โรงสีข้าว ชาวนา ธนาคาร กับวิกฤติที่จะมาถึง..

โรงสีข้าว ชาวนา ธนาคาร กับวิกฤติที่จะมาถึง..

ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ของโลก กำลังการผลิตในภาพรวมของโรงสีทั่วประเทศมีกว่า 120 ล้านตันต่อปี

จำนวนโรงสีข้าวจากใบทะเบียน รง.4 โดยกระทรวงอุตสาหกรรมที่มีเคยสูงถึง 30,000 โรง เกินกว่ากำลังการผลิตข้าวเปลือกที่ปลูกแต่ละปีถึง 3 เท่า ขณะนี้มีจำนวนโรงสีที่ต่อทะเบียนตาม พ.ร.บ.ค้าข้าว 1,000 โรง อยู่ในสมาคมโรงสีข้าวไทย 600-700 โรง แต่ประกอบธุรกิจจริงเพียง 300-400 โรง ลดลงจากปี 2558-2559 ที่เคยมีโรงสีขึ้นทะเบียนกับกรมการค้าภายใน กว่า 1,400 โรง ปัจจุบันมีชาวนาทั่วประเทศ 4.5 ล้านครัวเรือน ตามตัวเลขของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.)

มีพื้นที่ปลูกข้าว 60 ล้านไร่ ภาระหนี้ครัวเรือนสูงถึง 200,000 ล้านบาท ในส่วนของสถาบันการเงิน ธุรกิจโรงสีข้าว เป็นธุรกิจที่สถาบันการเงินโดยเฉพาะธนาคารพาณิชย์ให้การสนับสนุนสินเชื่อมาตลอด วงเงินสินเชื่อรวมไม่น้อยกว่า 150,000 ล้านบาท หลังรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้าบริหารประเทศ ได้ปรับเปลี่ยน

นโยบายข้าวจากการรับจำนำสู่การประกันรายได้ ตั้งแต่ปี 2557 ส่งผลให้ธุรกิจโรงสีข้าวกลายเป็นธุรกิจที่ได้รับผลกระทบในทางลบ ไม่สามารถชำระหนี้ได้ ขาดสภาพคล่อง ต้องเลิกกิจการเป็นจำนวนมาก ต้องปรับเปลี่ยนการทำธุรกิจเพื่อความอยู่รอด เหลือเฉพาะโรงสีขนาดใหญ่ที่ส่งออกข้าว ทำข้าวถุงขายภายในประเทศ เพียง 300 โรง บางรายประกาศขายกิจการ เนื่องจากสถาบันการเงินมองว่าเป็นธุรกิจที่มีความเสี่ยง พยายามลดพอร์ตสินเชื่อกลุ่มนี้ลง ไม่ปล่อยกู้ลูกค้ารายใหม่ รายที่ใช้วงเงินอยู่ก็เพิ่มมาตรการเข้มงวดในการใช้วงเงิน กลายเป็นลูกหนี้ NPL ทำให้สถาบันการเงินต้องมีภาระในการสำรองหนี้เพิ่มมากขึ้น ส่งผลกระทบต่อผลการประกอบการของสถาบันการเงินที่มีพอร์ตสินเชื่อโรงสีข้าวทุกแห่ง

อุตสาหกรรมข้าวไทย ปี 2563 ตกต่ำมากที่สุดในรอบ 20 ปี ทั้งปริมาณและมูลค่า โรงสีข้าวส่วนใหญ่แบกภาระสต็อกที่มีต้นทุนราคาข้าวที่สูงมาก ในขณะที่ราคาข้าวปัจจุบัน เฉลี่ยลดลง ถึง 30% โรงสีข้าวไม่ยอมปล่อยข้าวขาย เพราะจะขาดทุนมาก ข้าวที่สต๊อกไว้ กลายเป็นข้าวเก่า ขณะที่ข้าวใหม่กำลังจะออกมา ทำให้ราคาที่อาจลดต่ำลงอีก ในรอบ 2-3 ปี ที่ผ่านมา โรงสีต้องประสบภาวะขาดทุน ขาดสภาพคล่อง ต้องประกาศขายโรงสีข้าว บางรายเลิกกิจการ เพราะไม่สามารถชำระหนี้ธนาคารได้จากประสบการณ์ที่เคยดูแลพอร์ตสินเชื่อโรงสีข้าวหลายหมื่นล้านบาทที่ธนาคารกรุงไทย ธุรกิจโรงสีข้าวเป็นธุรกิจที่มีความเสี่ยงสูง หลักประกันในการขอสินเชื่อกับธนาคารเป็นโรงสีและเครื่องจักรที่มีราคาไม่คุ้มหนี้ ต้องจำนำข้าวเป็นประกัน การพิจารณาอนุมัติสินเชื่อ

นอกจากหลักประกันแล้ว จะต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับผู้ประกอบการในเรื่องของความซื่อสัตย์ เพราะการควบคุมดูแลข้าวที่จำนำทำได้ยาก ถ้าโรงสีข้าวขายข้าวได้แล้วไม่นำเงินมาชำระหนี้ก็จะกลายเป็น NPL ทันที การดูแลลูกค้าจะต้องมีทั้งศาสตร์และศิลป์

จากมาตรการที่เข้มงวดของสถาบันการเงินปัจจุบัน ทำให้โรงสีหลายแห่งถอดใจ ปิดโรงสี ยอมให้ธนาคารฟ้องร้องดำเนินคดีหลายราย คาดว่าจะมี NPL เพิ่มขึ้นอีกมาก ในขณะที่ชาวนาต้องเผชิญวิบากกรรมราคาข้าวต้นฤดูตกต่อเนื่อง ในด้านของการส่งออกก็เผชิญปัญหาเช่นเดียวกัน คาดว่าจะไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ที่ 6.5 ล้านตัน การที่ค่าเงินบาทแข็งค่ามากกว่าคู่แข่ง ทำให้ราคาข้าวไทยสูงกว่าเวียดนาม การแพร่ระบาดของโควิด 19 กระทบกำลังซื้อผู้บริโภคในต่างประเทศ และปัญหาภัยแล้งทำให้ผลผลิตข้าวลดลง เป็นปัญหาที่รุมเร้าในด้านการส่งออกในปีนี้

การตกต่ำของอุตสาหกรรมข้าวไทย ส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ ตั้งแต่ผู้ส่งออกข้าว โรงสี สถาบันการเงิน และชาวนาซึ่งเป็นกระดูกสันหลังของประเทศ ที่ผมเป็นห่วงมากคือชาวนา 4.5 ล้านครัวเรือน ที่มีภาระหนี้ครัวเรือนที่สูงมากทุกข์ของชาวนาคือทุกข์ของแผ่นดิน ถ้าไม่รีบสุมหัวกันแก้ไข ปัญหาสังคมที่รุนแรงจะตามมาอย่างแน่นอน

วิกฤติกำลังจะมาถึงแล้วครับ จากการที่ได้พบปะพูดคุยทั้งผู้ประกอบการส่งออก โรงสีข้าวหลายรายมีรายละเอียดที่น่าสนใจ ติดตามตอนต่อไปนะครับ..