ภาคส่วนไหนของ 'การท่องเที่ยว' ที่จะฟื้นตัวก่อน หลังโควิด-19

ภาคส่วนไหนของ 'การท่องเที่ยว' ที่จะฟื้นตัวก่อน หลังโควิด-19

ท่านผู้อ่านลองเดาดูสิคะว่า ภาคส่วน (Segment) ใดของการท่องเที่ยวที่จะฟื้นตัวหลังโควิด-19 ก่อน

โดยทั่วไปเราก็มักจะคิดว่าการเดินทางเพื่อทำมาหากินเพื่อปากท้องเป็นเรื่องสำคัญ ดังนั้น ภาคส่วนการเดินทางเพื่อการทำธุรกิจน่าจะฟื้นตัวก่อน แต่ความจริงไม่เป็นเช่นนั้น การศึกษาของสถาบันศึกษานโยบายสาธารณะสนับสนุนโดย สกสว. พบว่าทศวรรษที่ 2540 หลังวิกฤติเศรษฐกิจ การท่องเที่ยวเพื่อธุรกิจลดลงเร็วกว่าการท่องเที่ยวเพื่อการพักผ่อนและยังฟื้นตัวทีหลังดูจากโรงแรมที่อัตราการเข้าพักในวันหยุดดีกว่าในวันธรรมดา (Skift Research, 2020) สาเหตุที่การเดินทางเพื่อธุรกิจนั้นมีการฟื้นตัวช้าก็ เพราะธุรกิจสามารถใช้เครื่องมือสื่อสารทางไกลในการเจรจาและประชุมได้ นอกจากนั้นธุรกิจขนาดใหญ่ก็ยังให้ความสำคัญกับความรับผิดชอบต่อสุขภาพของบุคลากรและกฎระเบียบของรัฐ จึงทำให้การฟื้นตัวของธุรกิจค่อนข้างช้า

 

ภาคส่วนที่จะขยายตัวก่อนน่าจะเป็นการเจรจาธุรกิจที่จำเป็นต้องพบปะกันต่อหน้า ส่วนภาคธุรกิจท่องเที่ยวที่จะเติบโตท้ายสุดคือ ธุรกิจที่ว่าด้วยอีเวนท์และการประชุมระหว่างประเทศขนาดใหญ่ สำหรับประเภทของอุตสาหกรรมที่จะฟื้นตัวพร้อมที่จะเดินทางทางธุรกิจก่อนคือ อุตสาหกรรมทางการแพทย์ อุตสาหกรรมการผลิต และการขนส่ง ต่อมาจะเป็นอุตสาหกรรมในภาคส่วนที่เกี่ยวกับการเงิน อสังหาริมทรัพย์ พลังงานและอุตสาหกรรมเทคโนโลยี ส่วนอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับการศึกษา การให้บริการทางวิชาชีพ จะสามารถใช้เทคโนโลยีสื่อสารทางไกลมาทดแทนความจำเป็นที่จะต้องเดินทางได้   

 

การเดินทางเพื่อธุรกิจนั้น ปกติมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 15 - 20 ของการเดินทางทั้งหมดหากนับจากจำนวนผู้เดินทาง แต่หากนับจากรายได้แล้วการเดินทางเพื่อธุรกิจนั้นมีความสำคัญมาก และสามารถสร้างกำไรให้กับสายการบินและโรงแรมได้มากกว่าการเดินทางเพื่อการพักผ่อน สำหรับสายการบินแล้วถึงแม้ว่าการเดินทางของนักธุรกิจจะเป็นสัดส่วนน้อยคือประมาณร้อยละ 10 ของผู้โดยสารแต่ก็มีส่วนแบ่งในกำไรถึงร้อยละ 55 – 75 หากมาดูกันที่การใช้จ่ายเพื่อการเดินทางเพื่อธุรกิจแล้วผู้เชี่ยวชาญ และIATA มีการคาดการณ์ว่าภายในสิ้นปี 2563 นี้อย่างดีที่สุดการเดินทางเพื่อธุรกิจจะฟื้นตัวไม่เกินร้อยละ 25 และภายในสิ้นปีหน้า (พ.ศ. 2564) การฟื้นตัวก็น่าจะประมาณร้อยละ 50 เพราะเมื่อเทียบกับก่อนโควิด-19 ผู้บริหารของเอเจนซี่ท่องเที่ยวขนาดใหญ่มีความเห็นว่าหากโควิด-19 ไม่ยืดเยื้อไปเป็น 4 – 5 ปีแล้วแล้วก็การเดินทางเพื่อธุรกิจน่าจะกลับมาเหมือนเดิมภายใน 2 ปี

ปัจจุบันแนวโน้มที่เริ่มเห็นก็คือนักท่องเที่ยวเพื่อการพักผ่อนมีความพร้อมที่จะเดินทางมากกว่านักธุรกิจ การติดตามการเดินทางของสหรัฐอเมริกาโดย Skift Research พบว่าในเดือนกันยายน
พ.ศ.
2563 การเดินทางเพื่อการพักผ่อนยังมีสัดส่วนถึงร้อยละ 82 ในสหรัฐอเมริกาและที่เหลือเป็นการเดินทางเพื่อธุรกิจ ในประเทศจีนการสำรวจของ McKinsey พบว่ากว่าร้อยละ 70 ของผู้ตอบแบบสำรวจเซนติเมนต์ (Sentiment Survey) ในเดือนเดียวกันระบุว่าพร้อม จะเดินทางภายในสิ้นปี 2563

 

สาเหตุหนึ่งที่ทำให้การเดินทางเพื่อการพักผ่อนนั้นฟื้นก่อนการเดินทางเพื่อธุรกิจ ในยุโรป สหรัฐอเมริกา เกิดจากการที่ผู้คนหนีศูนย์กลางแห่งโรคระบาดไปอยู่ชนบท

 

การสำรวจของ McKinsey  พบว่าใน 5 ประเทศอันได้แก่ออสเตรเลีย แคนาดา ฮ่องกง  สหราชอาณาจักรและสหรัฐอเมริกาการเดินทางเพื่อเยี่ยมเพื่อนและญาติจะเป็นปัจจัยหนุนที่สำคัญที่สุดสำหรับการเดินทางเพื่อการพักผ่อน ในปลายปี 2563 นี้ Skift Research คาดการณ์ว่าการเดินทางเพื่อการพักผ่อนจะกลับมาเหมือนเดิมก่อนการเดินทางเพื่อธุรกิจก็จริง แต่การเดินทางเพื่อพักผ่อนนี้จะมีกลุ่มเล็กลง เป็นการเดินทางที่ไม่ใช้มัคคุเทศก์ และเป็นการเดินทางที่เข้าสู่แหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติและฟื้นฟูสุขภาพและการออกกำลังกายและสนใจกิจกรรมที่สมาชิกในครอบครัวสามารถมีส่วนร่วมได้ ผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศคาดว่าแนวโน้มนี้จะยังคงอยู่หลังจากที่โควิด-19 มลายหายไปแล้ว

 

สิ่งที่เกิดขึ้นในเมืองไทยก็ดูจะมีแนวโน้มคล้ายคลึงกัน เมื่อรัฐบาลเปิดการท่องเที่ยวหลังล็อกดาวน์ รีสอร์ทในจังหวัดเชียงใหม่ขายห้องได้ดีกว่าโรงแรมในเมือง และธุรกิจในเมืองในวันธรรมดานั้นยังหงอยเหงาอยู่มาก อย่างไรก็ดีแนวโน้มที่พบในประเทศไทยก็คือคนไทยจะเที่ยวระยะสั้นมากกว่าที่จะใช้การเดินทางโดยเครื่องบินทำให้จังหวัดใกล้ใกล้กรุงเทพที่สามารถเดินทางได้โดยรถยนต์ส่วนตัวมีการฟื้นตัวที่ดีขึ้นกว่าจังหวัดที่ต้องเดินทางไกล

 

อีกข้อค้นพบที่น่าสนใจของสถาบันวิจัยต่างประเทศก็คือว่าในช่วงเวลาของโควิด-19 นั้นราคาไม่ได้เป็นปัจจัยที่สำคัญ ปัจจัยที่สำคัญมากกว่าเป็นเรื่องความปลอดภัย ความใกล้ไกลของแหล่งท่องเที่ยวจากถิ่นที่อยู่อาศัยและความหนาแน่นของจุดหมายปลายทาง นโยบายใหม่ เช่น Working from home จะนำไปสู่ Working from anywhere และโควิด-19 ทำให้เส้นแบ่งระหว่างการเดินทางเพื่อธุรกิจและการเดินทางเพื่อพักผ่อนนั้นชัดเจนน้อยลง

 

ในประเทศที่เข้าถึงกันได้ง่ายโดยการเดินทางด้วยรถยนต์ปรากฏว่าบุ๊คกิ้งการเดินทางโดยการเดินทางทางอากาศนั้นลดลงอย่างมากเช่นในประชาคมยุโรป ส่วนการเดินทางระหว่างประเทศนั้น McKinsey (2020) คาดการณ์ว่าการเดินทางระหว่างประเทศจะเริ่มต้นระหว่างประเทศที่อยู่ใกล้กันมากกว่าการเดินทางระยะไกล ในประเทศจีนซึ่งประชาชนมีความรู้สึกว่าสถานการณ์ปลอดภัยแล้ว การเดินทางก็ขยายตัวขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเดินทางในประเทศและแม้แต่ผู้เกษียณอายุก็ยังต้องการการเดินทางท่องเที่ยว 

 

ณ ปัจจุบันนี้ รายงานของ Skift คาดคะเนว่า เศรษฐกิจท่องเที่ยวโลกวัดจากรายรับรวมทั้งโลกจะกลับมาดีเหมือนกับปี 2562 นั้นจะไม่เกิดขึ้นก่อนปี 2566 แต่ไม่น่าจะเกินปี 2567 จีนจะฟื้นตัวเร็วกว่าทั้งโลก 1 ปี และเศรษฐกิจท่องเที่ยวจีนจะฟื้นฟูเช่นเดิมในช่วง 2565 – 2566 แต่จะเดินทางได้หรือไม่ขึ้นอยู่กับนโยบายรัฐบาลจีน ซึ่งขณะนี้เน้นให้คนจีนท่องเที่ยวในประเทศ ญี่ปุ่นจะได้รายรับถึงระดับปี 2562 ภายในปี 2567 – 2568 สาธารณรัฐเยอรมนีก็ฟื้นตัวภายใน 2565 – 2566 และสหรัฐอเมริกาช้าที่สุดคือ ระหว่าง 2567 – 2568 ส่วนไทยนั้น Skift เห็นว่า โอกาสจะใช้ท่องเที่ยวภายในประเทศมาชดเชยนั้นเป็นไปไม่ได้ เรายังคงต้องพึ่งความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างไทยกับจีน เพื่อเรียกตลาดต่างประเทศกลับมาบางส่วนเป็นการต่อลมหายใจให้ภาคเศรษฐกิจท่องเที่ยว

 

ดังนั้น การที่ประเทศไทยจะเน้นโฆษณาประสบการณ์ของไทยที่มีความสามารถในการจัดการความปลอดภัยจากโควิด-19  การท่องเที่ยวทางธรรมชาติ  ความไม่หนาแน่นของทางประชากรของประเทศไทย (เปรียบเทียบกับสิงคโปร์หรือฮ่องกงหรือเวียดนาม) ในการโปรโมทประเทศไทยหลังโควิด-19 ก็น่าจะเป็นทิศทางที่ถูกต้อง และตลาดหลักของไทยก็คงเป็นตลาดเอเชียตะวันออกเหมือนเดิม

 บทความโดย ดร.มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด มูลนิธิสถาบันศึกษานโยบายสาธารณะ