‘กลยุทธ์’ควรจะมุ่งเน้นในธุรกิจหลักหรือทำให้ครบวงจร?

‘กลยุทธ์’ควรจะมุ่งเน้นในธุรกิจหลักหรือทำให้ครบวงจร?

'กลยุทธ์การขยายตัวในแนวดิ่ง' เป็นหนึ่งในกลยุทธ์ที่นิยมกันมาก สตาร์ทอัพจำนวนมาก เช่น Netflix ก็หันมาใช้กลยุทธ์นี้สร้างโมเดลธุรกิจรูปแบบใหม่

การเติบโตขององค์กรนั้นมีหลายทางเลือก โดยแนวทางหนึ่งซึ่งเป็นนิยมและใช้กันมาตั้งแต่อดีตคือ สิ่งที่เรียกว่า การเติบโตในแนวดิ่ง หรือ Vertical Integration ซึ่งคือการที่ย้อนกลับไปทำธุรกิจต้นน้ำ หรือธุรกิจที่เป็น Supplier หรือเลือกที่จะไปข้างหน้า เพื่อทำธุรกิจที่เป็นปลายน้ำหรือลูกค้า ในอดีตกลยุทธ์การขยายตัวในแนวดิ่งเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ที่นิยมกันมาก

อย่างไรก็ดี ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา นักวิชาการก็มักจะไม่ค่อยแนะนำกลยุทธ์นี้เท่าใด เนื่องจากจะต้องมีการลงทุนในสินทรัพย์และเป็นการทำในสิ่งที่ธุรกิจไม่ได้ชำนาญ ประกอบกับในทางวิชาการก็มีแนวคิดที่ว่าองค์กรธุรกิจควรจะมุ่งเน้นและให้ความสำคัญความสิ่งที่เชี่ยวชาญ ชำนาญ เป็นหลัก ส่วนในสิ่งที่องค์กรไม่เชี่ยวชาญหรือไม่ใช่ธุรกิจหลักนั้นก็สามารถที่จะ Outsources ให้กับผู้อื่นทำได้

จากแนวคิดในทางวิชาการก็นำไปสู่การรับรู้ในวงกว้างว่า กลยุทธ์ที่ดีและเหมาะสมนั้นคือการมุ่งเน้นในธุรกิจหลักที่ตนเองถนัดและเชี่ยวชาญ ดังนั้น เมื่อ Apple ตัดสินใจที่จะเปิดร้านค้าของตนเอง (Apple Store) ขึ้นมา จึงได้มีหลายๆ บทความที่วิจารณ์กลยุทธ์ดังกล่าวของ Apple เช่น มีบทความหนึ่งในปี 2544 ที่พาดหัวว่า “Sorry, Steve : Here’s why Apple stores won’t work” รวมถึงเมื่อ Amazon เริ่มที่จะออกเครื่องอ่าน e-reader ของตนเองขึ้นมา (ภายใต้แบรนด์ Kindle) นักวิจารณ์จำนวนมากก็มองว่าการเข้าสู่ธุรกิจอิเล็กทรอนิกส์เป็นกลยุทธ์ที่ผิดพลาดของ Amazon เนื่องจากออกจากธุรกิจหลักที่ตนเองเชี่ยวชาญ

มีบทวิเคราะห์โดยอาจารย์จาก Columbia ที่ระบุว่านักวิชาการและนักวิจารณ์ในยุคดังกล่าวให้ความสำคัญกับเรื่องของความสามารถ ความเชี่ยวชาญ ที่องค์กรธุรกิจมีอยู่อย่างผิดพลาด ทั้งนี้เนื่องจากความสามารถหรือความเชี่ยวชาญ (ภาษาอังกฤษเขาใช้คำว่า Capability, Competency) สามารถที่จะล้าสมัยและไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้ และกลายเป็นตัวถ่วงที่ทำให้ธุรกิจมองไม่เห็นโอกาสในการเติบโต เนื่องจากมัวแต่ยึดติดว่าโอกาสต่างๆ ที่มองเห็นนั้นไม่เหมาะสมกับองค์กรเนื่องจากไม่สอดคล้องกับความเชี่ยวชาญหรือความสามารถที่มีอยู่

แนวคิดที่ยึดติดและยึดมั่นกับสิ่งที่ตนเองเชี่ยวชาญนั้น จะทำให้ผู้บริหารในองค์กรมองกรอบในการคิดและการเติบโตทางกลยุทธ์ขององค์กรที่แคบและไม่เหมาะสม เนื่องจากความเชี่ยวชาญและความสามารถที่มีอยู่นั้น เมื่อเวลาผ่านไปก็จะล้าสมัยได้ อีกทั้งองค์กรก็จะต้องเร่งสร้างความสามารถใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา เพื่อสามารถตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว

Apple เป็นหนึ่งในบริษัทที่มีการขยายตัวในแนวดิ่งอย่างครบวงจร และยังมีแนวโน้มที่จะขยายต่อไปเรื่อยๆ ซึ่งก็ทำให้เห็นว่าการบูรณาการทุกอย่างตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำของ Apple นั้นนำไปสู่สินค้าและบริการที่มีคุณภาพ เชื่อมต่อกันได้ทั้งหมด รวมทั้งสร้างประสบการณ์ที่ลูกค้าไม่สามารถหาจากคู่แข่งรายอื่นได้ พิสูจน์ได้จากมูลค่าของบริษัท Apple ที่ขึ้นไปแตะ 2 ล้านล้านดอลลาร์ได้เป็นบริษัทแรก

Netflix ก็เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของการขยายตัวในแนวดิ่ง โดยนอกจากการขยายตัวไปยังประเทศต่างๆ และหาสมาชิกเพิ่มขึ้นแล้ว เพื่อตอบสนองต่ออำนาจต่อรองของบรรดาผู้ผลิตภาพยนตร์ที่เพิ่มขึ้น Netflix ก็ได้ย้อนกลับไปผลิตภาพยนตร์และซีรีส์ขึ้นมาเอง เพื่อให้มั่นใจได้ว่าจะมีเนื้อหาที่ดีมานำเสนอต่อสมาชิก

นอกจากบรรดาบริษัทยักษ์ใหญ่แล้ว สตาร์ทอัพจำนวนมากก็หันมาใช้กลยุทธ์การขยายตัวในแนวดิ่ง และสามารถสร้างโมเดลธุรกิจรูปแบบใหม่ในรูปของ DNVB (Digital Native Vertical Brand) ขึ้นมาได้ (ได้นำเสนอเรื่องราวของ DNVB ไปเมื่อ 3-4 สัปดาห์ที่ผ่านมา)

การขยายตัวในแนวดิ่งมีแนวโน้มจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ก็มีข้อที่ควรระวังเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านของการลงทุนที่ต้องเพิ่มขึ้น ซึ่งก็ต้องประเมินว่าผลลัพธ์ที่จะได้นั้น (ทั้งในเชิงคุณภาพของสินค้าและบริการ ประสบการณ์ที่ลูกค้าจะได้รับ ฯลฯ) จะคุ้มกับการลงทุนที่จะเกิดขึ้นหรือไม่