ปัญหาการศึกษาไทย กรณี #รับจ้างทำการบ้าน

ปัญหาการศึกษาไทย กรณี #รับจ้างทำการบ้าน

กลับมาเป็นประเด็นในสังคมอีกครั้ง เมื่อเทรนด์ #รับจ้างทำการบ้าน ติดกระแสออนไลน์ในทวิตเตอร์เมื่อไม่นานนี้

ในปัจจุบัน แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่ได้รับความนิยมอย่างมากในไทยนั้นนอกจากจะส่งผลบวก คือเชื่อมโลกเชื่อมไทยเข้าด้วยกันแล้ว ยังเป็นช่องทางที่เอื้อประโยชน์ทางการค้าทั้งสินค้าบริการที่สุจริตและสินค้าบริการสีเทา ตั้งแต่การพนัน การค้าประเวณี หรืออย่างกรณีล่าสุดคือ ธุรกิจรับจ้างทำการบ้าน

ข้อมูลเชิงปริมาณชี้ว่า ในไทยนั้นมีคนใช้โซเชียลมีเดียกว่า 52 ล้านคน โดยที่ Facebook และ Youtube ยังคงอันดับแรกๆ และตามมาด้วย Line, Facebook Messenger, Instagram และ Twitter

แต่หากมองข้อมูลเชิงคุณภาพจะพบว่า แพลตฟอร์มที่หลากหลายนั้นเป็นที่นิยมของคนในแต่ละวัยอย่างแตกต่างกัน อาทิ ไลน์เป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายในเกือบทุกกลุ่มตั้งแต่วัยรุ่นจนกระทั่งวัยเกษียณ เช่นเดียวกับเฟซบุ๊ค ขณะที่ยูทูบ อินสตาแกรม และทวิตเตอร์นั้นเป็นที่นิยมมากกว่าในกลุ่มวัยรุ่น

ทวิตเตอร์นั้นเป็นที่นิยมอย่างมากในกลุ่มวัยรุ่น เพราะสามารถรักษาความเป็นส่วนตัว ดังนั้นจึงสามารถแสดงเสรีภาพในทางความคิดและการแสดงออกได้อย่างเต็มที่ และยังมีการทำ # (แฮชแท็ก) เพื่อเป็นข้อมูลให้ระบบจัดทำสถิติเพื่อจัดเป็นความนิยมเพื่อการประชาสัมพันธ์ทั้งในทางการค้าและบริบทอื่นๆ เมื่อมีคนมากดไลก์หรือรีทวีต (แชร์ซ้ำ) และรวบรวมจนเป็นกระแสสูงสุดของแต่ละวัน

การรับจ้างทำการบ้าน ทำรายงานหรือทำวิจัยนั้นไม่ใช่ปัญหาใหม่ของสังคมการศึกษาไทย แต่กลับมาได้รับความสนใจอีกครั้งเมื่อมีการประกาศรับจ้างอย่างเปิดเผย ท้าทายให้สังคมคิดตามถึงที่มา เหตุผล และผลกระทบของการบ้านและงานต่างๆจากโรงเรียนในไทย

หากพูดถึงนักเรียนในโรงเรียนโดยทั่วไป นักเรียนในประเทศแถบเอเชียโดยเฉลี่ยนั้นมีแนวโน้มที่จะได้รับความเครียดจากการบ้าน บทความ และงานวิจัยมากกว่านักเรียนในแถบอเมริกาและยุโรป เพราะทัศนคตินิยมในการศึกษากระแสหลักและวิชาการที่เข้มข้น ดังนั้นปัญหาปริมาณงานที่มากล้นนี้เกิดขึ้นในทุกช่วงชั้นตั้งแต่ประถมจนถึงอุดมศึกษา จนทำให้เกิดช่องว่างในทางธุรกิจที่มาเติมเต็มความต้องการที่จะลดภาระและความเครียดตรงนี้

แต่หากพูดถึงโรงเรียนและมหาวิทยาลัยที่มีชื่อที่อยู่ทั้งในยุโรปและอเมริกาก็มีการบ้าน รายชื่อหนังสือที่ต้องอ่าน การเขียนบทความและงานวิจัยที่ไม่น้อยเช่นเดียวกับโรงเรียนในเอเชีย เพราะต้องการรักษาคุณภาพการเรียนการสอนและฝึกฝนนักเรียนนักศึกษาของสถาบัน

สิ่งที่แตกต่างของระบบการศึกษาในไทยกับต่างประเทศ โดยเฉพาะในระดับอุดมศึกษาคือ ความโปร่งใสของการเรียนการสอน และระบบโปรแกรมการกลั่นกรองเพื่อป้องกันการทุจริต ดังนั้นทั้งนักเรียนและครูจึงจะต้องมีความสุจริตและขยันในการทำ/ตรวจ การบ้าน/รายงาน

ในโรงเรียนและมหาวิทยาลัยชั้นนำในต่างประเทศจึงอนุญาตให้เข้าถึงข้อสอบเก่าเป็นต้น ดังนั้นนักศึกษาจึงสามารถคาดการณ์หรือประมาณความยากง่ายรวมไปถึงสไตล์การออกข้อสอบของอาจารย์ ขณะที่อาจารย์ก็ไม่สามารถขี้เกียจและเอาข้อสอบเดิมๆ มาใช้ทุกปีได้

ระบบการตรวจข้อสอบและรายงานก็จะมีเกณฑ์ที่ชัดเจน และมีผู้ตรวจข้อสอบที่เป็นกลาง และมีโปรแกรมเพื่อตรวจเช็คการลอกหรือเขียนซ้ำ (Plagiarism) ทั้งจากอินเตอร์เนตหรือแหล่งอื่นๆ อย่างโปรแกรม Turnitin ที่จะระบุถึง % ของประโยคหรือข้อความที่ซ้ำจากแหล่งอื่นที่มีคนเขียนแล้ว หมายความว่าถ้ามี % ที่สูง ก็มีแนวโน้มที่จะลอกเลียนมาจากแหล่งอื่นสูง

เครื่องมือที่สามารถป้องกันการทุจริตจึงมีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าทัศนคติต่อการทุจริต นักเรียน ครู และผู้บริหารโรงเรียนสามารถเปิดตายอมรับปัญหาในระบบการศึกษาจากกรณีจ้างทำการบ้าน เปิดปากคุยกันถึงปริมาณการบ้านที่เหมาะสม เปิดใจเรียนรู้จากปัญหานี้และเรียนรู้แก้ไขปัญหาอื่นๆ ต่อไปเพื่อสร้างเยาวชนที่ทั้งเก่งและดีแก่ประเทศชาติของเรา