ทฤษฎีว่าด้วยการฟื้นเศรษฐกิจกับประเทศไทย (1) Y=C+I+G-T+X-M

ทฤษฎีว่าด้วยการฟื้นเศรษฐกิจกับประเทศไทย (1)  Y=C+I+G-T+X-M

ทำความเข้าใจอย่างลึกซึ่ง กับการฟื้นเศรษฐกิจไทยให้มีประสิทธิภาพและมีความยั่งยืน ทั้งปัจจัยในมุมการส่งออกสินค้า-บริการ และการบริโภคภายในประเทศ

           การจะฟื้นจีดีพี (Y) นั้นสามารถทำได้โดยการกระตุ้นการบริโภค (C) การลงทุน (I) การใช้จ่ายของรัฐ (G) การลดภาษี (T)  ส่งออกสินค้าและบริการไปต่างประเทศ (X) และการลดการนำเข้า (M) ซึ่งปัจจุบันก็ได้มีการนำเสนอและออกมาตรการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจไทยให้ฟื้นตัวโดยอาศัยปัจจัยใดปัจจัยหนึ่งหรือหลายปัจจัยดังที่กล่าวมาข้างต้น แต่ผมคิดว่าการจะฟื้นเศรษฐกิจไทยให้มีประสิทธิภาพและมีความยั่งยืนนั้นจะต้องทำความเข้าใจที่ลึกซึ้งกว่าที่ได้กล่าวมาข้างต้น

            หากจะเรียงลำดับของปัจจัยทางเศรษฐกิจดังกล่าว ตามความสำคัญในเชิงของขนาดของภาคเศรษฐกิจเมื่อคำนึงถึงกับเศรษฐกิจไทยก็จะลำดับปัจจัยกล่าวได้ดังนี้

  1. การส่งออกสินค้าและบริการ:มีสัดส่วนประมาณ 60% ของจีดีพี โดยแบ่งคร่าวๆ ได้ว่าการส่งออกสินค้านั้นคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 48% ของจีดีพี ซึ่งลดลงจากเมื่อ 5-6 ปีก่อนหน้าที่การส่งออกสูงถึง 53-54% ของจีดีพี ส่วนหนึ่งเพราะการแข็งค่าของเงินบาทประมาณ 20% ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาซึ่งทำให้ความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทยในตลาดต่างประเทศลดลง การแข็งค่าของเงินบาทนั้นผมมีความเห็นว่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะนโยบายการเงินของไทยที่ตึงเกินไป (เห็นได้จากอัตราเงินเฟ้อของไทยที่ต่ำเพียง 0.4% ต่อปีในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาเทียบกับเงินเฟ้อสหรัฐที่เฉลี่ย 1.5% ต่อปีในช่วงเดียวกัน) และการขยายตัวของการท่องเที่ยวที่ทำรายได้ดีและนำเข้าเงินตราต่างประเทศเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา แต่หากมองไปในอนาคตเพื่อการฟื้นเศรษฐกิจของประเทศไทยนั้น ภาคการส่งออกสินค้าและบริการน่าจะไม่ใช่หัวจักรหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย เพราะการส่งออกสินค้านั้นมีข้อจำกัดหลายประการคือเศรษฐกิจโลกที่ขยายตัวอย่างเปราะบาง การที่นโยบายการเงินของไทยยังไม่ผ่อนปรนทำให้เงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่า การที่ประเทศไทยขาดแรงงานโดยเฉพาะแรงงานที่มีฝีมือ การที่ประเทศไทยไม่เจรจาเปิดตลาดหรือเข้าร่วมกลุ่มการค้าเสรีเช่น TPP และการที่อุตสาหกรรมส่งออกหลักของไทยเช่นรถยนต์กำลังถูกคุกคามโดยรถไฟฟ้า สำหรับการท่องเที่ยวนั้นก็เห็นได้ชัดว่าคนไทยกลัว COVID-19 ทำให้คนไทยต้องการอยู่อย่างปลอด COVID-19 แต่โลกกำลังอยู่ร่วมกับ COVID-19 และล่าสุดยังมีการระบาดเพิ่มขึ้นอีกด้วย
  2. การบริโภคภายในประเทศ:มีสัดส่วนประมาณ 50% ของจีดีพี แต่ในช่วง 7-8 ปีที่ผ่านมาดูเสมือนว่ามีแนวโน้มการบริโภคจะลดลงจากจุดสูงสุดประมาณ 55% ของจีดีพี และเป็นไปได้ว่าจะลดลงไปอีกในระยะยาวเพราะการแก่ตัวลงของประชากร แต่ประเด็นสำคัญคือการบริโภคนั้นในระยะสั้นและระยะกลาง (3-4 ปี) จะถูกกำหนดโดยรายได้ (หรือจีดีพี) กล่าวคือ c=f(y) โดยสมการพื้นฐานคือ y=a+by เช่น หาก y=1,000, a=100, b=0.7 ก็แปลว่า c=100+700=800 เป็นต้น

เวลาที่รัฐบาลมีมาตรการที่ช่วยออกเงินค่าท่องเที่ยวให้ส่วนหนึ่งเป็นเวลา 3-6 เดือนนั้น ผลคือการทำให้คนไทยมาท่องเที่ยวเร็วขึ้น (bring tourism spending forward) กล่าวคือมาท่องเที่ยวตอนนี้แทนการท่องเที่ยวในภายหลังที่มาตรการยุติไปแล้ว จึงจะไม่ใช่การฟื้นเศรษฐกิจที่ยั่งยืนแต่เป็นการซื้อเวลา มาตรการให้ลดภาษีเมื่อซื้อสินค้าถึง 30,000 บาทในระยะเวลาจำกัดที่กำหนดก็จะเป็นไปในลักษณะเดียวกันคือเป็นมาตรการเร่งการใช้จ่ายปัจจุบัน แต่ในอนาคตกำลังซื้อก็จะต้องลดลง ที่สำคัญคือในภาวะปัจจุบันที่เศรษฐกิจตกต่ำและคนเริ่มตกงานเป็นจำนวนมากนั้น มนุษย์เงินเดือนหลายคนคงจะรับรู้ความไม่แน่นอนในอนาคต จึงน่าจะพยายามเพิ่มการออม (เผื่อต้องตกงาน) เพื่อมีเงินใช้ยามฉุกเฉินซึ่งการออมเพิ่มก็คือการลดการบริโภคลง

ในขณะเดียวกันผู้กู้รายย่อยหลายล้านคนกำลังจะมีปัญหาจ่ายดอกเบี้ยและจ่ายคืนหนี้ (บัตรเครดิต เงินกู้ส่วนบุคคล ผ่อนรถยนต์และผ่อนบ้าน) ธนาคารไม่ได้ ซึ่งเมื่อธนาคารเร่งปรับโครงสร้างหนี้ ธนาคารอาจยอมลดหนี้ลงให้บ้างแต่จะต้องตามมาด้วยลดเพดานของการก่อหนี้และลดวงเงินในการรูดบัตรเครดิต ทำให้กำลังซื้อและการบริโภคในอนาคตของลูกหนี้หลายล้านคนจะต้องถูกจำกัดไปอีกหลายปี กล่าวโดยสรุปคือรายได้และความสามารถในการก่อหนี้ของคนที่มีรายได้ต่ำและรายได้ปานกลางจะถูกจำกัดลงอย่างมาก ทำให้คนกลุ่มนี้ซึ่งมีสัดส่วนของการใช้จ่ายต่อรายได้สูง (b  อาจสูงถึง 0.85-0.90) จะต้องปรับตัวลดการใช้จ่ายต่อรายได้ลงอย่างมากในช่วงที่มีความไม่แน่นอนและขาดความมั่นใจใน 1-2 ปีข้างหน้า

 

จะเห็นได้ว่า 2 ภาคเศรษฐกิจหลักของประเทศน่าจะฟื้นตัวได้ช้ามากและคงจะไม่สามารถเป็นหัวจักรในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยได้มากนักใน 2-3 ปีข้างหน้า ดังนั้นในครั้งต่อไปผมจะขอเขียนถึงภาคเศรษฐกิจอื่นๆ โดยในครั้งนี้จะทิ้งท้ายเอาไว้ว่าข้อดีของการชะลอตัวลงของการใช้จ่ายภายในประเทศคือการชะลอตัวลงอย่างรุนแรงของการนำเข้า แต่ก็ทำให้ประเทศไทยยังเกินดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างต่อเนื่องทำให้เงินบาทไม่ได้อ่อนค่าลงมากนักในปีนี้ครับ