Debt for Climate Swaps แปลงหนี้เป็นทุนสีเขียว

Debt for Climate Swaps แปลงหนี้เป็นทุนสีเขียว

สวัสดีครับ เป็นที่ทราบกันดีกว่าการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อ COVID-19 ก่อให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงทั่วโลกในหลากหลายมิติ

                หนึ่งในผลกระทบดังกล่าวคือสถานการณ์วิกฤตหนี้สินในประเทศกำลังพัฒนากำลังจะมีสภาพที่เลวร้ายลงไปอย่างมาก จากความจำเป็นที่รัฐบาลในทุกประเทศจำเป็นต้องก่อหนี้ (Sovereign Debt) เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลเพื่อเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบและฟื้นฟูเศรษฐกิจ ขณะที่รายได้สกุลเงินต่างประเทศหดหายอย่างรวดเร็วจากการล็อคดาวน์ประเทศ

                ในการประชุมขององค์การสหประชาติเรื่องการค้าและการพัฒนาเมื่อเร็วๆ นี้ได้ระบุว่า ในช่วงปี 2563-2564 หนี้ต่างประเทศของประเทศกำลังพัฒนาจะพุ่งสูงถึง 2.6-3.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และนักวิเคราะห์ต่างคาดการณ์กันว่าภายในปี 2564 หนี้ต่างประเทศในตลาดเกิดใหม่และตลาดชายขอบถึงกว่าร้อยละ 40 มีความเสี่ยงที่จะกลายเป็นหนี้เสีย  ในการประชุมรัฐมนตรีคลังของประเทศกลุ่ม 20 (G20) ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้เปิดเผยว่ามีประเทศที่พึ่งพารายได้จากต่างประเทศเพื่อชำระหนี้สินสกุลเงินต่างประเทศจำนวนกว่า 100 ประเทศหรือคิดเป็นจำนวนประเทศถึงครึ่งโลก ได้ยื่นขอรับความช่วยเหลือทางการเงินฉุกเฉินจาก IMF ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่เคยปรากฎมาก่อนในประวัติศาสตร์

                ปัญหาน่าหนักใจด้านหนี้รัฐบาลของประเทศเหล่านี้ถือเป็นปัญหาระดับโลกที่เกิดขึ้น ท่ามกลางความพยายามของประชาคมโลกในการต่อสู้กับวิกฤตการณ์เร่งด่วนโดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตามความตกลงปารีส (Paris Accord) โลกจะต้องลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้ได้ร้อยละ 45 ภายในปี 2573 และร้อยละ 100 ภายในปี 2593 เพื่อหลีกเลี่ยงหายนะทางสิ่งแวดล้อม ขณะที่ปัญหาหนี้สินภาครัฐที่กำลังจะรุนแรงขึ้นอีกในช่วง 12-18 เดือนข้างหน้ามีแนวโน้มจะผลักดันให้รัฐบาลประเทศกำลังพัฒนาพยายามเพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยวและส่งออกให้ได้มากที่สุดไม่ว่าจะแลกมาด้วยอะไร เช่น ตัดงบประมาณโครงการเพื่อพัฒนาสภาพภูมิอากาศ หรือเพิ่มการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล หรือถลุงใช้ทรัพยากรธรรมชาติมากขึ้น

                จากสถานการณ์กลืนไม่เข้าคายไม่ออกข้างต้น รัฐบาลประเทศกลุ่มจี 20 (G20) ได้เรียกร้องให้หาทางออกในเรื่องนี้เพื่อให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจทั่วโลกกลับมาได้ในสภาพแวดล้อมที่ดีกว่าเดิม (Build Back Better) โดยในช่วงกลางเดือนตุลาคม 2563 นี้ กองทุนการเงินระหว่างประเทศและธนาคารโลกจะจัดประชุมประจำปีผ่านทางออนไลน์ หนึ่งในสาระสำคัญที่จะพูดคุยกันในงานประชุมครั้งนี้คือ กลไกสำคัญที่จะช่วยปรับลดภาระหนี้ในช่วงวิกฤต ผ่านการแปลงหนี้สินเป็นการลงทุนเพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือที่เรียกว่า Debt for Climate Swaps ซึ่งอาจจะไม่ค่อยคุ้นหูคนไทยเท่าการแปลงหนี้เป็นทุน (Debt for Equity Swaps) ทั้งนี้ การแปลงหนี้ในลักษณะเช่นนี้มีมานานกว่า 40 ปีแล้ว อาทิ การแปลงหนี้เป็นสภาพแวดล้อมที่ดีขึ้น (Debt for Nature Swaps: DNS หรือ Debt for Environmental Swaps)

                 วัตถุประสงค์ของ Debt for Climate Swaps คือการช่วยลดภาระหนี้สินของประเทศกำลังพัฒนาในช่วงฟื้นฟูประเทศ และขณะเดียวกันยังคงมีความพยายามในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Green Recovery) โดยรัฐบาลประเทศเจ้าหนี้ตกลงที่จะยกหนี้ (Debt Forgiveness) ให้ประเทศกำลังพัฒนาที่เป็นลูกหนี้บางส่วนหรือทั้งหมด หรือขายหนี้ดังกล่าวให้กับบุคคลที่สาม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นองค์กรอนุรักษ์ที่ไม่แสวงหากำไร ในราคาลดลงจากจำนวนยอดหนี้ โดยให้จ่ายเป็นสกุลเงินท้องถิ่น หรือคิดดอกเบี้ยลดลง เพื่อแลกกับการที่รัฐบาลประเทศลูกหนี้ต้องนำเงินที่ประหยัดได้จากการไม่ต้องจ่ายหนี้มาลงทุนในโครงการที่เกี่ยวกับการลดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแทน  โดยการทำ DNS ในอดีตนอกจากจะเป็นเรื่องอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมแล้ว ยังรวมถึงด้านสังคมที่เกี่ยวกับความหลากหลายทางชีวภาพ การปกป้องกลุ่มชนพื้นเมือง การสาธารณสุข การพัฒนาเด็กและเยาวชน หรือการศึกษา  

                ธนาคารโลกได้รายงานว่า ณ ปี 2543 จากยอดการแปลงหนี้ระหว่างประเทศเป็นสกุลเงินท้องถิ่นทั้งหมด 4.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ มีหนี้ถึง 1.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐได้รับการแปลงเป็นโครงการเพื่อพัฒนาสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาอื่นๆ สำหรับตัวอย่างล่าสุด World Economic Forum รายงานว่าในปี 2561 รัฐบาลประเทศที่เป็นหมู่เกาะอย่างสาธารณรัฐเซเชลส์ได้แปลงหนี้ประเทศเป็นทุนผ่าน DNS จำนวนทั้งสิ้น 27 ล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่ออนุรักษ์อุทยานทางทะเล การจัดการการประมง การอนุรักษ์ความหลายหลายทางชีวภาพและการท่องเที่ยงเชิงอนุรักษ์

                สถานการณ์โรคระบาดและการก่อหนี้ของรัฐบาลต่างๆ ได้จุดประกายให้ DNS กลับมาเป็นที่สนใจอีกครั้ง โดยคราวนี้จะมุ่งเน้นไปที่โครงการที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและมีขอบเขตที่กว้างขวางขึ้น เป็นที่น่าสนใจว่า Debt for Climate Swaps จะเป็นหนึ่งในทางออกที่ปฏิบัติได้จริง (Exit Strategy) ในช่วงนี้หรือไม่ และจะมีเงื่อนไข (Metrics) เพื่อทำให้การแปลงหนี้เป็นทุนสีเขียวเกิดขึ้นตามวัตถุประสงค์ได้อย่างไร ผมเชื่อว่าทางเลือกของแต่ละรัฐบาลมีไม่มากนัก หากการปรับโครงสร้างหนี้ในลักษณะนี้สามารถช่วยลดภาระหนี้ได้ ขณะเดียวกันยังช่วยสร้างสภาพภูมิอากาศที่ดีขึ้น จะกลายเป็นธุรกรรมที่น่าจับตาและน่าเอาใจช่วยมากทีเดียวครับ