การชุมนุมประท้วงที่ 'รุนแรงที่สุด' ในรอบ 50 ปี

การชุมนุมประท้วงที่ 'รุนแรงที่สุด' ในรอบ 50 ปี

"การชุมนุมประท้วงที่รุนแรงที่สุดในรอบ 50 ปี" เกิดขึ้นที่ไหน? ความรุนแรงที่ว่านี้มีอะไรบ้าง และเกิดขึ้นที่ไหน

            คำถามแรกที่เกิดขึ้นหลังเห็นจั่วหัวข้างต้นก็น่าจะได้แก่ การชุมนุมที่ว่านี้เกิดขึ้นที่ไหน ?  เพราะการบอกว่า  รุนแรงที่สุดในรอบ 50 ปี  นั้น มันจะต้องรู้ว่า รุนแรงภายใต้บริบทสังคมใด  อย่างของบ้านเรา ถ้าจะบอกว่า ความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับการชุมนุมประท้วงที่รุนแรงที่สุดที่ผ่านมาก็น่าจะได้แก่ เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519”  และน่าจะเรียกได้ว่าเป็นความรุนแรงที่รุนแรงที่สุดเท่าที่เคยเกิดขึ้นกับผู้ชุมนุมประท้วง และอาจจะไม่ใช่รุนแรงที่สุดเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น  อาจจะครอบคลุมเหนืออีกหลายๆสังคม ซึ่งผมตอบไม่ได้เพราะไม่ได้ศึกษาเรื่องความรุนแรงโดยตรง                                                                          

              กลับมาที่ การชุมนุมประท้วงที่รุนแรงที่สุดในรอบ 50 ปี กันดีกว่าครับ  ความรุนแรงที่ว่านี้มีอะไรบ้าง การประท้วงเริ่มจากการดื้อแพ่งไม่เคารพกฎหมายต่างๆ สร้างสิ่งกีดขวาง กีดขวางทางจราจร ทำลายกล้องจราจร จลาจล ไม่สนใจกฎระเบียบใดๆในลักษณะแบบรวมหมู่ หรือที่ฝรั่งเขาเรียกว่า อนาธิปไตยแบบฝูงชน  ทำลายทรัพย์สิน   ปล้นร้านค้า เผารถยนต์ ทุบกระจก ทำร้ายเจ้าหน้าที่ตำรวจ มีผู้เสียชีวิตทั้งหมดรวม 10 ราย ส่วนจำนวนของผู้เข้าร่วมชุมนุมมีกว่าสามแสนคน  มีการเรียกร้องให้ผู้นำประเทศลาออก ในการประท้วง ผู้ชุมนุมได้ปิดถนนสำคัญหลายเส้นทั่วประเทศกว่า 2000 จุด   สกัดไม่ให้คนเข้าโรงกลั่นและโกดังเก็บน้ำมัน ส่งผลให้เกิดการจราจรติดขัดในเมืองหลวงและเมืองใหญ่อีกหลายเมือง และถึงกับต้องมีการปิดท่าอากาศยานก่อนเวลา

              กลุ่มผู้ประท้วงได้เสนอให้ผู้บัญชาการทหารสูงสุดเข้าบริหารประเทศแทน ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการประท้วงคิดเป็นมูลค่าประมาณ 111-148 ล้านบาท ร้านขายปลีกบางร้านมียอดจำหน่ายลดลงระหว่างการชุมนุมร้อยละ 20-40   ส่วนร้านอาหารบางร้านเสียรายได้ไปร้อยละ 20-50 ตำรวจจับกุมผู้ประท้วงมากกว่า 400 คน บาดเจ็บ 130 ราย  ส่วนเจ้าหน้าที่บาดเจ็บ 23 ราย อนุสรณ์สถานและสถานที่สำคัญของประเทศได้รับความเสียหาย ต้องปิดซ่อมแซมอย่างไม่มีกำหนดเปิด  บางแห่งถูกพ่นสี  อาคารบางแห่งถูกเผา การชุมนุมประท้วงยังขยายไปที่กลุ่มนักเรียนที่ลงมือเผาอาคารของโรงเรียน เพื่อแสดงความคัดค้านระบบการสมัครสอบเข้ามหาวิทยาลัยของกระทรวงศึกษาธิการ มีการจับกุมผู้ก่อเหตุราว 140 ราย เฉพาะในเมืองหลวงมีรถยนต์ถูกเผากว่า 100 คัน

           ในการประท้วงบางครั้ง ทางการจำเป็นต้องใช้ตำรวจปราบจลาจล จำนวน 89,000 นาย มีการสั่งให้รถหุ้มเกราะออกปฏิบัติการ พร้อมสั่งปิดสถานท่องเที่ยวสำคัญ เช่น พระราชวัง ฯลฯ  เพื่อรับมือการประท้วง โดยกลุ่มผู้ประท้วงได้เผารถยนต์ ขว้างปาก้อนหิน และปล้นร้านค้าและร้านอาหาร ตำรวจจับกุมผู้ประท้วงกว่า 1,723 คน ในจำนวนนี้ถูกควบคุมตัวไว้สอบปากคำ 1,220 คน มีการประมาณการตัวเลขผู้ประท้วงที่ 136,000 คน  และมีเกิดเหตุยิงกันด้วยในบางเมือง ต่อมาการประท้วงเริ่มขยายตัว มีการจุดไฟเผารถยนต์เผาทำลายแนวกั้นและมีการปะทะกับตำรวจโดยมีผู้ได้รับบาดเจ็บจากแก๊สน้ำตาหลายรายและจับกุมรวม 57 ราย กลุ่มผู้ชุมนุมได้บุกรุกสำนักงานโฆษกรัฐบาล  มีการปาระเบิดเพลิง จุดไฟเผารถจักรยานยนต์ เผาเรือในแม่น้ำ เกิดเหตุแก๊สระเบิดที่เมืองหลวง มีผู้เสียชีวิต 4 ราย        ได้เกิดเหตุมีกลุ่มผู้ชุมนุมอีกฝ่ายหนึ่ง ออกมาปะทะกับกลุ่มผู้ชุมนุมที่ชุมนุมมาก่อน              

                 ต่อมา รัฐบาลได้มีคำสั่งปลดผู้บัญชาการตำรวจในเมืองหลวง ต่อมาสถานเอกอัครราชทูตของบางประเทศได้มีประกาศเตือนนักท่องเที่ยวและประชาชนของตนเกี่ยวกับสถานการณ์การชุมนุมประท้วงที่จะเกิดขึ้นเป็นครั้งที่ 29 ในเมืองหลวง ต่อมาเริ่มมีกลุ่มแรงงานข้ามชาติมาประท้วงในเมืองหลวงอีก 300 คน

               ข้อมูลที่ได้มานี้ ทำให้คนในประเทศดังกล่าวนี้สรุปว่าเป็นการชุมนุมประท้วงดังกล่าวถือเป็นการชุมนุมที่รุนแรงที่สุดในรอบ 50 ปีของประเทศเขา และเป็นการชุมนุมแบบเรื้อรังคือเริ่มตั้งแต่วันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561 จนถึงปัจจุบัน เป็นเวลาเกือบจะสองปีแล้ว แต่เขา (รัฐบาล ผู้ชุมนุม และประชาชนที่ไม่ได้ชุมนุม) ก็อยู่กันมาได้  ไม่ได้ตื่นตระหนกต้องทำรัฐประหาร (แม้ว่าจะมีอารมณ์เล็กๆเรียกร้องให้ผู้บัญชาการทหารสูงสุดเข้าปกครองประเทศ)  หรือต้องให้การประท้วงมันต้องจบๆไป หรือรัฐบาลจะต้องลาออกไป (มีแต่ผู้บัญชาการตำรวจโดนปลด) ที่เขาอยู่กันมาได้ เพราะต่างฝ่ายต่างยอมรับคุณค่าประชาธิปไตยกันทั้งสองฝ่าย จะประท้วงก็ประท้วงกันไป  รัฐบาลก็อยู่ไปหากไม่มีเงื่อนไขในรัฐสภาหรืออื่นๆที่ทำให้ต้องลาออกหรือยุบสภาตามกลไกของรัฐธรรมนูญ  ความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้นมีมาก 

                 ถ้าสมมติว่า สถานที่ๆต้องปิดตัวลงไปเพราะสาเหตุจากการชุมนุมประท้วงได้แก่ พระราชวังแวร์ซาย หอไอเฟล พิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ โรงอุปรากรปาแลการ์นีเย พิพิธภัณฑ์ออร์แซ ช็องเซลีเซ อาร์กเดอทรียงฟ์เดอเลตวล กร็องปาแล และปาร์กเดแพร็งส์ และท่านผู้อ่านจะคิดยังไง ถ้าบ้านเราต้องผิดพระบรมมหาราชวัง วัดวาอารามที่สำคัญต่างๆ หรือมีการเผาโรงเรียนจากการประท้วงของนักเรียน ฯลฯ   ที่ๆ ผมสมมติเรื่องพระราชวังแวร์ซายนั้น จริงๆแล้ว ผมไม่ได้สมมติครับ เพราะการชุมนุมประท้วงที่รุนแรงที่สุดในรอบ 50 ปีนี้ เกิดขึ้นที่ประเทศฝรั่งเศส หนึ่งในเมืองแม่ดินแดนต้นกำเนิด “สามนิ้ว” (ถ้าสามนิ้วนั้นหมายถึง เสรีภาพ เสมอภาคและภราดรภาพนะครับ !) และประชาธิปไตยสมัยใหม่ของโลก

                    ดังนั้น เราจะดำเนินตามทางของฝรั่งเศสกัน และเราจะอยู่กันไปแบบนี้