กระบวนการนวัตกรรมเชิงพาณิชย์

กระบวนการนวัตกรรมเชิงพาณิชย์

“นวัตกรรม” ในความหมายทั่วไป หมายถึงการสร้างสรรค์ของใหม่ที่ได้รับความนิยมยอมรับจากบุคคลทั่วไปว่าเป็นสิ่งที่ดีกว่า

มีคุณประโยชน์มากกว่าของเดิมที่เคยเห็นหรือมีใช้กันอยู่แล้ว ในทางธุรกิจ การสร้างนวัตกรรมขึ้นมาได้สำเร็จ จะสร้างมูลค่าเพิ่ม ผลกำไร และขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับธุรกิจได้เหนือกว่าคู่แข่ง นวัตกรรมที่ทำให้เกิดมูลค่าเพิ่มทางธุรกิจให้กับเจ้าของผู้สร้างนวัตกรรมขึ้น และจะถูกเรียกโดยเฉพาะว่านวัตกรรมเชิงพาณิชย์

การสร้างนวัตกรรม ประกอบด้วยกระบวนการสำคัญ 2 ขั้นตอน ซึ่งได้แก่ ขั้นตอนการสร้าง และ ขั้นตอนการทำให้เกิดการยอมรับของผู้คน จนกระทั่งกลายมาเป็นลูกค้าหรือผู้บริโภคที่มีความต้องการใช้นวัตกรรมที่ถูกสร้างขึ้นมานั้น

ขั้นตอนการสร้างนวัตกรรม เริ่มต้นจากความคิดสร้างสรรค์ การแสวงหาโอกาสทางการตลาด หรือการหาวิธีการในการนำทรัพยากรต่าง ๆ ที่มีอยู่แล้วมาประยุกต์ใช้ในรูปแบบที่แปลกใหม่ออกไปจากการใช้แบบเดิม

เมื่อเกิดความคิดสร้างสรรค์ หรือค้นพบโอกาสใหม่ทางการตลาด ขั้นตอนต่อไปของการสร้างนวัตกรรม ก็จะเป็นการค้นคว้า วิจัย ออกแบบ พัฒนา เพื่อให้ได้ต้นแบบของผลิตภัณฑ์หรือบริการที่ต้องการนำเสนอออกสู่ตลาด

ขั้นตอนการวิจัยพัฒนา อาจต้องทำซ้ำ ๆ เพื่อปรับแต่งให้นวัตกรรมนั้นมีประสิทธิภาพการใช้งานได้ดีที่สุด

เครื่องมือสำคัญที่ต้องนำมาใช้ในขั้นตอนแรกนี้ คือองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้อง ทักษะ ความสามารถทางเทคนิค ความสามารถในการวิจัยตลาด ความสามารถในการค้นหาข้อมูลที่ต้องการ ของบุคลากรและทีมงานที่มีอยู่ของธุรกิจ หรือของเครือข่ายพันธมิตรของธุรกิจ ที่จะนำไปสู่การสร้างต้นแบบของผลิตภัณฑ์หรือบริการนวัตกรรมได้อย่างเป็นรูปธรรม

ขั้นตอนที่ 2 ได้แก่ ขั้นตอนในการแพร่กระจายนวัตกรรมออกไปให้เกิดการรู้จักและความต้องการในการซื้อหานวัตกรรมนั้น ๆ มาใช้งาน

ในขั้นตอนที่ 2 นี่เองที่จะเป็นตัวตัดสินว่า ธุรกิจที่เป็นเจ้าของนวัตกรรมนี้จะประสบความสำเร็จเชิงพาณิชย์ได้หรือไม่ เนื่องจากกระบวนการแพร่กระจายของนวัตกรรมจะนำไปสู่การตัดสินใจยอมรับหรือปฏิเสธนวัตกรรมนั้น ๆ โดยผู้บริโภค

ปัจจัยแห่งความสำเร็จที่สำคัญในการทำให้การแพร่กระจายของนวัตกรรมออกไปสู่ตลาดได้ประสบความสำเร็จขึ้นอยู่กับ

1.ลักษณะของนวัตกรรมที่นำเสนอออกสู่ตลาด จะต้องแสดงคุณลักษณะที่เหนือกว่าสิ่งที่มีอยู่ในปัจจุบันอย่างเห็นได้ชัด ไม่ยุ่งยากและซับซ้อนในการใช้งาน หรือสามารถทำความคุ้นเคยกับการใช้งานได้ง่าย

2.อัตราเร็วของการแพร่กระจายหรือการยอมรับนวัตกรรมผ่านกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งจะแบ่งกลุ่มเป้าหมายในการยอมรับนวัตกรรมออกเป็นกลุ่มตามลักษณะของความยากง่ายในการยอมรับนวัตกรรม เช่น กลุ่มล้ำสมัย จะยอมรับนวัตกรรมใหม่ได้รวดเร็วที่สุด ทำให้เกิดกลุ่มนำสมัย กลุ่มทันสมัย กลุ่มตามสมัย และกลุ่มล้าสมัย ตามมาตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม ประโยชน์เชิงพาณิชย์จากการสร้างสรรค์นวัตกรรม แม้จะให้ผลตอบแทนสูงแก่ธุรกิจ แต่ก็ต้องยอมรับว่ามีมิติของความเสี่ยงที่นวัตกรรมจะไม่เป็นที่ยอมรับของตลาดอยู่ด้วย

ความเสี่ยงของการสร้างนวัตกรรมในเบื้องต้น ได้แก่ การเลือกใช้บุคลากรในทีมสร้างสรรค์นวัตกรรมที่ไม่เหมาะสม หรือไม่มีความรู้ความสามารถเพียงพอ การประเมินความสามารถของเทคโนโลยีที่ผิดพลาด การเลือกใช้เทคโนโลยีที่ไม่เหมาะสม ฯลฯ

ตลอดจนความเสี่ยงในด้านการตลาด เช่น การเลือกช่วงจังหวะเวลาในการเปิดตัวสู่ตลาดผิดพลาด กลยุทธ์ด้านราคา ช่องทางการจำหน่าย ฯลฯ เป็นต้น

การบริหารจัดการ นวัตกรรมเชิงพาณิชย์ ให้ประสบความสำเร็จ เป็นกระบวนการที่ต้องอาศัยทิศทางการตัดสินใจที่ชัดเจนของฝ่ายบริหาร การจัดหาทรัพยากรที่จำเป็นอย่างเพียงพอ ลำดับขั้นตอนในการพัฒนา และความร่วมมือของทีมงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง

และต้องไม่ลืมเรื่องการเตรียมจัดหาแหล่งเงินสนับสนุนที่เหมาะสมและเพียงพออีกด้วย !