ระวังความไม่แน่นอนของเดือน 11

ระวังความไม่แน่นอนของเดือน 11

อาทิตย์นี้เศรษฐกิจโลกเข้าเดือนพฤศจิกายน ซึ่งเป็นเดือนที่มีหลายเหตุการณ์ที่ต้องติดตามใกล้ชิด เพราะสามารถส่งผลต่อเศรษฐกิจโลกได้อย่างสำคัญ

โดยเฉพาะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐวันพรุ่งนี้ ต้องยอมรับว่าขณะนี้เศรษฐกิจโลกเต็มไปด้วยความไม่แน่นอนที่เกินการคาดการณ์ของตลาด ทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับลงต่อเนื่อง วันนี้จึงอยากเขียนเรื่องนี้ให้แฟนคอลัมน์ “เศรษฐศาสตร์บัณฑิต” ที่เป็นนักลงทุนตระหนักถึงความเสี่ยงต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น

 

             ความไม่แน่นอนที่มีมากในเศรษฐกิจโลกขณะนี้มีอยู่ 3 เรื่องหลัก

 เรื่องแรกคือ การระบาดของไวรัสก่อโรคโควิด-19 ที่กลับมารุนแรงอีกในหลายพื้นที่ของโลก เป็นการระบาดรอบใหม่ ที่น่าห่วงคือ เชื้อไวรัสแพร่เร็วมากและกำลังกระทบประเทศหลักๆ ที่สำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาและยุโรป ถึงวันที่ 29 ตุลาคมยอดติดเชื้อสะสมทั่วโลกอยู่ที่ 44.7 ล้านคน เสียชีวิตสะสม 1.1 ล้านคนและจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ทั่วโลกอยู่ที่ 4-5 แสนคนต่อวันซึ่งสูงมาก โดยประเทศที่มีผู้ติดเชื้อมากสุด 10 ประเทศแรกคือ สหรัฐอเมริกาตามด้วย อินเดีย บราซิล รัสเซีย ฝรั่งเศส สเปน อาร์เจนตินา โคลัมเบีย สหราชอาณาจักรและเม็กซิโก ที่น่าห่วงคือจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ในยุโรปเพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจตั้งแต่เดือนกรกฎาคม คือเฉลี่ย 145,000 คนต่อวัน โดยเฉพาะในฝรั่งเศส สเปนและสหราชอาณาจักร

การระบาดที่กลับมาปะทุใหม่อย่างรุนแรงเกิดขึ้นจากหลายสาเหตุ แต่ที่พูดถึงกันมากคือ สภาพอากาศหนาวที่ทำให้เชื้อไวรัสมีชีวิตอยู่ได้นาน ความร่วมมือของประชาชนในการลดการติดต่อเพื่อลดการระบาด รวมถึงการใส่หน้ากากมีน้อยลง ในหลายประเทศ ไม่มีกฎหมายให้ประชาชนที่ติดเชื้อต้องกักตัวอยู่ที่บ้าน ทำให้เชื้อแพร่ต่อได้ง่าย  บางประเทศก็จะลดเกณฑ์การกักตัวจาก 14 วันลง เพื่อจูงใจให้ประชาชนที่ติดเชื้อร่วมมือในการกักตัว พฤติกรรมเหล่านี้ทำให้ค่าอัตราการแพร่เชื้อหรือตัวเลข Ro สำหรับการระบาดรอบนี้ยืนในระดับสูง คือ มากกว่า 1

การระบาดที่แพร่เร็ว ทำให้หลายประเทศต้องกลับมาใช้มาตรการล็อกดาวน์เพื่อหยุดการระบาด ตั้งแต่วันที่ 22 กันยายน มี 6 ประเทศในยุโรปที่กลับมาใช้มาตรการล็อกดาวน์หรือประกาศมาตรการเคอร์ฟิวเพื่อลดการระบาด คือ อังกฤษ ฝรั่งเศส เบลเยียม ไอร์แลนด์ อิตาลีและสเปน มีทั้งที่ประกาศใช้เป็นพื้นที่ เช่น ฝรั่งเศส และประกาศใช้ทั้งประเทศ เช่น อิตาลี เบลเยียม ในเอเชีย ฟิลิปปินส์ก็ประกาศมาตรการเคอร์ฟิวในกรุงมะนิลา ตั้งแต่วันที่ 19 ตุลาคมเพื่อหยุดการระบาด ล่าสุดเยอรมนีประกาศล็อกดาวน์บางพื้นที่เริ่มวันที่ 1 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ขณะที่ฝรั่งเศสเปลี่ยนเป็นการล็อกดาวน์ทั้งประเทศ แสดงถึงสถานการณ์ที่รุนแรงขึ้น

            แน่นอนสุด การแพร่ระบาดและมาตรการล็อกดาวน์จะส่งผลกระทบอย่างสำคัญต่อเศรษฐกิจและสร้างความไม่แน่นอนว่า ทางการจะควบคุมการระบาดของโควิด-19 ได้หรือไม่ นี่คือความไม่แน่นอนที่ทำให้ตลาดการเงินปรับตัวลงต่อเนื่อง

 ความไม่แน่นอนที่ 2 คือ การแก้ไขวิกฤติเศรษฐกิจว่าทางการจะมีมาตรการเพิ่มเติมออกมาทันการหรือไม่ เพื่อบรรเทาผลกระทบต่อเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของประชาชน ซึ่งจุดความไม่แน่นอนหลักขณะนี้อยู่ที่สหรัฐอเมริกา ที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งที่ 2 ยังไม่ผ่านการอนุมัติของสภาคองเกรส แม้ความจำเป็นที่สหรัฐต้องมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งที่ 2 เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจเป็นสิ่งที่ยอมรับทั้งในฝั่งรัฐบาลและฝ่ายค้านคือพรรคเดโมแครต แต่ที่ล่าช้าเพราะสมาชิกสภาพรรคเดโมแครตไม่เห็นด้วยในบางรายละเอียดที่มาตรการแก้ไขไม่ให้ความสำคัญมากพอในเรื่องการตรวจเชื้อ (testing) และการติดตามผู้ติดเชื้อ (tracing) ถึงวันนี้จึงชัดเจนว่า ถ้า โจ ไบเดน ชนะเลือกตั้ง เราอาจต้องรอไปถึงวันเข้ารับตำแหน่งของประธานาธิบดีคนใหม่คือวันที่ 19 มกราคมปีหน้า กว่าที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งที่ 2 จะได้รับการลงนามโดยประธานาธิบดีสหรัฐ ทำให้มีความไม่แน่นอนว่า ช่วงเวลาหลังวันเลือกตั้งคือ 4 พฤศจิกายนถึง 19 มกราคม อาจเป็นช่วงเวลาที่เศรษฐกิจสหรัฐจะไม่มีทั้งมาตรการหยุดการระบาดของโควิด และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เข้ามาแก้ไขปัญหา ซึ่งจะกระทบการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐและเศรษฐกิจโลก

 

ความไม่แน่นอนที่ 3 คือ การเลือกตั้งสหรัฐวันพรุ่งนี้ 3 พฤศจิกายน ว่าผลจะออกมาอย่างไร ซึ่งจะมีผลอย่างสำคัญต่อทิศทางนโยบายใน 3 เรื่อง

  1. การผลักดันมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งที่ 2 ในสหรัฐ ทั้งในแง่ความรวดเร็วในการอนุมัติและรายละเอียดของการใช้เงิน
  2. ทิศทางนโยบายเศรษฐกิจสหรัฐจากนี้ไป ซึ่งจะต่างกันมากระหว่าง ทรัมป์ ที่จะยังคงเน้นประโยชน์ต่อภาคธุรกิจและตลาดการเงิน กับ โจ ไบเดน ที่จะให้ความสำคัญมากขึ้นกับการช่วยเหลือคนรายได้น้อยหรือคนส่วนล่างของสังคม

3.ทิศทางข้อพิพาทหรือสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐ ว่าจะไม่รุนแรงขึ้น หรือจะรุนแรงขึ้นจนอาจถึงขนาดก่อตัวเป็นความขัดแย้งเชิงกายภาพในบางพื้นที่ของโลก นี่คือคำถามที่ทำให้ความไม่แน่นอนในตลาดการเงินมีมากขณะนี้

 

ที่ผ่านมาตลาดการเงินโลกได้เตรียมตัวเตรียมใจพอควรกับความไม่แน่นอนเหล่านี้ และเริ่มปรับตัวรับความไม่แน่นอนไปบ้างแล้ว สะท้อนจากตลาดหุ้นทั่วโลกที่ปรับลดลง เท่าที่ประเมิน ถ้าผลออกมาว่า ทรัมป์ชนะการเลือกตั้ง ตลาดการเงินน่าจะปรับตัวดีขึ้นในระยะสั้น จากความไม่แน่นอนหลายเรื่องที่จะลดลง โดยเฉพาะแนวนโยบายต่างๆที่คงจะไปต่อเหมือนเดิม ตรงกันข้ามถ้า โจ ไบเดน ชนะการเลือกตั้ง ตลาดการเงินอาจจะยังไม่ปรับตัวมาก เพราะไม่แน่ใจว่าอะไรจะเกิดขึ้น ทำให้ความไม่แน่นอนจะมีต่อไปอีกระยะหนึ่ง จนกว่านโยบายต่างๆ มีความชัดเจน นี่คือสิ่งที่ตลาดเตรียมไว้เพื่อรับมือ

 

แต่ที่ต้องระวังมากคือ จะมีอะไรอีกหรือไม่ที่จะเข้ามากระทบตลาด หรือสร้างความไม่แน่นอนมากขึ้นจนตลาดปรับตัวรุนแรงหลังการเลือกตั้ง เป็นความเสี่ยงประเภทที่ไม่มีใครคาดการณ์ไว้ก่อน คือ Unknown Risk ที่เมื่อเกิดขึ้นแล้ว ตลาดปรับตัวรุนแรง นี่คืออีกประเด็นที่ประมาทไม่ได้ ตัวอย่างเช่น ผลการเลือกตั้งที่สูสีมากหรือไม่ยอมรับกัน จนสร้างสุญญากาศทางการเมืองและเพิ่มความไม่แน่นอนให้กับตลาดการเงิน หรือมีข่าวร้ายใหญ่ๆ จากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐ เศรษฐกิจยุโรปหรือเศรษฐกิจจีน หรือตัวเลขผลประกอบการของสถาบันการเงินที่บั่นทอนความเชื่อมั่นของนักลงทุนเกี่ยวกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก สิ่งเหล่านี้ถ้าเกิดขึ้นจะไม่กระทบเฉพาะตลาดสหรัฐ หรือยุโรป หรือจีน แต่จะส่งผลกระทบถึงตลาดการเงินและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจทั่วโลก

 

ดังนั้น เดือนพฤศจิกายนเป็นเดือนที่เราต้องติดตามสถานการณ์โลกอย่างใกล้ชิดและระมัดระวัง และถ้าเตรียมตัวได้ดี สิ่งที่เกิดขึ้นก็สามารถผ่อนหนักเป็นเบาได้