ใบส้ม กกต.

ใบส้ม กกต.

กรณียื่นคำร้องให้ศาลฯ มีคำสั่งเพิกถอนสิทธิรับสมัครรับเลือกตั้งของผู้คัดค้าน สำหรับการเลือกตั้ง ส.ส.เชียงใหม่ เขตเลือกตั้งที่ 8 เมื่อ มี.ค.62

จากการที่ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งได้มีคำพิพากษา ที่ 4209/263 ระหว่างคณะกรรมการการเลือกตั้ง ผู้ร้อง กับนายสุรพล เกียรติไชยากร ผู้คัดค้าน กรณีที่ผู้ร้องได้ยื่นคำร้องให้ศาลฯ มีคำสั่งเพิกถอนสิทธิรับสมัครรับเลือกตั้งของผู้คัดค้าน และให้ผู้คัดค้านชดใช้ค่าใช้จ่ายสำหรับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จ.เชียงใหม่ เขตเลือกตั้งที่ 8 เมื่อวันที่ 24 มี.ค.2562 เป็นเงิน 9,683,755.12 บาท ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 226 

ประกอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2561 (ในคำพิพากษาฯ หน้าที่ 4 และ 26 พิมพ์ผิดว่าพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2561) มาตรา 132, 138

โดยผู้ร้องอ้างว่าเป็นผลมาจากการที่ผู้ร้องได้มีคำสั่งให้ระงับสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้คัดค้านไว้เป็นการชั่วคราว (ใบส้ม) เป็นระยะเวลาหนึ่งปี ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 224 (4) มาตรา 225 และมาตรา 226 ในข้อกล่าวหาที่ว่าผู้คัดค้านได้กระทำการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2561 มาตรา 73 วรรคหนึ่ง (2) การเพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนเลือกตั้งให้แก่ตนเอง

คดีมีปัญหาข้อเท็จจริงว่า การแจ้งข้อกล่าวหาแก่ผู้คัดค้านของคณะกรรมการการสืบสวนและไต่สวนเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ซึ่งศาลฯ ได้วินิจฉัยว่าเป็นการดำเนินการตามมติของคณะกรรมการการเลือกตั้งในการประชุมครั้งที่ 40/2562 วันที่ 4 เม.ย.2562 มิใช่เป็นการแจ้งข้อกล่าวหาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายดังที่ผู้คัดค้านกล่าวอ้าง ส่วนประเด็นข้อต่อสู้ของผู้คัดค้านที่ว่าการสืบสวนและไต่สวนของคณะกรรมการสืบสวนและไต่สวนไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้นศาลฯ วินิจฉัยว่าทุกข้อรับฟังไม่ได้

สำหรับปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปว่าผู้คัดค้านกระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2561 มาตรา 73 วรรคหนึ่ง (2) เป็นเหตุให้การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในส่วนที่เกี่ยวข้องกับผู้คัดค้าน มิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรมตามมาตรา 132 และศาลฎีกาต้องมีคำสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้คัดค้านตามมาตรา 138 หรือไม่นั้น 

ศาลฯ เห็นว่าผู้คัดค้านมีเจตนาเพียงเพื่อถวายเงินค่าบูชาเทียนสะเดาะเคราะห์สืบชะตาและนาฬิกาให้แก่พระครู ถ. เป็นการส่วนตัว เพื่อเสริมสิริมงคลเนื่องในวันคล้ายวันเกิดที่จะมาถึงในวันรุ่งขึ้น ส่วนที่พระครู ถ.ส่งมอบเงินดังกล่าวให้แก่นาย ส. เพื่อสมทบทุนจัดซื้อเครื่องแบบชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ช.ร.บ.) ถือได้ว่าเป็นเรื่องอยู่นอกเหนือความรู้เห็นของผู้คัดค้าน

และที่ปรากฏข้อเท็จจริงตามทางไต่สวนว่าภายหลังผู้คัดค้านถวายเงินแก่พระครู ถ. ผู้คัดค้านพูดออกไมโครโฟนโดยมีนาย ย.ยืนอยู่ข้างๆ นั้น พยานผู้ร้องปากนาย ส.และนาย ก.ให้ถ้อยคำไว้ในชั้นตรวจมูลกรณีเมื่อวันที่ 14 มี.ค.2562 ตรงกันว่า ในวันดังกล่าวผู้คัดค้านไม่ได้พูดหาเสียง แต่ได้กล่าวทักทายกับชาวบ้านเท่านั้น แม้นาย ส.ให้ถ้อยคำต่อคณะกรรมการสืบสวนและไต่สวนเมื่อวันที่ 22 มี.ค.2562 ว่าผู้คัดค้านพูดขอฝากเนื้อฝากตัว แต่ไม่ปรากฏว่าผู้คัดค้านใช้ถ้อยคำในการพูดขอฝากเนื้อฝากตัวอย่างไร จึงไม่เพียงพอรับฟังว่าผู้คัดค้านไปที่หอประชุมบ้านกู่ฮ้อสามัคคี โดยมีเจตนาหาเสียงเป็นสำคัญ

ข้อเท็จจริงตามทางการไต่สวนยังรับฟังไม่ได้ว่าผู้คัดค้านถวายเงินจำนวน 2,000 บาทแก่พระครู ถ.เพื่อเป็นการสื่อให้ชาวบ้านเข้าใจว่าผู้คัดค้านได้บริจาคเงินสมทบให้แก่กองผ้าป่าสามัคคีของหมู่บ้าน เพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนให้แก่ตนเอง ด้วยวิธีการให้เงินไม่ว่าจะโดยตรงหรือโดยอ้อมแก่ชุมชน อันจะเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2561 มาตรา 73 วรรคหนึ่ง (2) ตามคำร้อง

เมื่อฟังว่าผู้คัดค้านไม่ได้กระทำความผิดตามคำร้องแล้ว ผู้คัดค้านจึงไม่จำต้องชดใช้ค่าใช้จ่ายสำหรับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงใหม่ เขตเลือกตั้งที่ 8 ตามคำร้อง จึงพิพากษาให้ยกคำร้อง

ความเห็นผู้เขียน

1.จากการที่เลขาธิการ กกต.ได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่าศาลฯ เห็นด้วยกับ กกต.ในการให้ใบส้มนั้นไม่ตรงกับข้อเท็จจริง (www.nationtv.tv/main/content/378798337) เพราะศาลฯ วินิจฉัยแต่เพียงว่ากระบวนการการแจ้งข้อกล่าวหาแก่ผู้คัดค้านของคณะกรรมการการสืบสวนและไต่สวนเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว และการสืบสวนและไต่สวนกรณีของผู้คัดค้านชอบด้วยกฎหมายหรือไม่นั้น ศาลฯ วินิจฉัยว่าข้อต่อสู้ของผู้คัดค้านทุกข้อรับฟังไม่ได้เท่านั้น และที่สำคัญคือได้วินิจฉัยว่า “...เมื่อฟังว่าผู้คัดค้านไม่ได้กระทำความผิดตามคำร้องแล้ว...” อีกเสียด้วย

2.การที่ กกต.อ้างว่ารัฐธรรมนูญให้อำนาจตามมาตรา 225 ให้ถือเป็นที่สุดและคุ้มครองหากกระทำโดยสุจริตนั้น ต้องเป็นการกระทำที่เป็นการใช้ดุลยพินิจโดยชอบด้วยเหตุของหลักการและเหตุผล แต่หากเป็นการกระทำโดยการจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงจนศาลฎีกายกคำร้องนั้นไม่อยู่ในการคุ้มครองแต่อย่างใด

ฉะนั้น เมื่อเป็นการใช้ดุลยพินิจโดยไม่ชอบและเป็นการจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงจนเกิดความเสียหายเช่นนี้ การให้ใบส้มจึงสามารถถูกเพิกถอนได้ และ กกต.จะต้องรับผิดในผลแห่งการละเมิดนี้ด้วยเช่นกันครับ

อนึ่ง ขนาดคำพิพากษาของศาลที่ถึงที่สุดแล้วยังสามารถนำมาพิจารณาคดีใหม่ได้ หากมีข้อเท็จจริงใหม่เกิดขึ้น แล้วคำสั่งใบส้มของ กกต.เป็นอะไรหรือ จึงไม่สามารถนำมาพิจารณาใหม่ได้ ทั้งๆ ที่มีข้อเท็จจริงใหม่คือคำพิพากษาฎีกานี้ ก็ทำงานกันแบบนี้ จึงมีข้อเสนอในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญจำนวนมากที่จะให้ใบส้มจนถึงใบแดงใบดำแก่ กกต.น่ะครับ

(ดูความเห็นประกอบ https://prachatai.com/journal/2020/09/89742)