อยู่กับวิกฤติ 'โควิด' อย่างเข้าใจและปลอดภัย

อยู่กับวิกฤติ 'โควิด' อย่างเข้าใจและปลอดภัย

ช่วงวันที่ 12-18 ต.ค.ที่ผ่านมา มีการประชุมร่วมประจำปีของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และธนาคารโลก (World Bank)

การประชุมดังกล่าวมีการจัดสัมมนาด้านเศรษฐกิจและนโยบายหลายเวทีขนานกันไปด้วย เป็นการสัมมนาออนไลน์ที่เปิดให้ผู้ที่ได้รับเชิญเข้าฟัง ซึ่งได้ประโยชน์มาก ผมได้ข้อคิดหลายอย่างจากการสัมมนาทั้งที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจโลกและประเด็นสำคัญต่อเศรษฐกิจไทย วันนี้เลยขอเขียนเรื่องนี้เพื่อแชร์ความคิดต่างๆ ให้แฟนคอลัมน์ “เศรษฐกิจบัณฑิต” ทราบ

ไอเอ็มเอฟ มองการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกจากนี้ไปว่าจะช้าใช้เวลานาน ไม่กระจายตัวและมีความไม่แน่นอนสูง ปีนี้เศรษฐกิจโลกจะหดตัวร้อยละ 4.4 ดีกว่าที่คาดไว้เดิมและจะขยายตัวร้อยละ 5.2 ปีหน้า ที่สำคัญไอเอ็มเอฟมองว่าจากการยืดเยื้อของการระบาด เศรษฐกิจโลกจะใช้เวลาอีก 2 ปีก่อนที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจจะกลับไปเหมือนเดิม คือมีภาวะการค้าระหว่างประเทศและการท่องเที่ยวอย่างที่เคยมี

กรณีเอเชีย เศรษฐกิจจะหดตัวร้อยละ 2.2 ปีนี้และขยายตัวร้อยละ 6.9 ปีหน้า แต่ละประเทศผลกระทบจากวิกฤติจะแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับความสามารถด้านการควบคุมการระบาด นโยบายที่ทำ การพึ่งพาเศรษฐกิจโลกและความอ่อนแอที่มีอยู่เดิม แต่ที่เหมือนกันคือผลกระทบจะมีมากในกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ทำให้ความเหลื่อมล้ำและความยากจนจะมีมากขึ้น สำหรับเศรษฐกิจไทยจะหดตัวร้อยละ 7.1 ปีนี้และขยายตัวร้อยละ 4 ปีหน้า

การประเมินดังกล่าวทำให้มีคำถามว่า เศรษฐกิจเราจะอยู่อย่างไร 2 ปีข้างหน้า ถ้ายังไม่มีการส่งออกและการท่องเที่ยวเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่จะทำให้ประชาชนส่วนใหญ่อยู่ได้ ประคองตัวได้

อีกคำถามคือ ในภาวะที่ความอ่อนแอจะมีต่อเนื่อง 2 ปีข้างหน้า เราจะหลีกเลี่ยงไม่ให้การกระตุ้นเศรษฐกิจโดยภาครัฐนำไปสู่การเกิดวิกฤติตามมาได้อย่างไร โดยเฉพาะวิกฤติด้านการคลังและการเงิน ซึ่งเป็นประเด็นที่มีการเตือนและพูดถึงกันมากในการสัมมนาครั้งนี้

ต่อคำถามแรกว่า เราจะอยู่อย่างไรอีก 2 ปีถ้าไม่มีการส่งออกและการท่องเที่ยวเป็นตัวขับเคลื่อน คำตอบของผมคือ อยู่ได้แน่นอน แต่นโยบายแก้ไขต้องมุ่งไปที่การช่วยเหลือคนส่วนล่างที่ถูกกระทบให้สามารถทำมาหากินและเลี้ยงชีวิตได้ เพื่อลดแรงกดดันที่จะมีในสังคม ขณะที่คนส่วนบนก็ต้องปรับตัว ปรับการคาดหวังจากวิกฤติที่เกิดขึ้น

ในเรื่องนี้ ประเด็นสำคัญที่ต้องตระหนักคือ วิกฤติคราวนี้เป็น 2 วิกฤติเกิดขึ้นพร้อมกันคือ วิกฤติสาธารณสุข และ วิกฤติเศรษฐกิจ เป็น 2 วิกฤติที่ทุกประเทศต้องเจอ ประเทศเราโชคดีมากที่สามารถควบคุมการระบาดได้เร็ว ไม่มีการระบาดในประเทศกว่า 5 เดือน ทำให้วิกฤติสาธารณสุขเหมือนได้จบลงแล้ว เหลือเพียงวิกฤติเดียวคือวิกฤติเศรษฐกิจที่ต้องแก้ไข

ดังนั้น มาตรการทุกอย่างต้องมุ่งไปที่การแก้เศรษฐกิจ ขณะเดียวกันการ์ดด้านสาธารณสุขก็ต้องไม่ตก คือไม่สร้างความเสี่ยงให้การระบาดกลับมาอีก คือไม่มีการระบาดรอบ 2 เพราะถ้าวิกฤติสาธารณสุขกลับมา ประเทศเราก็จะกลับไปมี 2 วิกฤติเหมือนเดิม ทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจะยิ่งยุ่งยากและความเสียหายจะมีมากขึ้น

สำหรับการฟื้นเศรษฐกิจ ผมมีข้อคิด 3 ข้อที่อยากแชร์ในแง่การดำเนินนโยบาย

1.วิกฤติคราวนี้กระทบคนส่วนล่างมากกว่าส่วนบน ขณะที่คนส่วนบนยังไปได้ ปัญหาสำคัญขณะนี้อยู่ที่คนส่วนล่างที่ไม่มีรายได้ ไม่มีงานและไม่มีช่องทางทำมาหากิน ดังนั้น มาตรการแก้ไขของรัฐต้องมุ่งไปที่การแก้ไขปัญหาของคนส่วนล่างคือ สร้างงาน สร้างรายได้ สร้างโอกาสในการเลี้ยงชีพให้คนเหล่านี้และช่วยธุรกิจขนาดกลางและเล็กไม่ให้ล้มละลาย เพื่อให้คนเหล่านี้สามารถไปต่อได้ในภาวะที่ลำบาก เป็นการแก้ไขด้านอุปทาน คือ ความสามารถในการผลิต ที่จะนำไปสู่การสร้างอำนาจซื้อและการใช้จ่ายในประเทศ แนวทางแก้ไขดังกล่าวจะทำให้การแก้เศรษฐกิจตรงเป้า ลดแรงกดดันต่อความเหลื่อมล้ำและต่อความขัดแย้งในสังคม

2.จากที่เราไม่มีการระบาดในประเทศมานาน ความเสี่ยงของการเกิดการระบาดรอบ 2 มีน้อยลงมาก และถ้าจะเกิดขึ้นก็จะมาจาก 2 ปัจจัยเท่านั้นคือ การเข้ามาในประเทศของแรงงานต่างด้าวและนักท่องเที่ยวต่างประเทศ ที่ผ่านมามาตรการกักตัวผู้เดินทางมาจากต่างประเทศในห้องพัก 14 วันตามมาตรฐานสาธารณสุข เป็นเครื่องมือหลักที่ช่วยป้องกันไม่ให้เกิดการระบาดในประเทศ แม้เราจะมีผู้เดินทางกลับจากต่างประเทศมากกว่า 60,000 คน ปัจจุบันการระบาดทั่วโลกยังรุนแรง มีผู้ติดเชื้อรายใหม่เกือบ 5 แสนคนต่อวันทั่วโลก

ดังนั้น มาตรการเปิดให้คนต่างชาติเข้าประเทศจะต้องทำด้วยความระมัดระวังอย่างมาก ซึ่งสำคัญที่สุดคือไม่ควรลดหย่อนมาตรการกักตัว 14 วันจากมาตรฐานปัจจุบัน เพราะจะสร้างความเสี่ยงให้กับคนทั้งประเทศและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ นอกจากนี้มาตรการสาธารณสุขต้องตั้งการ์ดสูงต่อไปและเตรียมพร้อมรับมือกับการระบาดที่อาจปะทุขึ้น

3.ธุรกิจขนาดกลางและเล็กคือหัวใจของการจ้างงานและที่มาของรายได้ของคนกลุ่มล่าง จึงสำคัญที่ทางการต้องมุ่งช่วยเหลือธุรกิจเหล่านี้ หลักคือธุรกิจไหนที่จะไปได้แต่ก็ต้องการความช่วยเหลือ รัฐควรช่วยเหลือ แม้จะเป็นการแชร์ค่าใช้จ่ายในการจ้างงานเพื่อให้มีการจ้างงานได้ต่อไป ธุรกิจไหนไปไม่ได้ก็ควรต้องให้ปิด และธุรกิจไหนที่มีศักยภาพก็ควรช่วยเหลือสนับสนุนให้เกิดขึ้น เพื่อให้เกิดจากการจ้างงานและการผลิตในประเทศ นี่คือแนวทางการช่วยเหลือที่มีเป้าชัดเจน

ต่อคำถามที่ 2 ว่าเราจะหลีกเลี่ยงไม่ให้วิกฤติเศรษฐกิจในประเทศเกิดขึ้นตามมาได้อย่างไร คำตอบอยู่ที่ความระมัดระวังในการดำเนินนโยบายที่มองทั้งผลระยะสั้นและระยะยาว ต้องยอมรับว่าวิกฤติครั้งนี้เป็นวิกฤติที่มาตรการแก้ไขเศรษฐกิจทั้งนโยบายการเงินและการคลังมือเติบอย่างไม่เคยมีมาก่อน เทียบกับวิกฤติในอดีต คือมีวงเงินอัดฉีดเศรษฐกิจกว่า 10% ของจีดีพี กรณีของไทยเอง การออก พ.ร.ก.กู้เงิน 1.9 ล้านล้านบาท ก็ไม่เคยมีมาก่อนเช่นกัน แม้การใช้จ่ายเหล่านี้จำเป็น แต่ที่จำเป็นกว่าคือการใช้เงินกู้เหล่านี้อย่างมีเหตุผลและอยู่ในวงเงินที่จะไม่สร้างปัญหาด้านเสถียรภาพให้กับประเทศในระยะยาว โดยเฉพาะต่อระบบธนาคารพาณิชย์และฐานะการคลังของประเทศ

คือถ้าเศรษฐกิจโลกจะยังไม่ดีขึ้นอีก 2 ปี ความเป็นหนี้ที่มีมากขึ้นของภาคธุรกิจก็จะสร้างความเสี่ยงต่อธนาคารพาณิชย์ ในแง่คุณภาพสินทรัพย์และหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ที่จะกระทบฐานะและเงินกองทุนของธนาคารพาณิชย์ รวมถึงความสามารถของธนาคารพาณิชย์ที่จะขยายสินเชื่อเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ดังนั้น การดูแลให้ระบบธนาคารพาณิชย์มีเสถียรภาพ จึงเป็นเรื่องสำคัญในการดำเนินนโยบายเพื่อให้ธนาคารพาณิชย์สามารถทำหน้าที่ต่อไปได้ในภาวะที่เศรษฐกิจยังไม่ปกติ

อีกประเด็นที่เกี่ยวข้องกันคือ ฐานะการคลังของประเทศ จากความเป็นหนี้ของภาครัฐที่สูงขึ้น เพราะการกู้ยืมเป็นจำนวนมากเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ หนี้ที่เพิ่มขึ้นนี้ต้องมีการชำระคืนและในช่วง 2 ปีข้างหน้าถ้าเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ รายได้จากภาษีก็จะลดลง กระทบความสามารถของภาครัฐที่จะชำระหนี้ รัฐบาลจึงต้องนึกถึงช่องทางใหม่ๆ ที่จะเพิ่มรายได้ เพื่อไม่ให้ฐานะทางการคลังของประเทศมีปัญหา จริงอยู่อัตราดอกเบี้ยต่ำมากขณะนี้จะทำให้แรงกดดันต่อฐานะการคลังในระยะสั้นไม่รุนแรง แต่ในระยะยาวเมื่ออัตราดอกเบี้ยเริ่มปรับสูงขึ้น แรงกดดันเหล่านี้จะเกิดขึ้นแน่นอน

ดังนั้น ผู้ทำนโยบายจะต้องไม่มองการกระตุ้นเศรษฐกิจเพียงด้านเดียวคือการใช้จ่าย ที่ต้องตระหนักถึงความสมดุลระหว่างการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้นกับการรักษาเสถียรภาพด้านการเงินการคลังของประเทศในระยะกลาง เพราะไม่มีอะไรที่ได้มาฟรีๆ หรือไม่มีต้นทุน

ความเป็นห่วงในเรื่องเสถียรภาพของเศรษฐกิจเป็นประเด็นที่มีการย้ำตลอดเวลาในงานสัมมนาที่พูดถึงในทุกเวที เป็นประเด็นที่เราเองมองข้ามไม่ได้ เพื่อให้เศรษฐกิจของเราไปได้ 2 ปีข้างหน้าและอยู่รอดปลอดภัย โดยไม่สร้างความเสี่ยงให้กับประเทศในระยะยาว