อาชญากรรมคอมพิวเตอร์ ที่คุกคามเยาวชน

อาชญากรรมคอมพิวเตอร์ ที่คุกคามเยาวชน

สถิติจาก INTERPOL ระบุเยาวชนทั่วโลกกว่า 65,000 คน เป็นผู้เสียหายจากการเผยแพร่ภาพลามกอนาจารบนเว็บไซต์ เป็น "อาชญากรรมคอมพิวเตอร์"

 สภาความมั่นคงแห่งชาติให้คำจำกัดความ “อาชญากรรมข้ามชาติ” ว่าคือ การกระทำขององค์กรหรือกลุ่มบุคคล สมคบ และร่วมมือกระทำความผิดความผิดตามกฎหมายอันต่อเนื่องจากประเทศหนึ่งไปยังอีกประเทศหนึ่ง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อมุ่งแสวงหาผลประโยชน์และอำนาจที่ขัดต่อหลักกฎหมายและศีลธรรม ส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์และความมั่นคงในวงกว้าง

องค์การสหประชาชาติแบ่งอาชญากรรมข้ามชาติออกเป็น 10 ประเภทได้แก่

(1) การลักลอบค้ายาเสพติด

(2) การลักลอบนำคนเข้าเมืองผิดกฎหมาย

(3) การค้าอาวุธ

(4) การลักลอบค้าอาวุธนิวเคลียร์

(5) กลุ่มองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติและการก่อการร้าย

(6) การค้าหญิงและเด็ก

(7) การลักลอบค้าชิ้นส่วนมนุษย์

(8) การโจรกรรมและการลักลอบค้ายานพาหนะ

(9) การฟอกเงิน 

(10) การกระทำอื่น ๆ เช่น การติดสินบนเจ้าหน้าที่และข้าราชการ และอาชญากรรมคอมพิวเตอร์ เป็นต้น

จากความหมายและประเภทดังกล่าว สรุปได้ว่า “อาชญากรรมคอมพิวเตอร์”  ก็ถือเป็นอาชญากรรมข้ามชาติอย่างหนึ่งที่ใช้สื่อสารสนเทศเป็นเครื่องมือจึงยากต่อการปราบปรามและส่งผลต่อโครงสร้างสังคมหากเหยื่อ คือ “เยาวชน”   สถิติจาก “INTERPOL” แสดงให้เห็นว่าเยาวชนทั่วโลกกว่า 65,000 คน เป็นผู้เสียหายจากการเผยแพร่ภาพลามกอนาจารบนเว็ปไซต์เป็นอาชญากรรมคอมพิวเตอร์ ในรูปแบบ “การใช้คอมพิวเตอร์เผยแพร่ภาพนิ่งหรือภาพเคลื่อนไหว ลามกอนาจาร รวมถึงข้อมูลที่มีผลกระทบทางลบต่อวัฒนธรรมของแต่ละสังคม ตลอดจนข้อมูลที่ไม่สมควรเผยแพร่” ซึ่งประเทศไทยไม่มองว่าเป็นปัญหาสำคัญ แม้ “ปฏิญญาอาเซียน” มีข้อตกลงระบุว่าประเทศไทยต้องสร้างหน่วยงานกลางจัดการอาชญากรรมที่เข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ทางเพศจากเด็ก

แต่ถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีหน่วยงานใดเข้ามาและปล่อยให้เป็นไปตามกระบวนการยุติธรรมเฉกเช่น “อาชญากรรมทั่วไป” ผ่านประมวลกฎหมายอาญา “มาตรา 397 การกลั่นแกล้งให้เดือดร้อนรำคาญ” “มาตรา 326 หมิ่นประมาท” “มาตรา 393 การดูหมิ่น” มีเพียง “มาตรา 287/2 การเผยแพร่ภาพลามกอนาจารเด็ก” เท่านั้นที่พูดถึงการกระทำความผิดต่อเยาวชนอันส่งผลเป็นอาชญากรรมข้ามชาติ แม้ว่าจะสามารถใช้ประกอบกับ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ เพื่อขยายความรับผิดไปยังการกระทำผ่านระบบคอมพิวเตอร์และเรียกร้องค่าทดแทนผ่าน มาตรา 423 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ อันเป็นความเสียหายจากการถูกดูหมิ่น เกลียดชัง แต่ก็ยังไม่มีหน่วยงาน หรือกระบวนการเอาผิดในการกระทำดังกล่าวโดยตรง

แท้จริงแล้วพฤติกรรมตามความผิดเหล่านี้ เป็น “พฤติกรรมก่อความรุนแรงบนอินเทอร์เน็ต” ที่ถือเป็น “อาชญากรรมคอมพิวเตอร์” ที่สามารถแบ่งลักษณะได้ชัดเจน คือ

  1. Cyber bullying: การกลั่นแกล้งโดยอาศัยเทคโนโลยีสารสนเทศร่วมกับการบริการอินเทอร์เน็ต โดยแสดงออกถึงความก้าวร้าว ผ่านทางภาวะความไม่สมดุลทางอำนาจระหว่างผู้กระทำกับผู้ถูกกระทำ โดยมักจะมาในรูปแบบของการล่วงละเมิดทางวาจาหรือจิตใจ
  2. Cyber stalking: การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในการคุกคาม ทำให้ผู้ถูกกระทำรู้สึกหวาดกลัวไม่ปลอดภัย อันเป็นความผิดทางกายภาพ เช่น การสะกดรอยตาม การตามรังควาน
  3. Cyber harassment: การหลอกลวงให้ “น่าเชื่อได้ว่าจะเกิดขึ้นจริง” โดยใช้สื่อสารสนเทศเป็นเครื่องมือ เช่น การโทรไปแจ้งเหตุร้ายยังเจ้าหน้าที่โดยที่ไม่มีมูลความจริง
  4. Sextortion: การกรรโชกทางไซเบอร์ โดยผู้กระทำมุ่งหวังผลประโยชน์จากเหยื่ออันเป็นการปฏิบัติการหรือตอบสนองความต้องการทางเพศ เช่น ส่งภาพเปลือยหรือลามกอนาจารมาให้ หรือแสดงกิจกรรมทางเพศให้ดูหรือข่มขู่ว่าหากไม่ปฏิบัติตามผู้กระทำจะเปิดเผยข้อมูลอันเป็นภาพที่น่าอับอายทางเพศต่อบุคคลอื่น
  5. Nonconsensual pornography: เป็นการกระทำที่ใกล้เคียงกับ sextortion แตกต่างที่เกิดขึ้นด้วยความยินยอมของบุคคลผู้ถูกกระทำ แต่นำไปเผยแพร่ต่อโดยไม่ได้รับความยินยอม มักเกิดกับบุคคลที่มีความสัมพันธ์อันดีมาก่อน เช่น คู่รักเก่า หรือเพื่อนสนิท

จะเห็นได้ว่าการกระทำผิดผ่านพฤติกรรมเหล่านี้มีลักษณะเป็นการเฉพาะโดยอาศัยเทคโนโลยีสารสนเทศในการก่อความเสียหาย มุ่งเน้นไปที่ความต่างบางอย่างของผู้ถูกกระทำ และการเป็นผู้ใช้บริการสารสนเทศของผู้ถูกกระทำเป็นหลัก ผลกระทบจึงมีความหลากหลายและส่งผลระยะยาวเมื่อเกิดกับเยาวชน

ประเทศที่พัฒนาแล้วจึงพยายามแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างดังกล่าว โดยการมีกฎหมายบังคับใช้คุ้มครองผ่านกระบวนการเป็นกรณีเฉพาะ อาทิ สหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย และสิงคโปร์

  1. สหราชอาณาจักร: แม้ยังไม่มีกฎหมายเกี่ยวกับการกระทำผิดออนไลน์เป็นบทเฉพาะ แต่ก็สามารถนำกฎหมายที่มีอยู่มาปรับใช้กับการกระทำทั้งสองรูปแบบ (กายภาพและออนไลน์) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยกำหนดเจ้าหน้าที่รับผิดชอบที่ชัดเจนผ่านกฎหมาย อาทิเช่น The Protection from Harassment Act 1997, Communications Act 2003, Malicious Communications Act 1988, Crime and Disorder Act 1988 และ Public Order Act 1986 ซึ่งได้กำหนดรูปแบบแห่งการกระทำที่เป็นความผิด วิธีการคุ้มครอง และสิทธิที่แตกต่างไปตามสถานะที่ชัดเจน ส่งผลถึงการบังคับใช้ที่ครอบคลุม
  2. ออสเตรเลีย: ได้จัดตั้งคณะกรรมการเพื่อความปลอดภัยของเด็กภายใต้ พ.ร.บ. ว่าด้วยความปลอดภัยของเด็กในโลกออนไลน์ (The Enhancing Online Safety for Children’s Act 2015) เพื่อใช้ควบคุมสื่อออนไลน์ ด้วยกลไกรับรายงานการละเมิดจากผู้มีส่วนได้เสีย และขอความร่วมมือจากผู้ให้บริการให้ถอดหรือลบข้อมูลที่เข้าข่ายเป็นความผิดต่อเด็กออกจากระบบ โดยการสร้างเครือข่ายพันธมิตรกับผู้ให้บริการสื่อออนไลน์ขนาดใหญ่ เพื่อให้เกิดผลบังคับใช้ได้จริง
  3. สิงคโปร์: เป็นประเทศในภูมิภาคอาเซียนที่ตื่นตัวกับการคุ้มครองเยาวชนจากการกระทำความผิดรูปแบบนี้มากที่สุดโดยประกาศใช้ Protection from Harassment Act 2014 ที่กำหนดให้การกลั่นแกล้ง การตามรังควาน การคุกคามล่วงละเมิด หรือการคุกคามทางเพศที่กระทำต่อเด็กและเยาวชน ไม่ว่าจะเกิดขึ้นในทางกายภาพ หรือออนไลน์เป็นความผิดทางอาญาเป็นการเฉพาะ อีกทั้งยังมีแนวทางการเยียวยาให้กับเหยื่อด้วยการร้องขอให้ศาลออกคำสั่งคุ้มครองให้ผู้กระทำยุติการกระทำนั้น ซึ่งครอบคลุมไปยังบุคคลอื่น ๆ ที่ได้รับข้อมูลดังกล่าวผ่านการทำซ้ำหรือแพร่กระจายออกไป โดยการให้ลบและเยียวยาค่าทดแทน

จากตัวอย่างการดำเนินการของทั้งสามประเทศข้างต้นแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นที่จะแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นกับเยาวชนในเชิงโครงสร้างของประเทศดังกล่าวผ่านการปรับเปลี่ยนกรอบการบังคับใช้กฎหมายให้เป็นไปตามพลวัตของการกระทำความผิด ซึ่งผู้เขียนหวังว่าในอนาคตอันใกล้ ประเทศไทยจะมีความจริงจังในการแก้ปัญหาดังกล่าวเพื่อให้เป็นไปตาม “ปฏิญญาอาเซียน” ต่อไป.

*บทความโดย ว่องวิช ขวัญพัทลุง คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์