ถ้าเราไม่คิดว่าเราฉลาดกว่าเขา หรือมีใครโง่กว่าเรา

ถ้าเราไม่คิดว่าเราฉลาดกว่าเขา หรือมีใครโง่กว่าเรา

การอภิปรายทั่วไป เพื่อรับฟังข้อเสนอแนะในการบริหารราชการแผ่นดินโดยไม่มีการลงมติ ได้ผ่านพ้นไปด้วยความน่าตื่นเต้น

เพราะมีหลายเหตุการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นในรัฐสภาของไทยมาก่อน ดังที่นายกรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้กล่าวในการแถลงข่าววันรุ่งขึ้นภายหลังเข้าร่วมประชุมที่รัฐสภา ผลพวงของการเปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญ ได้มีแนวทางหรือที่บางคนเรียกว่า “ทางออก” อยู่หลายเรื่อง ที่เห็นเด่นชัดในส่วนของ สส ฝ่ายรัฐบาล วุฒิสภา และ ครม น่าจะเป็นเรื่องของการตั้ง คณะกรรมาธิการสมานฉันท์ (ที่ประเทศไทยเราตั้งกันมาหลายชุดแล้ว ขอเรียนตามตรงว่า โอกาสประสบความสำเร็จมีน้อยมาก แต่ก็ดีกว่าไม่ทำอะไรเลย) การที่กล่าวเช่นนี้ เพราะสังคมไทยยังยึดติดกับความเป็น “ตัวตน (อัตตา)” และยังมีเรื่องของสมัครพรรคพวก จึงมักนำไปสู่ภาวะสุญญากาศ (ล่องลอยเคว้งคว้าง หาทางออกไม่ได้)

คติที่ถือว่า ถ้าเป็นพวกฉัน ญาติฉัน คนของฉัน ทำอะไรถูกไปหมด แต่ถ้าคนนอกกลุ่มไม่ใช่เพื่อนไม่ใช่พวก ไม่ใช่คนที่รักใคร่นับถือกัน ทำถูกก็อาจกลายเป็นผิดได้ นับเป็นเรื่องอันตราย ด้วยเหตุผลประการหนึ่งพ้องกับชื่อเรื่องในวันนี้ที่ขยายความได้ว่า “ถ้าเราไม่คิดว่าเราฉลาดกว่าคนอื่น หรือคิดไปว่า คนอื่นนั้นโง่เชลาเบาปัญญา” แล้วไซร้ ประเทศไทยจะน่าอยู่และมีอัตราการเจริญเติบโตและพัฒนาไปมากกว่านี้แน่นอน”  

ทุกวันนี้เป็นเรื่องน่าเสียดายที่แม้เราจะมี “คนดี คนเก่ง” อยู่ไม่น้อย แต่เรามีโอกาสใช้คนเหล่านี้ได้เพียงราวๆ ครึ่งเดียวของจำนวนที่มีอยู่ เพราะถ้าเมื่อใดพวกฉันขึ้นมามีอำนาจ คนดี คนเก่ง ของฉันคือพวกของฉัน ขีดวงไว้เพียงนั้น คนอื่นจะดีหรือเก่งเพียงใดล้วนกระเด็นหายไปในฉับพลัน ดูตัวอย่างเวลาโยกย้ายแต่งตั้งตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการ หรือเมื่อใดมีการปรับเปลี่ยนตำแหน่งของฝ่ายบริหาร ทุกคนต้องมี “ทีมงาน” ต้งแต่เลขานุการ หน้าห้อง เจ้าหน้าที่ประจำสำนักงาน ฯลฯ ถ้าถามว่า แล้วฝรั่งไม่ทำเช่นนี้หรือ คำตอบชัดเจนว่า ทำไม่แพ้เรา อีกไม่นานถ้าประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐเปลียนจากทรัมป์เป็น “โจ ไบเดน” องคาพยพหรือการจัดคณะผู้ช่วยกิจการของประธานาธิบดีก็ต้องปรับเปลี่ยนตั้งแต่หัวแถวถึงท้ายแถว

แต่ฝรั่งอาจมีข้อดีตรงที่คนส่วนใหญ่ยังยึดติดกับคำว่า “มืออาชีพ” ในความหมายตามบริบทของผม คือ คนส่วนใหญ่มีความเชี่ยวชาญมีทักษะในอาชีพการงานที่เป็นงานวิชาชีพของตนมาก่อนเข้าสู่สนามการเมือง หรือเข้าสู่อำนาจ  กระบวนการเข้าสู่อำนาจทางการเมือง จะต่างกับบ้านเราที่ไม่ค่อยมีมากนักที่จะมีใครกระโดดข้ามชั้นจากคนไม่รู้ที่มาที่ไปเข้ามามีอำนาจหรือเป็นที่ยอมรับได้แบบแปลกๆ เหมือนในบ้านเราที่บางที ลูกหลานใครเข้าประกวดร้องเพลง พ่อแม่ผู้ปกครองเด็กยังส่งไลน์ส่งข้อความมาให้ช่วยโหวต เรียกว่า ความเก่ง ความดี อาจไม่เท่ากับว่าเรารู้จักใคร

ผมเขียนมาไม่อยากให้ท่านทั้งหลายท้อแท้หมดกำลังใจ แต่อยากให้คำแนะนำกับผู้ที่คิดจะปฎิรูป เปลี่ยนแปลงอะไรในสังคมของเราคำนึงถึงข้อจำกัดเหล่านี้ไว้ด้วย เพราะในกลุ่มของพวกคนที่คิดจะเปลี่ยนแปลงแก้ไข โน่นนี่ ก็ใช้คติเดียวกันกับที่ผมกล่าวถึง

ผมจำได้แม่นยำว่า มีนักวิชาการอย่างน้อยๆ สองท่านให้เกียรติผมกับศาสตราจารย์อีกท่านหนึ่งในวันที่รับตำแหน่งเป็นกรรมการร่างรัฐธรรมนูญว่า “การที่ คสช เลือกผมกับศาสตราจารย์ฯ ท่านนั้น แสดงว่า คสช หาใครไม่ได้แล้ว” ซึ่งผมประทับใจและถึงข้นเก็บบันทึกชื่อนักวิชาการทั้งสองท่านไว้เป็นอุทาหรณ์ว่า นี่คือความจริงในสังคมของเรา สิ่งที่นักวิชาการทั้งสองท่านนี้พูดแปลเป็นภาษาชาวบ้านได้ง่ายๆ ว่า “ ผมกับศาสตราจารย์ฯ ท่านนั้นน่าจะเทียบไม่ได้กับคนที่ท่านทั้งสองนี้เคารพเชื่อถือ เป็นพวกของท่าน หรือแม้แต่อาจคิดไปถึงขนาดว่า ฉันก็เก่งกล้าสามารถทำไมไม่เชิญฉันเข้าไป

อาจเป็นตัวอย่างการเปรียบเทียบที่ตีความไปในทางตามความประสงค์ของผู้เขียน แต่เป็นไปตามฐานคิดและประสบการณ์ส่วนตัวจึงประเมิน “ตัวตน” ของนักวิชาการที่กล่าวถึง  ไปตามที่ผมรู้จักและเคยสัมผัสใกล้ชิด เช่น การขึ้นเวทีสัมมนาอภิปรายร่วมกัน (แต่บางทีเจ้าตัวอาจลืมไปแล้ว เพราะเขาคงไม่ให้ความสำคัญในการมาจดจำผม)

จึงเห็นด้วยกับสิ่งที่ท่านนายกรัฐมนตรีฯ  ได้กล่าวไว้ในขณะอภิปรายสรุปที่เพิ่งผ่านพ้นไปทำนองว่า “รัฐบาลสนับสนุนแนวทางการตั้งคณะกรรมการหลายฝ่าย แต่น่าคิดว่า ฝ่ายที่ต่อต้านรัฐบาลใครจะเป็นตัวแทนเข้าร่วมการพูดคุย เพราะมีการประกาศชัดเจนให้ทุกคนผู้ชุมนุมเป็นแกนนำ” ฟังดูอาจคล้ายเป็นการกล่าวติดตลกของท่านนายกรัฐมนตรี แต่ผมเห็นเป็นจริงเช่นนั้นเช่นเดียวกัน

และจากการเฝ้าติดตามการอภิปราย จะเห็นท่าทีของฝ่ายค้านบางกลุ่มได้ชัดเจนทั้งภาษา ท่าทาง อากัปกริยา ในทุกครั้งที่นายกรัฐมนตรีลุกขึ้นพูด กระทั่งนายกรัฐมนตรีได้กล่าวในช่วงหนึ่งว่า “เข้าใจที่ผมพูดนะ ฝั่งนี้เข้าใจ อีกฝั่ง …….” ที่เว้นไว้คงน่าจะเข้าใจได้ว่า นายกรัฐมนตรีได้สังเกตเห็นในสิ่งที่ผมเห็น ซึ่งเป็นวิธีการของฝ่ายที่เห็นต่างมักปฎิเสธไม่ยอมรับแทบในทุกสิ่งที่ฝ่ายตรงข้ามเสนอมา ไม่ว่าจะเป็นคำแนะนำ ทางออกต่างๆ ยิ่งผนวกกับความเกลียดชังที่ค้นพบได้ผ่าน อากัปกริยา ภาษาท่าทาง ที่ได้กล่าวข้างต้น จึงชัดเจนว่า โอกาสที่เราจะได้พบกับข้อยุติหรือได้รับแนวทางการแก้ปัญหาที่มีความเป็นรูปธรรมคงยากยิ่ง แต่หากไม่ทำอะไรเลย ปล่อยให้เวลาแก้ปัญหาด้วยตัวของมันเอง ก็สุ่มเสี่ยงที่หากมีผู้ไม่หวังดีฉกฉวยโอกาสสร้างสถานการณ์ต่างๆ ย่อมมีความจำเป็นที่จะต้องเลือกหนทางดึงทุกฝ่ายเข้าสู่โต๊ะหรือเวทีในการพูดคุยสนทนาร่วมกัน