'สินทรัพย์ดิจิทัล' และประเภทธุรกิจที่เพิ่มขึ้น

'สินทรัพย์ดิจิทัล' และประเภทธุรกิจที่เพิ่มขึ้น

นับตั้งแต่ปี 61 ที่มี พ.ร.ก.การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล เพื่อกำกับดูแลผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลประเภทต่างๆ

ปรากฏว่ามีผู้ได้รับใบอนุญาตจากภาครัฐในการประกอบธุรกิจแล้วจำนวนหนึ่ง และในปี 63 นี้ ได้มีการปรับปรุงแนวทางการกำกับดูแลธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลผ่านประกาศกระทรวงการคลัง ซึ่งได้มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 19 ต.ค. ที่ผ่านมา บทความฉบับนี้ผู้เขียนจึงถือโอกาสนำเสนอข้อมูลในการปรับปรุงหลักเกณฑ์ดังกล่าว

        

         การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลในปัจจุบัน

         ในบริทบของกฎหมายไทย สินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset) หมายถึง คริปโทเคอร์เรนซี (คริปโท) และโทเคนดิจิทัล (โทเคน) ดังนั้น พ.ร.ก. ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลจึงมีวัตถุประสงค์ในการกำกับดูแลการประกอบธุรกิจ

ที่เกี่ยวข้องกับคริปโทและโทเคน ซึ่งได้แก่ 1) ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (Exchange) 2) นายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ (Broker) และ 3) ผู้ค้าสินทรัพย์ดิจิทัล (Dealer) ดังนั้น ก่อนการปรับปรุงหลักเกณฑ์ การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลจึงประกอบไปด้วยธุรกิจหลักที่ได้กล่าวมาในข้างต้น

         

         ประเภทธุรกิจน้อยกว่าเมื่อเทียบกับธุรกิจหลักทรัพย์       
         ในเชิงเปรียบเทียบ สังเกตได้ว่า ประเภทธุรกิจที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลไม่หลากหลายเท่ากับกรณีการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ กล่าวคือ ในการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ อาจมีผู้ประกอบธุรกิจอื่น ๆ
ในตลาด เช่น ธุรกิจที่ปรึกษาลงทุน ธุรกิจการจัดการกองทุน (ส่วนบุคคล/กองทุนรวม) และธุรกิจการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์

 

 

        การกำหนดผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลเพิ่มเติม
       
ดังนั้น ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การกำหนดกิจการอื่นที่เกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลให้เป็นธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลเพิ่มเติม จึงได้กำหนดเพิ่มประเภทของการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลให้รวมถึง ธุรกิจผู้จัดการเงินทุนสินทรัพย์ดิจิทัล” และ “ธุรกิจที่ปรึกษาสินทรัพย์ดิจิทัล”  อย่างไรก็ดี หากเทียบกับธุรกิจหลักทรัพย์ จะเห็นได้ว่า ไม่ได้มีการเพิ่มเติม “ธุรกิจการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ ในการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล เนื่องจาก โดยสภาพ
การเสนอขายโทเคนต้องเสนอขายผ่าน
ICO Portal ซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนที่ต้องได้รับอนุญาตในการประกอบธุรกิจจาก ก.ล.ต. ดังนั้น ICO Portal จึงทำหน้าที่จัดจำหน่ายหลักทรัพย์อยู่แล้ว ประกอบกับข้อเท็จจริงที่ว่าการให้บริการจัดจำหน่าย "สินทรัพย์ดิจิทัลมีลักษณะที่แตกต่างกับหลักทรัพย์ทั่วไป ตรงที่เป็นการให้บริการจัดจำหน่ายผ่านช่องทางดิจิทัลหรือระบบอิเล็กทรอนิกส์เป็นหลัก

 

      เหตุผลในการเพิ่มเติมผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล

      สำหรับธุรกิจผู้จัดการเงินทุนสินทรัพย์ดิจิทัล” เหตุผลหลักมาจากการที่ก่อนการปรับปรุงเกณฑ์ หากมีกองทุนส่วนบุคคลที่ประสงค์จะลงทุนใน Digital Asset เพียงประเภทเดียวทั้งกอง จะไม่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต. เนื่องจากกฎหมายยังไม่ได้เขียนระบุถึงการจัดการกองทุนส่วนบุคคลในลักษณะดังกล่าว ดังนั้น ผู้ประกอบธุรกิจจะอยู่ภายใต้เกณฑ์การกำกับเฉพาะกรณีที่ลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลร่วมกับหลักทรัพย์อื่นเท่านั้น (ซึ่งแตกต่างกับธุรกิจการจัดการกองทุนรวม ที่หากเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด สามารถลงทุนใน Digital Asset ได้) ดังนั้น
การกำหนดประเภทธุรกิจนี้เพิ่มเติม จึงเป็นการปิดช่องว่างเดิมของกฎหมาย

      สำหรับ “ธุรกิจที่ปรึกษาสินทรัพย์ดิจิทัล”มีเหตุผลในการเพิ่มเติม จากที่เดิมที ไม่ได้มีการอนุญาตให้ประกอบธุรกิจที่ปรึกษาการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งผลคือ ธุรกิจดังกล่าวทำได้อย่างเสรีปราศจากการกำกับดูแล และโดยสภาพ การให้คำปรึกษาในการลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัลมักกระทำผ่านช่องทางออนไลน์ จึงส่งผลให้เกิดการให้ข้อมูลในลักษณะที่ไม่ได้ส่งถึงบุคคลใดโดยเฉพาะเจาะจง แต่ประชาชนทั่วไปที่เข้าถึงระบบหรือช่องทางออนไลน์สามารถเข้าถึงได้โดยง่าย เผยแพร่ออกไปในวงกว้าง และอาจนำมาสู่ความเข้าใจที่ผิดพลาดคลาดเคลื่อนในเรื่องของมูลค่าและความเหมาะสมในการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลประเภทต่าง ๆ  ดังนั้น การเพิ่มเติมผู้ประกอบธุรกิจที่ปรึกษาสินทรัพย์ดิจิทัลจึงกำหนดนิยามและแนวทางในการทำธุรกิจในลักษณะเดียวกันกับการกำกับที่ปรึกษาการลงทุนในธุรกิจหลักทรัพย์ เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ในการกำกับดูแลในทิศทางเดียวกัน

      ทั้งนี้ ในทางปฏิบัติการขอรับใบอนุญาตในการประกอบธุรกิจ ธุรกิจผู้จัดการเงินทุนสินทรัพย์ดิจิทัล” และ “ธุรกิจที่ปรึกษาสินทรัพย์ดิจิทัล” จะเป็นไปในแนวทางเดียวกันกับการขอรับใบอนุญาตธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลประเภทอื่น ๆ ด้วย

 

     ข้อสังเกตเพิ่มเติมต่อกลุ่มธุรกิจทางการเงินของสถาบันการเงิน

     จากการเพิ่มเติมผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลของประกาศกระทรวงการคลังฉบับนี้ ก็อาจมีผลต่อ หนังสือเวียน เรื่องแนวทางการประกอบธุรกิจดิจิทัลของสถาบันการเงินและบริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงินของสถาบันการเงินที่ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทยในเดือน ส.ค. 61 กล่าวคือ ในหนังสือเวียนฉบับดังกล่าว ธปท. ได้กำหนดห้ามสถาบันการเงินระดมทุนในรูปแบบ ICO Issuer หรือให้บริการระบบ ICO Portal รวมถึงห้ามไม่ให้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลในรูปแบบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น 1) ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (Exchange) 2) นายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ (Broker) และ 3) ผู้ค้าสินทรัพย์ดิจิทัล (Dealer) อย่างไรก็ดี หนังสือเวียนฉบับดังกล่าว ไม่ได้ห้ามบริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงินของสถาบันการเงินที่มีหน่วยงานกำกับดูแลเป็นการเฉพาะ (เช่น บริษัทหลักทรัพย์ หรือบริษัทประกัน ที่เป็นบริษัทในกลุ่มธุรกิจของธนาคาร) ในการที่จะเป็น ICO Issuer, ICO portal, Exchange, Broker, และ Dealer

    ดังนั้น เมื่อมีการปรับเกณฑ์เพื่อเพิ่มเติมผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลให้รวมถึง ธุรกิจผู้จัดการเงินทุนสินทรัพย์ดิจิทัล” และ “ธุรกิจที่ปรึกษาสินทรัพย์ดิจิทัล” ก็อาจเปิดช่องทางให้ ธปท. ปรับปรุงหลักเกณฑ์ในหนังสือเวียนฉบับดังกล่าวเพื่อเพิ่มโอกาสให้กลุ่มธุรกิจของสถาบันการเงินสามารถประกอบธุรกิจธุรกิจผู้จัดการเงินทุนสินทรัพย์ดิจิทัล” และ “ธุรกิจที่ปรึกษาสินทรัพย์ดิจิทัล” ได้  

     ท้ายที่สุด ผู้เขียนเชื่อว่า การเพิ่มเติมประเภทธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลในครั้งนี้ เป็นการปรับปรุงกฎหมายให้ครอบคลุมและปิดช่องว่างสำหรับธุรกิจที่เคยอยู่นอกเหนือการกำกับให้ดำเนินธุรกิจอย่างถูกต้องและเหมาะสม อันจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนและนักลงทุนในที่สุด

บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน