Port LTF ติดลบหาทางออกอย่างไรดี? 

Port LTF ติดลบหาทางออกอย่างไรดี? 

เข้าสู่สองเดือนสุดท้ายของปี 2020 กันแล้วนะครับ ท่านผู้อ่านคิดเหมือนผมมั้ยครับ ว่าเวลาของปีนี้ผ่านไปเร็วอย่างน่าใจหายเลย

อาจเป็นเพราะว่าปีนี้มีเรื่องราวให้น่าตื่นเต้นมากมาย ทีเห็นเด่นชัดสุดก็น่าจะสถานการณ์ Covid-19 ที่ทำให้ชีวิตพวกเราไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป แล้วก็ด้วยเจ้า Covid-19 นี้เอง ก็เป็นส่วนนึงที่ทำให้ Port การลงทุนของหลายๆ ท่านมีสีแดงๆ แซมสีเขียวๆ ไม่มากก็น้อยใช่มั้ยครับ หลักๆ แล้วสำหรับทุกท่านที่ลงทุนใน LTF เพื่อลดหย่อนภาษีไว้นั่นเปิดมา อาจจะตกใจกันพอควร ถึงแม้ปีนี้เราจะไม่สามารถซื้อกองทุน LTF เพื่อนำไปลดหย่อนภาษีได้แล้ว แต่อย่างไรก็ตาม การบริหารจัดการกองทุน LTF ที่เคยซื้อไว้แล้วนั้น ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ไม่ควรมองข้ามครับ วันนี้ผมมีผู้เชี่ยวชาญในด้านการวางแผนการเงินของบริษัท Wealth Creation International Co., Ltd. คุณปิติพงษ์ รุ่งเรืองวุฒิกุล CFP® จะมาเล่าถึงวิธีจัดการกับ Port LTF ที่ทุกท่านถือครองอยู่ ว่าควรทำอย่างไรกันต่อไปดี

ก่อนที่จะไปถึงคำตอบของคำถามนั้น เรามาทำความเข้าใจลักษณะพิเศษเฉพาะของ LTF กันก่อนดีกว่าครับ กอง LTF นั้นมีเงื่อนไขที่แตกต่างจากกองทุนลดหย่อนภาษีอื่นๆ อย่าง SSF และ RMF ก็คือ นโยบายการลงทุนของกองทุน LTF นั้น จะต้องลงทุนในหุ้นสามัญที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯไทย ไม่ น้อยกว่า 65% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน ซึ่งต่างจาก SSF และ RMF ที่จะมีอิสระในการลงทุนที่มากกว่า โดย SSF และ RMF จะสามารถลงทุนในสินทรัพย์อื่นๆ นอกเหนือไปจาก หุ้นสามัญที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯไทยนั่นเอง และ LTF ที่ซื้อก่อนปี 2016 ต้องถือครอง 5 ปีปฏิทิน / LTF ที่ซื้อปี 2016 เป็นต้นไปต้อง ถือครอง 7 ปี ปฏิทิน

โดยที่จากสถิติข้อมูลผลตอบแทน LTF ย้อนหลังจัดทำโดยสมาคมบริษัทจัดการลงทุน พบว่า ค่าผลตอบแทนย้อนหลัง 5 ปีของกองทุน LTF นั้นอยู่ที่ เพียง -3.43% ถึง 1.58% เท่านั้น โดยค่าเฉลี่ยจะอยู่ที่ประมาณ -0.2% เท่านั้น เรียกได้ว่า ถือมา 5 ปี นักลงทุนแทบจะไม่ได้กำไรอะไรจากการลงทุนเลย นอกจากภาษีที่ได้คืนมาเท่านั้น

ทั้งนี้สำหรับวิธีการจัดการกับ LTF ที่ติดลบอยู่นั้น ผู้เขียน ขอให้แยก LTF ที่มีอยู่ออกเป็น 2 กลุ่มหลักๆ ดังนี้ครับ

สำหรับกลุ่มแรก ที่เป็น LTF ที่ยังถือไม่ครบกำหนดนั้น การตัดขาดทุนด้วยการสั่งขาย นั้นเป็นสิ่งที่ไม่แนะนำอย่างยิ่ง เพราะ หากทำการขายคืน LTF แบบผิดเงื่อนไขนั้น นอกจากจะขาดทุนแล้ว ยังจะพบกับความยุ่งยากในการทำเรื่องจ่ายภาษีคืนให้ทางกรมสรรพากรอีกด้วย ทางออกสำหรับกลุ่มนี้ ก็คือ การกระจายความเสี่ยงโดย สำหรับท่านที่ต้องซื้อ SSF หรือ RMF เพื่อลดหย่อนภาษีในปีนี้นั้น ก็สมควรที่จะลดน้ำหนักการลงทุนใน SSF หรือ RMF ที่ลงในตลาดหลักทรัพย์ฯไทยลง โดยการเลือกซื้อ SSF หรือ RMF ที่ลงทุนในสินทรัพย์อื่นๆ นอกจากตลาดหลักทรัพย์ฯไทย เติมเข้าไปในพอร์ตการลงทุน ซึ่งจะช่วยให้ ภาพรวมของพอร์ตการลงทุนนั้น ไม่อิงกับดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯไทยมากจนเกินไปนัก ซึ่งหาผลตอบแทนจากกองทุน SSF และ RMF ที่ลงทุนในสินทรัพย์อื่นๆ นั้นเป็นบวก ก็จะสามารถมาชดเชยการขาดทุนของ LTF ได้นั่นเอง

สำหรับกลุ่มที่สองก็คือ LTF ที่มีการถือครองจนครบกำหนดแล้วและสามารถขายออกมาได้โดยไม่ผิดเงื่อนไขนั้น หากผู้ลงทุนยังมีภาษีที่ต้องชำระอยู่ค่อนข้างสูง การเลือกขายกองทุนออกมาแม้จะขาดทุน แต่หากนำไปลงทุนต่อในหมวดรายการลดหย่อนภาษี เพื่อได้ภาษีคืน ก็ย่อมเป็นตัวเลือกที่ดีกว่าการทิ้งเงินไว้ในกองทุนเสียเปล่าๆ โดยอาจจะนำไปลงทุนได้ทั้ง ใน SSF, RMF , ประกันชีวิต หรือ ประกันสุขภาพ ก็ได้ โดยหากกลัวว่ากรณีที่ขายกองทุนไปแล้วนั้น หุ้นกลับขึ้นเป็นบวก ทำให้เป็นที่น่าเสียดาย ก็อาจจะใช้วิธีการขายแบบค่อยๆ ทยอยขายออกมาเป็นส่วนๆ ก็ได้ เช่น การแบ่งเงินจาก LTF เป็น 12 ส่วนแล้วทยอยสลับมาเป็น SSF หรือ RMF เดือนละ 1 ครั้ง รวมแล้ว 12 ครั้งต่อปีพอดี ก็จะสามารถช่วยลดความผันผวนได้เช่นกันครับ

และสำหรับช่วงนี้ (23 ต.ค.-31 ธ.ค.2020) ปีนี้ที่มีโครงการ ช้อปดีมีคืน (ลดหย่อนได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง รวมแล้วไม่เกิน 30,000 บาทต่อคน) ก็อาจจะใช้วิธีการแบ่ง LTF ออกมาเป็น 3 ก้อน แล้วขายออกมาเพื่อเป็นซื้อของใช้ต่างๆ หรือค่าอาหาร จากร้านค้าที่สามารถออกใบกำกับภาษีเต็มรูปแบบได้ (สามารถซื้อสินค้าและบริการได้ทั้งหมด ยกเว้นบางรายการ เช่น สุรา เบียร์ ไวน์ ยาสูบ สลากกินแบ่งรัฐบาล น้ำมัน และก๊าซสำหรับเติมยานพาหนะ ค่าซื้อรถยนต์ รถจักรยานยนต์ และเรือ ค่าโรงแรม ตั๋วเครื่องบิน) เพื่อนำไปเป็นค่าลดหย่อนภาษีในโครงการ ช้อปดีมีคืน ต่อไป ได้อีกวิธีหนึ่งครับ