New Space Economy เศรษฐกิจแห่งอนาคต

New Space Economy เศรษฐกิจแห่งอนาคต

บริษัท Space X บริษัทด้านอวกาศที่นำโดย อีลอน มัสก์ ได้ปล่อยดาวเทียม Starlink ไปยังอวกาศเพื่อให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง

ปีนี้ Space X ได้เริ่มเปิดให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงเพื่อทดสอบ และคาดว่าจะเปิดให้บริการทั่วทั้งโลกได้ในปีหน้า หาก SpaceX สามารถปล่อยดาวเทียมขึ้นไปโคจรรอบโลกได้จำนวนตามที่ตั้งไว้เพื่อครอบคลุมทั่วโลก บริษัทคาดว่าบริการอินเทอร์เน็ตของบริษัทจะเร็วและราคาถูกที่สุดในโลก!

ถือเป็นความท้าทายหนึ่งที่จะดิสรัปบริษัทโทรคมนาคมและอินเทอร์เน็ตทั้งโลกเลยทีเดียว ทั้งยังมีนัยสำคัญต่อภาครัฐที่ต้องคิดใหม่ในเรื่องการกำกับดูแลไซเบอร์สเปซใหม่นี้ด้วย เหตุการณ์ดังกล่าวสอดคล้องกับการให้สัมภาษณ์ผู้บริหารบริษัทโทรคมนาคมยักษ์ใหญ่ในประเทศไทยที่เคยกล่าวว่า ในอนาคตอันใกล้ อาจไม่มีบริษัทผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตในประเทศไทยอีกต่อไป ซึ่งอนาคตนั้นก็ใกล้เข้ามาทุกขณะ

นี่เป็นตัวอย่างหนึ่งที่น่าตื่นเต้นของ “เศรษฐกิจอวกาศ” หรือกิจการอวกาศ ซึ่งเดิมทีอาจดูเป็นเรื่องที่ไกลตัว แต่ด้วยการดำเนินชีวิตของมนุษย์ในปัจจุบันซึ่งเทคโนโลยีได้เข้ามามีบทบาทต่อชีวิตประจำวันมากขึ้น เราต่างใช้เทคโนโลยีอวกาศอย่างไม่รู้ตัว เช่น การใช้ GPS Navigate เพื่อช่วยวางแผนเลือกเส้นทางได้อย่างเหมาะสม หรือบริการส่งอาหารดิลิเวอรี่ที่ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอวกาศ มาทำให้ผู้ต้องการสั่งอาหารและร้านค้าสามารถติดต่อซื้อขายกันได้โดยสะดวก เศรษฐกิจอวกาศจึงเป็นเรื่องที่ใกล้ตัว และมีศักยภาพที่จะช่วยให้เกิดเป็นอุตสาหกรรมใหม่ ที่มีการจ้างงานใหม่ๆ สร้างรายได้และสร้างประโยชน์ต่อสังคม

สำหรับประเทศไทย ถือว่ากำลังอยู่ในจุดเปลี่ยนที่สำคัญเช่นเดียวกัน โดยล่าสุด คณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติ ที่ประกอบด้วยหน่วยงานรัฐชั้นนำหลายแห่ง ได้เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.กิจการอวกาศ พ.ศ. ... เพื่อให้ประเทศไทยมีกฎหมายรองรับกิจการอวกาศอย่างเป็นทางการ และมีหน่วยงานกลางที่รับผิดชอบในการบูรณาการนโยบายและแผนกิจการอวกาศ รวมถึงพัฒนากิจการอวกาศให้เกิดประโยชน์ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคมและความมั่นคง ซึ่งจะทำให้ไทยสามารถก้าวสู่ยุคใหม่ของกิจการอวกาศ หรือ New Space Economy

คณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติได้มอบหมายให้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยสํานักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือที่รู้จักกันในนาม GISTDA จัดทำ (ร่าง) พ.ร.บ.กิจการอวกาศ พ.ศ. ... ซึ่งจะเป็นกฎหมายส่งเสริมกิจการอวกาศครั้งแรกของประเทศไทยนี้

กฎหมายอวกาศฉบับนี้จะทำให้ไทยมีนโยบายรองรับการเข้าใช้ประโยชน์จากห้วงอวกาศ ที่สอดคล้องกับกฎเกณฑ์สากล สามารถขับเคลื่อนกิจการอวกาศของประเทศให้ดียิ่งขึ้น รวมทั้งมีศูนย์บริการรับคำขอและชี้แจงรายละเอียดเกี่ยวกับการอนุญาตด้านอวกาศ พร้อมทั้งผลักดันอุตสาหกรรมอวกาศในไทยให้มีศักยภาพมากยิ่งขึ้น

กิจการอวกาศมีเรื่องที่น่าสนใจมากมาย เช่น การสร้าง ออกแบบ ผลิตดาวเทียม การท่องเที่ยวในอวกาศ การทำเหมืองแร่ในอวกาศ รวมทั้งการสำรวจ วิจัยการทดลองในอวกาศ ดวงจันทร์และดาวเคราะห์ การสร้างอุปกรณ์ที่เกี่ยวเนื่องกับดาวเทียม และการให้บริการระบบโทรเวชกรรมผ่านดาวเทียม

ที่ผ่านมา อัตราการเติบโตของธุรกิจและอุตสาหกรรมอวกาศในระดับโลก มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในกรณีประเทศไทย จากการศึกษาอุตสาหกรรมอวกาศในประเทศ พบว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีกิจการที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมอวกาศและอุตสาหกรรมต่อเนื่องจำนวนมากกว่า 35,600 กิจการ ที่ก่อให้เกิดประโยชน์ทางต่อเศรษฐกิจและสามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศได้ประมาณ 56,122 ล้านบาทต่อปี

ในห้วงเวลานี้จึงเป็นห้วงเวลาสำคัญที่เศรษฐกิจอวกาศกำลังเริ่มต้นขึ้นในประเทศไทย ดังนั้น จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ทุกภาคส่วนจะต้องเริ่มตื่นตัว ศึกษาหาความรู้และติดตามความก้าวหน้าในเรื่องเหล่านี้ เพื่อสามารถเข้ามาใช้ประโยชน์จากเศรษฐกิจอวกาศแห่งอนาคตนี้

ที่ผ่านมา ประเทศไทยโดย GISTDA ที่เปรียบเสมือน NASA ของประเทศไทยก็ได้มีการศึกษา วิจัย ทดลองและส่งดาวเทียมสื่อสาร ดาวเทียมสำรวจทรัพยากร รวมถึงวัตถุเพื่อการทดลอง การวิจัยในสภาวะไร้แรงโน้มถ่วง รวมถึงการฝากส่งผลึกโปรตีนในอวกาศกับ SpaceX เพื่อพัฒนายาต้านมาลาเรีย ในอนาคต หากประเทศไทยสามารถดำเนินการนำส่งวัตถุไปสู่อวกาศได้ด้วยตนเอง ก็จะเป็นการยกระดับการวิจัยของคนไทยให้มีความเกี่ยวข้องกับสาขาด้านอวกาศและมีความสามารถที่เพิ่มมากขึ้น

นอกจากนี้ ประเทศไทยกำลังมีการเสนอแนวคิดในการสร้าง Space port เพื่อให้บริการสถานที่ส่งหรือสถานที่ลงจอดของจรวดหรือวัตถุอวกาศ ซึ่งอาจเป็นโอกาสที่ดีในการสร้างห่วงโซ่อุปทานใหม่ของกิจการอวกาศ อีกทั้งมีแนวคิดการพัฒนา Space Habitat บนแนวคิดว่า หากในอนาคตพื้นที่ในโลกไม่เพียงพอต่อจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น อาจจะมีการขึ้นไปสร้างที่อยู่อาศัยในอวกาศ (Space Habitat) โดยบน Space Habitat จะมีพื้นที่ทดลองการปลูกพืชในสภาวะไร้แรงโน้มถ่วง มีห้องแล็บทดลองการผลิตยารักษาโรค การสร้างฟาร์มและพื้นที่เกษตรกรรมในอวกาศ เป็นต้น จากการพัฒนานี้เองจะทำให้โครงสร้างภาคธุรกิจภายในประเทศมีการขยายตัว และเกิดธุรกิจภาคเอกชน รวมถึงความร่วมมือกับนานาชาติในวงกว้าง

ทุกวันนี้ พรมแดนอวกาศกลายเป็นสิ่งใกล้ตัวขึ้น เราได้ใช้ประโยชน์เทคโนโลยีอวกาศในชีวิตประจำวันเป็นปกติ หลายประเทศทั่วโลกต่างกำลังขับเคลื่อนด้านอวกาศอย่างขะมักเขม้น ซึ่งประเทศไทยก็ถือว่าเป็นประเทศที่มีพื้นฐานที่ดีที่หากทุกฝ่ายร่วมกันผลักดัน ก็จะช่วยเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจอวกาศของไทยให้เติบโต สร้างแรงบันดาลใจให้กับเด็กไทยรุ่นใหม่ที่มีใจรักในห้วงอวกาศและเอกภพ และวันหนึ่งข้างหน้าเศรษฐกิจอวกาศก็จะกลายเป็นหนึ่งใน “เศรษฐกิจแห่งอนาคต” ของประเทศได้อย่างแน่นอน

*บทความโดย กานดาศรี ลิมปาคม (GISTDA) ธราธร รัตนนฤมิตศร (TFF) สถาบันอนาคตไทยศึกษา www.facebook.com/thailandfuturefoundation