ถอดบทเรียน 'ทางลักผ่าน' ปิดตำนานจุดตัด 2,684 แห่ง

ถอดบทเรียน 'ทางลักผ่าน'  ปิดตำนานจุดตัด 2,684 แห่ง

อุบัติเหตุจากจุดตัดรถไฟเกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้งทั่วประเทศการรถไฟฯยอมรับว่า จุดตัดรถไฟที่เกิดอุบัติเหตุซ้ำซ้อนระหว่างปี 58 - 62 มีจำนวน 35 แห่ง

ต้องขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวผู้เสียชีวิต และผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ จากเหตุการณ์ขบวนรถไฟบรรทุกสินค้าคอนเทนเนอร์จากสถานีแหลมฉบัง - ไอซีดีลาดกระบัง ชนกับรถบัสโดยสาร ที่นำคณะผู้โดยสารจากจังหวัดสมุทรปราการ ไปทอดกฐินที่วัดบางปลานัก จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก เมื่อวันที่ 11 ต.ค.ที่ผ่านมา

ซึ่งเหตุการณ์ในลักษณะนี้ ต้องยอมรับว่าไม่ได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก เพราะที่ผ่านมาอุบัติเหตุจากจุดตัดรถไฟเกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้งทั่วประเทศ โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ออกมายอมรับว่า จุดตัดรถไฟที่เกิดอุบัติเหตุซ้ำซ้อนในระหว่างปี 2558- 2562 มีจำนวน 35 แห่ง ถือเป็นจุดตัดที่ต้องเร่งแก้ไขโดยด่วน อาทิ แก่งคอย-บ้านช่องใต้, หนองปลาดุก-สุพรรณบุรี, สารภี-ป่าเส้า, โพธาราม-เจ็ดเสมียน และพานทอง-ชลบุรี

ปัจจุบันกระทรวงคมนาคม ได้มอบหมายให้กรมการขนส่งทางราง (ขร.) เร่งลงพื้นที่สำรวจ และจัดทำแผนแก้ไขปัญให้เหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาสร้างเป็นทางลอดใต้ทางรถไฟ หรือทางยกระดับข้ามทาง หรือจะติดตั้งเพียงแค่เครื่องกั้นอัตโนมัติ พร้อมทั้งจะมีการออกแบบรายละเอียดการก่อสร้าง เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปดำเนินการก่อสร้างได้ทันที  โดยจะจัดใช้งบประมาณกองทุนเพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน (กปถ.) วงเงิน 29.5 ล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างจัดหาที่ปรึกษา ใช้เวลาศึกษา 15 เดือน แล้วเสร็จต้นปี 2565

ขณะที่ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้ออกมาแอคชั่นในเรื่องนี้ทันที สั่งการให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ลงสำรวจความปลอดภัยบริเวณจุดตัดทางรถไฟทั่วประเทศ ตรวจสอบทุกจุดตัดรถไฟว่าเป็นจุดตัดที่ได้มาตรฐาน ได้รับการอนุญาต หรือเป็นทางลักผ่าน รวมทั้งให้วางแนวทางแก้ไขจุดตัดทั่วประเทศให้ปลอดภัยทั้งหมด

สำหรับข้อมูลเบื้องต้นพบว่าปัจจุบันทั่วประเทศ มีจุดตัดทางรถไฟ จำนวน 2,684 แห่ง แบ่งออกเป็นทางข้าม 192 จุด ทางลอด 214 จุด และทางเสมอระดับ(ระดับดิน) 2,278 จุด ทั้งนี้เมื่อพิจารณาเฉพาะทางเสนอระดับ หรือระดับดินพบว่าเป็นทางเสมอระดับที่ได้รับอนุญาติที่ถูกต้องตามกฎหมายรถไฟ 1,675 จุด คิดเป็น 61.73% โดนส่วนนี้ได้ติดตั้งเครื่องกั้นแล้ว 1,450 แห่ง มีไฟกระพริบและป้ายสัญญาณเตือน 207 แห่ง ส่วนจุดตัดเสมอระดับประเภททางลักผ่าน มีจำนวน 621 แห่ง คิดเป็น 23.14%

“ผมสั่งให้การรถไฟฯ ลงไปสำรวจจุดตัดรถไฟทั้ง 2,684 แห่ง ร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ ผู้ดูแลรับผิดชอบถนนในท้องถิ่น เพื่อพิจารณาดูว่าควรจะทำการปิด หรือเปิดจุดตัดตรงจุดไหนบ้าง เพื่อความปลอดภัยสูงสุด หากจุดไหนคิดว่าจำเป็นต้องมี ก็ต้องทำการติดตั้งอุปกรณ์ความปลอดภัยให้ครบถ้วน หากตรงไหนมีความเสี่ยงเห็นว่าควรปิดทาง ก็ต้องดำเนินการปิดจุดตัด”

เรียกได้ว่าวันนี้ จากอุบัติเหตุครั้งสำคัญทำให้เกิดความสูญเสีย เป็นเสมือนบทเรียนราคาแพง ของทุกหน่วยงานที่ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของการเดินทาง ในอนาคตอันใกล้ หวังได้เพียงว่าประเทศไทยจะเร่งแก้ไขจุดบอดการเดินทางสองโหมด ปิดปัญหาจุดตัดรถไฟ และการใช้รถ ให้เดินทางร่วมกันอย่างปลอดภัย

ซึ่งแว่วว่า ร.ฟ.ท.ไม่รีรอ ร่วมกับจังหวัดและชุมชน เพื่อเริ่มตรวจสอบจุดตัดทางลักผ่านที่มีอยู่ในปัจจุบัน ประสานหน่วยงานเจ้าของถนนทางผ่าน เพื่อพิจารณาจุดตัดที่จะต้องติดตั้งเครื่องกั้นทางรถไฟอัตโนมัติ ส่วนทางลักผ่านขนาดเล็กจะดำเนินการปิด และรวมจุดตัดทางรถไฟโดยก่อสร้างถนนเลียบทางรถไฟ (Collector Road) เพื่อข้ามทาง ณ จุดที่ปลอดภัยแทน