ความท้าทายในการสร้าง ‘อารยธรรมนิเวศวิทยา’

ความท้าทายในการสร้าง ‘อารยธรรมนิเวศวิทยา’

การประชุม 1st International Conference on “Belt and Road” Green Development มีความเป็นมาจาก ความทะเยอทะยานในการสร้าง "ประเทศจีนที่สวยงาม"

ปลายเดือนที่ผ่านมา ผมได้รับเชิญให้กล่าวปาฐกถาในการประชุม 1st International Conference on “Belt and Road” Green Development ในหัวข้อ Mutual Learning of Green Civilization: The East meets the West" ซึ่งจัดโดย National Academy of Development and Strategy (NADS) of Renmin University of China ร่วมกับ National Academy of Belt and Road Green Development of the China International Culture Exchange Center (CICEC)

 

การประชุมดังกล่าวมีความเป็นมาจาก ความทะเยอทะยานของผู้นำและรัฐบาลจีน ในการสร้างประเทศจีนที่สวยงาม ตามวิสัยทัศน์ “Beautiful China”  โดยใช้แนวคิด อารยธรรมนิเวศวิทยา(Ecological civilization) หรือ “อารยธรรมสีเขียว (Green civilization) ซึ่งเป็นแนวคิดการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมไปด้วยกัน ดังคำกล่าวของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ที่กล่าวว่า น้ำใสและภูเขาเขียว คือ ภูเขาเงินภูเขาทอง

 

ที่ผ่านมา รัฐบาลจีนแสดงความพยายามในการสร้างอารยธรรมสีเขียวได้อย่างน่าประทับใจ ไม่ว่าจะเป็น การเพิ่มการใช้พลังงานทดแทนอย่างรวดเร็ว การจัดการปัญหามลภาวะในเขตเมืองได้อย่างมีประสิทธิผล หรือการเพิ่มพื้นที่สีเขียวทั้งในเมืองและในชนบท จีนยังพยายามแสดงบทบาทนำและเป็นต้นแบบของแนวทางการพัฒนาแบบใหม่ โดยผลักดันแนวคิดการพัฒนานี้ ไปยังประเทศอื่น ผ่านกลไกของความริเริ่มแถบและเส้นทาง (Belt and Road Initiative)

 

การปรับทิศทางการพัฒนาประเทศของจีนไปสู่อารยธรรมสีเขียว เป็นผลจากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็น ปัญหาสิ่งแวดล้อมจากการพัฒนา ความเหลื่อมล้ำระหว่างเมืองและชนบท ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในประเทศจีน รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงของภูมิรัฐศาสตร์โลก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การถอนตัวของสหรัฐอเมริกาจากข้อตกลงปารีส ซึ่งทำให้จีนฉวยโอกาสแสดงบทบาทเป็นผู้นำโลกในประเด็นสิ่งแวดล้อม

 

อย่างไรก็ดี หากพิจารณาด้วยกรอบแนวคิดเศรษฐศาสตร์ การพัฒนาอารยธรรมนิเวศวิทยาในประเทศจีน ยังต้องใช้ความพยายามอีกมาก เนื่องจากต้องพัฒนาปัจจัยต่าง ๆ ให้เอื้อต่อการพัฒนารูปแบบใหม่นี้ ขณะที่การแพร่ขยายแนวคิดนี้ไปยังประเทศอื่น ๆ ไม่ใช่งานง่าย เนื่องจากบริบทของประเทศต่าง ๆ ที่แตกต่างจากจีน ทั้งนี้ผมได้วิเคราะห์ว่า ปัจจัยที่มีผลต่อความสำเร็จของอารยธรรมสีเขียวมีดังต่อไปนี้

 

  1. วัฒนธรรมและจริยธรรมสีเขียว (Green culture and ethics)

อารยธรรมนิเวศวิทยาเป็นแนวคิดการพัฒนาบนฐานวัฒนธรรมและจริยธรรม โดยมีมุมมองว่า มนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ มนุษย์ควรอยู่อย่างกลมกลืนกับธรรมชาติ ดังปาฐกถาครั้งหนึ่งของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ที่กล่าวไว้ว่า “เราในฐานะของมนุษย์ ต้องเคารพธรรมชาติ ทำตามแนวทางธรรมชาติ และปกป้องมัน ส่งเสริมวิถีชีวิตที่เรียบง่าย พอประมาณ สีเขียว และคาร์บอนต่ำ ต่อต้านความฟุ่มเฟือยและการบริโภคที่มากเกินไป”

 

แนวคิดดังกล่าวแตกต่างจากแนวคิดการพัฒนาเศรษฐกิจกระแสหลัก ที่มีข้อสมมติที่ว่า มนุษย์มีความเห็นแก่ตัว การสร้างวัฒนธรรมและจริยธรรมสีเขียวจึงมีความท้าทายมาก เพราะขัดแย้งกับพฤติกรรมของมนุษย์โดยทั่วไปตามข้อสมมติทางเศรษฐศาสตร์ ปัจจัยความสำเร็จจึงขึ้นอยู่กับ การสร้างคนและสร้างวัฒนธรรมที่สอดคล้องกับปรัชญาการพัฒนาแบบใหม่ และสร้างระบบและบริบทที่เอื้อให้คนมีพฤติกรรมที่สอดคล้องกับแนวทางนี้

 

  1. การเมืองสีเขียว (Green politics)

ในการพัฒนาอารยธรรมสีเขียว ส่วนหนึ่งเป็นการผลิตสินค้าเชิงนิเวศวิทยา ซึ่งสินค้าเหล่านี้ส่วนใหญ่มีลักษณะเป็น “สินค้าสาธารณะ” (public goods) เช่น ป่าไม้ อากาศสะอาด แม่น้ำสะอาด เป็นต้น รัฐบาลจำเป็นต้องเข้ามาผลิตหรือแทรกแซงเพื่อให้เกิดการผลิตสินค้านี้ เพราะภาคธุรกิจไม่มีแรงจูงใจที่จะผลิต เนื่องด้วยสินค้าเชิงนิเวศวิทยามักสร้างต้นทุนเพิ่มขึ้น ดังนั้นปัจจัยความสำเร็จของอารยธรรมนิเวศวิทยานั้น ผู้นำการเมืองจึงต้องมีเจตจำนงทางการเมือง และภาครัฐต้องมีบทบาทในการจัดหาหรือผลิตสินค้าเชิงนิเวศวิทยา และขับเคลื่อนนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมในระยะยาว

 

ระบบการเมืองของจีน ส่งผลทำให้ประเทศได้ผู้นำและรัฐบาลที่มีความเข้มแข็ง สามารถขับเคลื่อนประเทศได้อย่างเบ็ดเสร็จ ทำให้มีโอกาสขับเคลื่อนการพัฒนาอารยธรรมสีเขียวให้สำเร็จได้ และที่ผ่านมา รัฐบาลจีนได้แสดงบทบาทในการลงทุน กำหนดกติกา และพัฒนาระบบอย่างจริงจัง เพื่อสร้างเศรษฐกิจสีเขียว แต่สำหรับประเทศอื่น ๆ ที่ระบบการเมืองและรัฐบาลไม่เข้มแข็ง รัฐบาลเปลี่ยนแปลงบ่อย รวมทั้งยังไม่ให้น้ำหนักกับนโยบายสิ่งแวดล้อมมากนัก จะเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนาอารยธรรมนิเวศวิทยา

 

  1. เทคโนโลยีสีเขียว (Green technology)

          ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมพัฒนาไปพร้อมกันได้ คือ ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีสีเขียว เพราะเทคโนโลยีนี้จะทำให้เศรษฐกิจสีเขียวมีผลิตภาพมากขึ้น และกิจกรรมทางเศรษฐกิจสร้างต้นทุนต่อสิ่งแวดล้อมน้อยลง ขณะที่ต้นทุนของเทคโนโลยีสีเขียวต่ำลงจนสามารถแข่งขันได้กับเทคโนโลยีที่ทำลายสิ่งแวดล้อม และทำให้ผลประโยชน์ด้านสิ่งแวดล้อมสอดคล้องกับผลประโยชน์เชิงพาณิชย์

 

ประเทศจีนมีความได้เปรียบในการพัฒนาเทคโนโลยีสีเขียว เพราะจีนเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น เทคโนโลยีพลังงานทดแทน เทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้า เป็นต้น การที่ประเทศจีนมีประชากรจำนวนมาก ทำให้การผลิตเทคโนโลยีสีเขียวมีความประหยัดต่อขนาด จึงทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีนี้ได้ในราคาถูก แต่ประเทศอื่นที่ไม่ได้เป็นเจ้าของเทคโนโลยีนี้ จะมีต้นทุนสูงในการเข้าถึงเทคโนโลยีสีเขียว

 

  1. อุปสงค์สีเขียว (Green demand)

ความสำเร็จของการสร้างอารยธรรมสีเขียวขึ้นอยู่กับการมีอุปสงค์สีเขียว กล่าวคือ ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจะธำรงอยู่ได้ เพราะผู้คนรับรู้ว่ามันมีคุณค่าทั้งในเชิงเศรษฐกิจและสังคม ผู้นำจีนจึงพยายามสร้างความตระหนักและค่านิยมให้ประชาชนเห็นคุณค่าของสิ่งแวดล้อม โดยสร้างความเข้าใจที่ว่า สิ่งแวดล้อมเป็นหนึ่งในเป้าหมายสำคัญของการพัฒนา ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ดีเป็นส่วนหนึ่งของความเป็นอยู่ที่ดี และเป็นสวัสดิการที่ทุกคนควรเข้าถึงได้

 

อย่างไรก็ตาม ระดับของอุปสงค์สีเขียวในประเทศต่าง ๆ ขึ้นอยู่กับระดับของการพัฒนาในแต่ละประเทศ โดยประเทศจีนมีระดับการพัฒนาที่สูงขึ้น จนพร้อมจะยกระดับสู่การพัฒนาเชิงคุณภาพ และมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจสูงอย่างต่อเนื่อง ประชาชนจีนจึงมีความต้องการด้านสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้น ขณะที่ประเทศอื่นที่ยังยากจน จะมีความต้องการการขยายตัวทางเศรษฐกิจมากกว่า และยอมเสียสละสิ่งแวดล้อมเพื่อให้ได้มาซึ่งการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ สังเกตได้จาก เงินกู้ภายใต้ความริเริ่มแถบและเส้นทางส่วนใหญ่ถูกจัดสรรให้แก่โครงการที่สร้างมลพิษ โดยเงินกู้ด้านพลังงานระหว่างปี 2014-2017 เป็นเงินกู้ในอุตสาหกรรมพลังงานฟอสซิลถึงร้อยละ 91

 

 ความทะเยอทะยานของจีนที่จะก้าวขึ้นเป็นผู้นำด้านสิ่งแวดล้อมของโลก ผ่านแนวคิดอารยธรรมนิเวศวิทยา จึงไม่โรยด้วยกลีบกุหลาบ เพราะต้องต่อสู้กับแรงจูงใจของมนุษย์ที่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนมากกว่าส่วนรวม และเห็นแก่ประโยชน์ระยะสั้นมากกว่าระยะยาว