห็นแผนฉบับเต็มในช่วงต้นปีหน้าภายหลังจากที่ผ่านการพิจารณาจากสภาประชาชนแห่งชาติของจีน ในขณะนี้มีการคาดหมายว่า จะมีการกล่าวถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรองรับสังคมผู้สูงวัย รวมทั้งการปรับปรุงระบบสวัสดิการสังคมต่างๆ เพื่อตอบโจทย์สังคมผู้สูงวัยด้วย

            ธีมหลักที่สำคัญอันหนึ่งของจุดเติบโตใหม่ของเศรษฐกิจจีนก็คือ “เศรษฐกิจผู้สูงวัย” (Silver Economy) โดยเน้นพัฒนาสินค้าและบริการที่ตอบโจทย์ผู้สูงวัยโดยเฉพาะ ภาคเศรษฐกิจหนึ่งที่คาดหมายกันว่าจะเติบโตและได้รับการพัฒนาอย่างมโหฬารในรอบ 5 ปี ต่อจากนี้ ก็คือ ภาคสุขภาพ เพราะมีเงินลงทุนไหลเข้าไปในภาคเศรษฐกิจนี้มหาศาลตั้งแต่ช่วงวิกฤตโควิดเป็นต้นมา และยังเป็นภาคเศรษฐกิจที่มีความสำคัญกับสังคมผู้สูงวัยในระยะยาวด้วย

            ปัญหาความกดดันจากสังคมผู้สูงวัยยังเป็นตัวเร่งความสำคัญของการพัฒนาเทคโนโลยีของจีน นี่อาจเป็นอีกจุดหนึ่งที่จีนในวันนี้ต่างจากญี่ปุ่นในยุคทศวรรษ 1990 เพราะโลกกำลังเข้าสู่ยุคเทคโนโลยี 5.0 ดังนั้นจีนสามารถใช้ปัญญาประดิษฐ์และระบบอัตโนมัติ (automation) มาใช้แทนที่แรงงานในภาคอุตสาหกรรมการผลิต โดยไม่จำเป็นต้องย้ายฐานการผลิตออกนอกประเทศหรือเลิกอุตสาหกรรมการผลิตดังที่เกิดขึ้นในญี่ปุ่นและประเทศพัฒนาแล้วในอดีต

            เราอาจมองสังคมผู้สูงวัยเป็นทั้งวิกฤตและโอกาสควบคู่กัน วิกฤตเพราะส่งผลต่อจำนวนแรงงานวัยทำงานและผลิตภาพแรงงาน ดังที่มีรายงานว่า ถึงปี ค.ศ. 2050 แรงงานจีนจะหายไป 200 ล้านคน แต่โอกาสก็มีอยู่เช่นกัน หากผู้สูงวัยมีเงินเก็บมากพอ ก็จะเป็นขุมพลังการบริโภคยิ่งกว่าคนหนุ่มสาวที่ยังต้องทำงานเก็บเงินอยู่ รวมทั้งเศรษฐกิจผู้สูงวัยสามารถเป็นจุดเติบโตใหม่ของจีน สอดรับกับตลาดขนาดใหญ่ที่เกิดขึ้นจากเทรนด์สังคมผู้สูงวัยในหลายประเทศ

โอกาสจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่ ย่อมอยู่ที่จีนสามารถใช้ประโยชน์จาก “แก่ก่อนรวย” ได้ดีเพียงใด โดยสามารถยกระดับรายได้ประชาชนและคงรักษาการเติบโตทางเศรษฐกิจได้หรือไม่นั่นเอง