ความจำเป็นทั้งสามกับการยกเครื่องประเทศไทย

ความจำเป็นทั้งสามกับการยกเครื่องประเทศไทย

วันนี้เราเกือบลืมเรื่อง “เมื่อไหร่ประเทศไทยจะออกจากกับดักรายได้ปานกลาง” ไปเลย

สถานการณ์โควิด ทำให้หลายคนต้องเปลี่ยน จากแนวคิดจาก เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน (Competitiveness)  มาเป็น เพื่อการอยู่รอด (Survivability) และ การพึ่งพาตนเอง (Self-Sustainability) มากขึ้น อย่างไรก็ตาม ก็อดห่วงไม่ได้ สำหรับ “การพัฒนาตามกระแส” ซึ่งแปรไปตามนโยบายที่เปลี่ยนไปตามการมุ่งเน้นในแต่ละช่วงเวลาของแต่ละรัฐบาลหรือแต่ละคณะรัฐมนตรี  จนลืมการพัฒนาที่เป็นรากฐาน

               รายงานจากหลายแห่งสะท้อนว่า เศรษฐกิจหลังสถานการณ์โควิด น่าจะเริ่มฟื้นตัวในปีหน้า โดยที่ประเทศจีนกับเวียดนามน่าจะฟื้นตัวได้ดีที่สุด ส่วนประเทศไทยเรา จะฟื้นตัวช้าหรือเร็วก็ขึ้นกับการจัดการผลกระทบเนื่องจากการว่างงาน และ การล้มของธุรกิจน้อยใหญ่ในช่วงนี้ รวมถึงความสามารถที่จะจัดการความวุ่นวายของการเมืองที่เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ โดยไม่มีท่าทีว่าจบลงอย่างไร หรือ เมื่อใด และ การจัดการความเสี่ยงของการระบาดซ้ำของโรคโควิด ที่เริ่มมีผู้ติดเชื้อภายในประเทศมาบ้างแล้ว 

               จากรายงานการสำรวจและประเมินเศรษฐกิจของประเทศไทยล่าสุด ขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organization for Economic Co-operation and Development หรือ OECD) การเติบโตทางเศรษฐกิจ ของปี 2020 ติดลบ 6.9% และจะปรับขึ้นเป็นบวก ในปี 2021 3.5% ของ GDP การว่างงานจะเพิ่มขึ้นจาก ราวๆ 1.0-1.2% เป็น 2.9% ในปี 2020 นี้แต่จะดีขึ้นเล็กน้อยในปี 2021 เป็น 2.5% ส่วนหนี้สาธารณะจะขึ้นจาก ราวๆ 41-42% ของปีที่ผ่านมาเป็น 50% ในปี 2020 นี้และ 56% ในปี 2021 

               มีข้อสังเกตที่สำคัญหลายอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การที่จะทำให้ประเทศไทย กลับไปเติบโตเช่นเดิม ออกจากกับดักรายได้ปานกลางและเข้าสู่ประเทศที่พัฒนา สะท้อนออกมาเป็นกรอบนโยบาย “ความจำเป็นทั้งสาม”

  1. ความจำเป็นที่จะดำรงซึ่งเสถียรภาพทางเศรษฐกิจเชิงมหภาค (Macroeconomic Stability)
  2. ความจำเป็นที่จะต้องทำการปฏิรูปกลไกและกระบวนการต่างๆในการจัดการทรัพยากรของรัฐอย่างมี นัยสำคัญและทันการ (Substantial Structure Reforms)
  3. ความจำเป็นที่จะต้องส่งมอบการพัฒนาและโอกาสอย่างทั่วถึง (Inclusive Development)

               ในระยะสั้น เป็นที่รู้กันแล้วว่า นโยบายทางด้านการเงินและการคลังต้องเป็นพระเอก พร้อมกันกับด้านสาธารณสุขและการแพทย์ แต่ในระยะกลางที่จะมาถึงนี้ ความท้าทายอยู่ที่การเคลื่อนคนออกจากกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบสูง เช่น ภาคท่องเที่ยว ไปสู่กลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจอื่นๆที่มีอุปสงค์ชัดเจน เช่น ภาค เกษตรและอาหาร เป็นต้น การสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจเชิงมหภาคจึงเป็นธงที่สำคัญเพื่อจะนำไปสู่การเติบโตในระยะยาว ซึ่งถ้าประเทศทำได้ดี เสถียรภาพทางเศรษฐกิจก็เกิดขึ้นได้ วันนี้หลายพื้นที่น่าจะได้เรียนรู้ว่า เสถียรภาพและความมั้นคงมีความสำคัญกว่าการเติบโตแบบเร่งด่วนและพิ่งพาตนเองไม่ได้

               แต่อย่างไรก็ตาม ในระยะกลางและระยะยาว เราไม่สามารถที่จะหยุดที่จะลงทุนได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภาคโครงสร้างพื้นฐานเขียว (Green Infrastructures)  ภาคทรัพยากรมนุษย์ (Human Capital) และภาคดิจิตอล (Digitalization) เพื่อนำไปสู่การปฏิรูปเชิงโครงสร้าง (Substantial Structure Reforms) และ การพัฒนาอย่างทั่วถึง (Inclusive Development)

 

               โดยส่วนตัวมองว่า หากการลงทุนในภาคต่างๆเหล่านี้ไม่ทันหรือไม่ถูกต้อง เราจะเสียโอกาสที่จะแข่งขัน และหรือโอกาสที่จะเติบโตอย่างยั้งยืน แม้ว่ากรอบการลงทุนทั้งสามด้านนี้ควรลงทุนอย่างสอดคล้องกัน แต่ถ้าให้เลือกออกมาหนึ่งด้าน ด้านที่โดดเด่นที่สุด อยู่ที่ประเด็น “ทุนมนุษย์ของประเทศ”

               วันนี้เราลงทุนในภาคการศึกษาประมาณ 4% ของ GDP ซึ่งเป็นสัดส่วนที่ไม่น้อย ซึ่งเป็นรองแค่ มาเลเซีย และ เวียดนาม เท่านั้นในภูมิภาคอาเซียน แต่ คะแนน PISA ของประเทศไทย มีภาวะถดถอย อย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้าน การอ่าน (PISA เป็นชื่อย่อของ Programmed for International Student Assessment เป็นเป็นเกณฑ์สากลหนึ่งเท่านั้น  ในการประเมินคุณภาพของระบบการศึกษา โดยเฉพาะ ด้านการอ่าน คณิตศาสตร์ และ วิทยาศาสตร์) จากข้อมูล ปี 2018 ในอาเซียน เรามีคะแนนต่ำกว่า สิงคโปร์ เวียดนาม และ มาเลเซีย

               ความฉลาดรู้ทั้งสามด้านนี้ ถือว่าเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการเรียนรู้ตลอดชีวิต ซึ่งมีผลต่อความสามารถในการปรับตัวและโอกาสที่จะอยู่รอดในโลกยุคใหม่  ถ้าอ่านไม่เป็น คิดเลขไม่ได้ วิทยาศาสตร์ไม่รู้ โอกาสที่จะปรับหรือยกทักษะ (Upskill Reskill) ก็ต่ำลง ยกตัวอย่างของกรณี คะแนน PISA ของประเทศไทยสะท้อนให้เห็นถึง ประสิทธิภาพและประสิทธิผลของกล่องดำที่เรียกว่า “ระบบการพัฒนามนุษย์ของประเทศ” ซึ่งประกอบด้วย ส่วนต่างๆที่มากกว่า ระบบการศึกษา

               ภาพสะท้อนความคิดของสังคม ในเรื่อของการยกเครื่องปฏิรูป หรือ พัฒนาเรื่องการศึกษา เริ่มชัดขึ้น จากการแสดงควาจำนงของผู้เข้าร่วมงานที่หย่อนลูกบอล ลงในช่องที่อยากให้ ภาษีไปไหน ? ภายในงาน iTAX 2020 เทศกาลลดหย่อนภาษีประจำปี ที่ เมกาบางนา ชั้น 1 ลาน Fashion Galleria คือ เรื่องการศึกษา และ เรื่องอื่นๆ  

               การปฏิรูประบบนี้ “ระบบการพัฒนามนุษย์ของประเทศ” ซึ่งถ้าเราทำได้ โอกาสที่ประเทศไทยจะเติบโตและไม่ล้าหลังประเทศเพื่อนบ้านก็มีความเป็นไปได้สูงมาก

               ความจำเป็นทั้งสาม เป็นโจทย์ที่สำคัญ ที่ไม่ใช่แค่ของผู้ปกครองแต่เป็นของประชาชนทุกคนที่ยังมีความหวังต่อประเทศนี้ สมดุลระหว่างเสถียรภาพ การปฏิรูป และการพัฒนาที่ทั้วถึง จำเป็นต้องถอดออกมาเป็น ยุทธการที่ปฏิบัติได้  เสถียรภาพเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าไม่มีการปฏิรูปอย่างจริงจัง การปฏิรูปก็เกิดไม่ได้ถ้าไม่มีการพัฒนาและมีส่วนร่วมที่ทั้วถึง การพัฒนาที่ทั้วถึงก็ไม่สามารถเกิดถ้าไม่มีเสถียรภาพ