โอกาสทำงานต่อ หลังเรียนจบอังกฤษ

โอกาสทำงานต่อ  หลังเรียนจบอังกฤษ

โรงเรียนและมหาวิทยาลัยทั่วโลกประสบปัญหางบประมาณ เนื่องจากนักศึกษาต่างชาติลดลงจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 เช่นเดียวกับ "สหราชอาณาจักร"

สหราชอาณาจักรซึ่งถือเป็นจุดหมายในการศึกษาต่อของนักศึกษาทั่วโลกก็ประกาศใช้นโยบาย The (new) Graduate Route ที่อนุญาตให้นักศึกษาต่างชาติที่กำลังจบการศึกษาในปีหน้า คือ ค.ศ. 2021 เป็นต้นไปนั้น สามารถหางานทำและพำนักอย่างถูกกฎหมายภายในประเทศได้เป็นระยะเวลา 2-3 ปี

แท้จริงแล้วนโยบายนี้เกิดขึ้นก่อนการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด โดยมีจุดประสงค์เพื่อดึงดูดนักศึกษาจบใหม่ผู้มีทักษะและความสามารถสูง โดยเฉพาะความสามารถเฉพาะทาง เช่น ทางการแพทย์ และวิทยาศาสตร์ เข้าสู่ตลาดแรงงานของประเทศหลังจากที่ประเทศตัดสินใจออกจากกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป

นโยบาย The (new) Graduate Route เปิดโอกาสให้นักศึกษาที่จบทั้งป.ตรีและโท สามารถพำนักและหางานใหม่ในประเทศได้ถึง 2 ปี และเปิดให้นักศึกษาที่จบป.เอก ได้ทำงานต่อถึง 3 ปี โดยนโยบายใหม่นี้จะเริ่มใช้สำหรับนักศึกษาที่จบการศึกษาในช่วงหน้าร้อนของปี ค.ศ. 2021 หรือพูดง่ายๆว่า หากบุตรหลานของท่านกำลังเรียนป.โทหรือป.ตรี อยู่ที่อังกฤษในขณะนี้ ก็จะมีสิทธิในการขอวีซ่านี้

นโยบายนี้โดยแท้จริงคือ หนึ่งในกลยุทธ์ที่สหราชอาณาจักรใช้เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการสร้างรายได้จากอุตสาหกรรมการศึกษาซึ่งเป็นที่หัวจักรหลักในการดึงเม็ดเงินเข้าประเทศ โดยรัฐบาลตั้งเป้ารายรับจากอุตสาหกรรมนี้ถึง 35,000 ล้านปอนด์ หรือ 1.4 ล้านล้านบาท และมุ่งเพิ่มจำนวนนักศึกษาต่างชาติจากเดิมที่แตะระดับ 5 แสนคนต่อปีเป็น 6 แสนคนต่อปี หรือเพิ่มขึ้นเกือบ 20% ภายในปี ค.ศ. 2030

จำนวนนักเรียนต่างชาติในอังกฤษนั้นถือได้ว่าเป็นหนึ่งในหัวจักรในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ เพราะนอกเหนือจากค่าเทอมและค่าธรรมเนียมทางการศึกษาต่างๆแล้ว นักเรียนต่างชาติยังต้องเสียค่าวีซ่า ค่ากินอยู่และเที่ยวในอังกฤษ ทั้งนี้ยังไม่รวมถึงค่าใช้จ่ายในการเตรียมการและการเรียนภาษาอังกฤษ

หากมาดูที่ตัวเลขสถิติของจำนวนนักศึกษาต่างชาติในอังกฤษ จะพบว่านักศึกษาต่างชาตินั้นมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี ค.ศ. 2000 จาก 2 แสนคน จนปัจจุบันที่ได้เพิ่มจำนวนเกินเท่าตัวที่ 485,645 คน (ปีการศึกษา 2019) ซึ่งนักศึกษาในจำนวนเกือบครึ่งล้านนี้ เป็นนักศึกษาที่มาจากทวีปยุโรป 30% ที่ 143,025 คน และที่เหลือ 70% หรือ 342,620 คนนั้นมาจากทวีปอื่นๆ

หากจะโฟกัสลงมาอีกนิดเพื่อให้เราเห็นภาพว่า นักศึกษาไทยนั้นอยู่ในจุดไหนของสมการนี้ จำเป็นต้องแตกตัวเลขลงไปจากนักศึกษาต่างชาติที่ไม่ได้มาจากยุโรป ซึ่งจะพบว่า อันดับหนึ่งนั้นคือนักศึกษาจากจีน ที่จำนวนถึง 120,385 คน ซึ่งถือว่าเยอะที่สุด จึงไม่น่าแปลกใจที่จะพบว่าในชั้นเรียนโดยเฉพาะห้องเรียนในระดับ ป.โทนั้นมีนักศึกษาจีนอย่างน้อยก็ 1 ใน 4 ของห้อง

รองจากนักศึกษาจีนแล้ว ก็ยังมีนักศึกษาจากอินเดีย และสหรัฐที่ระดับ 2 หมื่นกว่าคน แล้วจึงไล่ลงมาที่ฮ่องกงและมาเลเซียที่ระดับ 1 หมื่นคน ขณะที่จำนวนนักศึกษาจากไทยนั้นอยู่ในระดับต่ำลงมารองจากที่กล่าวมาแล้วในระดับจำนวนพันปลายๆ ซึ่งใกล้เคียงกับประเทศอย่างไนจีเรีย ซาอุฯ สิงค์โปร์ และแคนาดา

หากพิจารณาข้อมูลในเชิงคุณภาพก็จะพบว่า นักศึกษาต่างชาตินิยมมาศึกษาด้านบริหารธุรกิจ โดยมีจำนวนมากกว่า 25% ขณะที่สาขาวิชาที่เหลืออันเป็นที่นิยมก็อยู่ในแขนงสาขาวิชาทางสังคม ศิลปะ และการแพทย์

การใช้ The (new) Graduate Route เพื่อเป็นจุดขายให้นักศึกษาต่างชาติสนใจและมาเรียนที่อังกฤษเพิ่มขึ้นนั้น แท้จริงคือหนึ่งในกลยุทธ์ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหาเงินเข้าประเทศ โดยอาศัยความนิยมต่อระบบการศึกษาและชื่อเสียงของมหาวิทยาลัยในอังกฤษ ซึ่งมหาวิทยาลัยและกระทรวงศึกษาไทยสามารถเรียนรู้และต่อยอดได้ เพราะชื่อเสียงและคุณภาพของมหาวิทยาลัยไทยก็ไม่ได้ด้อยกว่าใครในภูมิภาค