ระวัง 'บูมเมอแลง' จากคนต่างรุ่น ต่างความคิด

ระวัง 'บูมเมอแลง' จากคนต่างรุ่น ต่างความคิด

ทำความรู้จักและประยุกต์ใช้ทฤษฎีจิตวิทยาสังคมทั้ง Boomerang effect และ Reverse psychology ในการรับมือคนรุ่นใหม่ที่ต่างวัยและต่างความคิด

บูมเมอแลงขว้างออกไปแล้ว จะวนกลับมาหาผู้ที่ขว้างออกไป แต่ถ้าใครขว้างไม่เป็น แทนที่บูมเมอแลงที่ขว้างออกไปจะไปเล่นงานคนอื่น กับกลายเป็นขว้างไปแล้วกลับมาโดนตัวเอง มีทฤษฎีจิตวิทยาสังคมทฤษฎีหนึ่งใช้ชื่อว่า Boomerang effect ที่บอกว่ามีการกระทำที่มีผลคล้ายกับที่เกิดขึ้นกับการขว้างบูมเมอแลงไม่เป็น คือผลที่เกิดขึ้นจากการกระทำนั้นจะเป็นไปในทางตรงกันข้ามกับที่ตั้งใจเอาไว้ ตั้งใจจะขว้างบูมเมอแลงไปโดนคนอื่น แต่ขว้างไปแล้วนอกจากไม่โดนใครสักคน แต่วนกลับมาโดนตนเอ งแทน  ถ้าไม่อยากไปชวนใครให้ทำอะไรแล้ว ปรากฏว่าผลการเชิญชวนนั้นกลับเป็นไปในทางตรงข้าม ขอให้ศึกษาเรื่องนี้ไว้ให้ดี

 

ถ้าเราต้องการเชิญชวนให้ใครเชื่อเรื่องอะไรสักอย่างหนึ่ง โดยหวังว่าเมื่อเชื่อแล้ว จะนำไปสู่การกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่เราต้องการ เราอยากให้เขาออกกำลังกายเป็นประจำ เราก็เชิญชวนว่าการออกกำลังดีสารพัดอย่าง ซึ่ง Boomerang effect บอกว่า ถ้าเราเชิญชวนโอเวอร์เกินจริงมากเกินไป จนดูเหมือนอภินิหาร คนจำนวนมากจะปฏิเสธที่จะยอมรับความเชื่อที่เราเชิญชวนให้เชื่อ เพราะอภินิหารหาคำอธิบายได้ยาก ใครที่ชอบอะไรที่พออธิบายที่มาที่ไปได้จะปฏิเสธ ระวังไว้หน่อยว่าระดับของอภินิหารของคนแต่ละรุ่นไม่เท่ากัน ดังนั้นอย่าเชิญชวนโดยอิงกับเรื่องที่เป็นอภินิหาร คนยุคปัจจุบันตรวจสอบอภินิหารจากกูเกิลได้ง่ายกว่าสมัยก่อน  เชิญชวนด้วยอภินิหารอาจใช้ได้กับคนที่กำลังสิ้นหวัง คนที่หมดที่พึ่งพาอาจจะเชื่อคำเชิญชวนที่ดูเป็นเรื่องอภินิหารได้บ้าง เมื่อคนรุ่นใหม่ไม่เชื่อว่ายุคนี้สมัยนี้จะมีใครที่สร้างอภินิหารได้สารพัด  แล้วเชิญชวนว่าใครสักคนมีอภินิหารมากเกินไป ผลที่เกิดอาจกลับกลายเป็นคนรุ่นใหม่ปฏิเสธคนวิเศษนั้น แทนที่จะยอมรับนับถืออย่างที่ตั้งใจเอาไว้

 

เปิดทางให้เขามีอิสระในการตัดสินใจ อย่าหว่านล้อมจนกระทั่ง เขาเหลือทางเลือกอยู่ทางเดียว คือเชื่อเหมือนที่เราบอกทั้งหมด ถ้าเชิญชวนว่าการออกกำลังกายมีผลดีกับสุขภาพ ก็อย่าไปจำกัดว่าต้องออกกำลังกายแบบคาร์ดิโอเท่านั้นที่มีประโยชน์ เหลือการตัดสินใจไว้ให้เขาบ้าง ยิ่งเหลือพื้นที่ให้เขาเลือกมากเท่าไหร่ โอกาสที่เขาเชื่อตามและทำตามก็ยิ่งมีมากขึ้นเท่านั้น ยิ่งเป็นคนรุ่นใหม่ที่มีวิธีคิดที่แตกต่างไปจากคนรุ่นเก่า ยิ่งตีกรอบจนแคบเท่าไหร่ ยิ่งลดโอกาสที่เขาจะทำตามที่เชิญชวนไปมากเท่านั้น

 

คนรุ่นเก่าเชิญชวนคนรุ่นใหม่ให้คิดให้เชื่ออะไร ต้องคิดไว้เสมอว่าที่เชิญชวนไปนั้น เหลือทางเลือกให้เขาตัดสินใจของเขาเองมากพอหรือไม่ คำเชิญชวนที่เจาะจงมากเกินไปของคนรุ่นเก่า จะดูเป็นคำสั่งสำหรับคนรุ่นใหม่ แทนที่จะเป็นการเชิญชวนให้เชื่อเรื่องนั้นเรื่องนี้  ถ้าดูเป็นคนสั่งมากกว่าคำเชิญชวน ก็ขึ้นกับอำนาจของคนเชิญชวนแล้วว่าใหญ่โตพอจะทำให้เขายอมเชื่อหรือไม่ ใหญ่พอจะสั่งได้หรือเปล่า

 

อีกทฤษฎีหนึ่งที่อยู่คู่กับ Boomerang effect คือ Reverse     psychology ที่บอกว่าถ้าอยากให้ใครไม่ทำอะไร ให้เชิญชวนให้เขากระทำสิ่งนั้น ตั้งใจไม่อยากให้เขาไปด้วย แต่ชวนให้ไปด้วยกัน โดยหวังว่าชวนแล้วเขาจะไม่ไป แทนที่จะบอกไปตรง ๆว่างานนี้ไม่อยากให้ไปด้วยนะ กลับไปบอกว่าไปด้วยกันมั้ย แต่ในใจคืออย่าไปนะ Reverse psychology เห็นได้บ่อย ๆในเด็ก ๆ ที่บอกอย่าง ทำอีกอย่าง เด็ก ๆจำนวนไม่น้อยที่เป็นสายปฏิกริยา คือยิ่งห้ามเหมือนยิ่งยุ  ดังนั้น ถ้าคะเนว่าคนนั้นท่าทางเป็นสายหัวแข็ง สายปฏิกริยา ให้ลองใช้ Reverse psychology  จัดการดูบ้าง อยากให้เขาไม่ทำอะไร ให้บอกตรงข้ามคือเชิญให้ทำเรื่องนั้น ระวังไว้หน่อยว่า Reverse psychology จะใช้ได้ผลต่อเมื่อเขารู้ไม่ทันว่าเราหวังผลในทางตรงข้าม ถ้ารู้ตัวจะกลายเป็นการส่งเสริมให้ทำ ในสิ่งที่เราหวังว่าจะไม่ทำไปเลย อยากให้เด็กกินผัก ก็ท้าทายว่าไม่กล้ากินผักมั้ง เด็กรู้ไม่ทันก็รีบคว้าผักมากิน  ถ้ารู้ทันเด็กกลับบอกว่า  ทำไมถึงรู้แล้วไม่ยอมกินผัก

 จะทำอะไรกับคนต่างรุ่น ต่างความคิด ให้คิดมุมกลับนี้ไว้มาก ๆ