อย่าลงทุนเพราะ FOMO อย่าเลือกเพราะ TINA

อย่าลงทุนเพราะ FOMO อย่าเลือกเพราะ TINA

เขียนหัวเรื่องให้ท่านที่ไม่ได้อยู่ใกล้ชิดกับวงการลงทุนอยากอ่านต่อ ว่า FOMO และ TINA คืออะไร สำหรับท่านที่อยู่ในวงการอยู่แล้ว ก็อาจจะอยากอ่าน

สำหรับท่านที่อยู่ในวงการอยู่แล้ว ก็อาจจะอยากอ่านว่า ดิฉันคิดเหมือนท่านไหม

คงไม่มีช่วงเวลาใดในชีวิตการลงทุนของท่านที่อัตราผลตอบแทนจากการลงทุนในเงินฝาก พันธบัตร และตราสารหนี้ซึ่งมีอันดับความน่าเชื่อถือดี อยู่ที่ระดับต่ำเหมือนที่เป็นอยู่ในปีนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปี ของ รัฐบาลสหรัฐอยู่ที่ 0.79% รัฐบาลอังกฤษ อยู่ที่ 0.28% รัฐบาลญี่ปุ่นอยู่ที่ 0.03% ส่วนพันธบัตรอายุ 10 ปี ของรัฐบาลเยอรมนี กับ สวิสเซอร์แลนด์ ในผลตอบแทนเท่ากัน คือ -0.52% ต่อปี

เมื่อเราอยู่ในโลกที่มีอัตราเงินเฟ้อสูง เราจะกังวลว่าต้องรักษาอำนาจซื้อด้วยการหาผลตอบแทนจากการลงทุนที่สูงกว่าอัตราเงินเฟ้อ เพื่ออย่างน้อยเราก็จะสามารถรักษาอำนาจซื้อเอาไว้ได้ เงินออมของเราจะไม่ด้อยค่าลงไป

อย่างไรก็ดี ปัจจุบันเราอยู่ในสภาวะ “ไม่ปกติ” ไม่มีใครรู้แท้แน่นอนว่า อนาคตจะเป็นอย่างไร กิจกรรมที่จะใช้เงิน เช่น การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ลงทุนในธุรกิจใหม่ๆ จึงเกิดขึ้นน้อยกว่าปกติ ความต้องการเงินทุนจึงต่ำ ส่งผลให้กิจกรรมต่างๆลดน้อยลงไปด้วย ราคาของสินค้าจึงไม่ปรับขึ้น ตรงกันข้าม กลับลดลงไปด้วยซ้ำ เรียกได้ว่า ลดแลกแจกแถมกันอุดตลุดในทุกอุตสาหกรรมและบริการ ตลาดเป็นของผู้ซื้ออย่างแท้จริง ราคาปัจจัยการผลิตต่างๆ เช่น น้ำมัน เหล็ก แม้กระทั่งอาหาร (ถ้าผลผลิตไม่ได้ออกมาน้อยเกินควรเนื่องจาก ภัยแล้ว หรือน้ำท่วม ฯลฯ) ก็พลอยมีราคาลดลงไปด้วย คนจึงไม่กังวลกับภาวะเงินเฟ้อ เหมือนที่เคยกังวลมาในอดีต

ไม่ใช่คนทั่วไปอย่างเดียวนะคะ รัฐบาลของประเทศต่างๆด้วยค่ะ ณ ปัจจุบันนี้ หน้าที่หลักของรัฐบาลทุกประเทศ คือ ดูแลให้ประชาชน “อยู่ได้ มีกิน” ไม่ต้องถึงกับอยู่ดีกินดี แต่ขอเพียงไม่อดอยาก

ปัญหาคือ เมื่อภาคเอกชน “หมดแรง” เพราะปรับตัวไม่ทัน เพราะยังวางแผนรับมือไม่ได้ กับอนาคตที่คาดเดาไม่ถูก รัฐจึงเป็นหัวรถจักรตัวเดียว ที่พอจะมีแรงฉุดให้รถไฟของประเทศต่างๆขับเคลื่อนไปข้างหน้า

เมื่อเป็นเช่นนั้น ความกังวลเรื่องอื่น ก็แทบจะสูญสลายไป เมื่อเทียบกับความกังวลว่า จะต้องพยายามลากฉุดรถไฟขบวนนี้ไปข้างหน้าให้ได้ ทฤษฎีนโยบายการเงินยุคใหม่ หรือ Modern Monetary Theory (MMT) จึงถูกนำมาอภิปราย และนำมาอธิบายพฤติกรรมของรัฐบาลในการอัดฉีดเงินเข้าระบบกันอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะในประเทศที่มีความน่าเชื่อถือทางการเงินสูง และสกุลเงินเป็นที่แพร่หลาย เช่นประเทศที่พัฒนาแล้วทั้งหลายที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปี อยู่ต่ำกว่า 1% ที่ดิฉันเขียนไว้ในช่วงต้นนั่นแหละค่ะ

ทฤษฎีนี้เชื่อว่า รัฐไม่ต้องออกพันธบัตรเพื่อหาเงินก็ได้ เพียงแค่พิมพ์เงินออกมา จะแจกให้ประชาชนใช้ หรือจะเอาไปซื้อของจากประเทศอื่น ก็ย่อมได้ ตราบใดที่ผู้ขายยอมรับเงินที่รัฐบาลประเทศนั้นๆพิมพ์ออกมา รัฐจะออกพันธบัตรก็ต่อเมื่อต้องการดูดซับสภาพคล่องออกจากระบบ

นอกจากนี้ รัฐไม่ต้องกังวลว่าจะเกิดภาวะเงินเฟ้อด้วย เพราะตราบใดที่ทรัพยากร เช่น แรงงาน วัสดุก่อสร้าง ฯลฯ ยังเพียงพอ เงินที่อัดฉีดเข้าไปในระบบก็สามารถนำไปซื้อ ใช้จ่ายหมุนเวียนได้ ปัญหาเงินเฟ้อจะเกิดเฉพาะเมื่อรัฐอัดฉีดเงินเข้าไปในระบบ เกินกว่าทรัพยากรที่มีอยู่เท่านั้น ท่านสามารถนึกสภาพได้ค่ะ มีของให้ซื้อน้อย แต่มีเงินเยอะ ก็จะเกิดแย่งกันซื้อ โดยเสนอราคาที่สูงขึ้นนั่นเอง

ทฤษฎีนี้ยังบอกอีกว่า รัฐไม่ต้องกังวลถึงการใช้คืนหนี้ (พันธบัตร) ตราบเท่าที่พิมพ์เงินออกมาแล้วคนยอมรับเอาไปใช้ตามมูลค่า ทั้งนี้ รัฐใช้ภาษีเป็นเครื่องมือในการนำเงินออกจากระบบ หากคิดว่าเศรษฐกิจร้อนแรงจนเกินไป

เจ้าของทฤษฎีนี้คือ วอเรน โมสเลอร์ (Warren Mosler) จบปริญญาตรีเศรษฐศาสตร์ จาก มหาวิทยาลัยคอนเนคติกัต โดยเขียนหนังสือชื่อ “The 7 Deadly Innocent Frauds of Exonomic Policy” ซึ่งทฤษฎีของเขาก็ได้รับการเห็นแย้งจากนักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังหลายท่าน รวมถึง พอล ครุกแมน (Paul Krugman) และ เคนเนท โรกอฟฟ์ (Kenneth Rogoff) ด้วย

อย่างไรก็ดี ปรากฏการณ์ที่ธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟด (Federal Reserve หรือ FED) ออกมาประกาศเมื่อปลายเดือนส.ค ว่า ได้เปลี่ยนจากการเป้าหมายเงินเฟ้อที่ 2% เป็นเป้าหมายเงินเฟ้อเฉลี่ยที่ 2% หมายถึงจะยอมให้มีเงินเฟ้อสูงกว่า 2% ไปได้ในบางช่วงนั้น นักวิเคราะห์ได้ชี้ว่า กรณีนี้แสดงให้เห็นว่า เฟด ตั้งใจจะอัดฉีดเงินเข้าระบบต่อไป และไม่กังวลกับเงินเฟ้อ

การเงินเป็นเรื่องของความเชื่อถือ (Trust) ค่ะ เมื่อใดที่ความเชื่อถือยังอยู่ ก็ไม่มีปัญหา แต่หากรัฐบาลหรือธนาคารกลางของประเทศเหล่านั้น ไร้วินัย ก่อหนี้จนท่วม หนทางที่จะคืนหนี้ได้ คือการออกพันธบัตรใหม่มาใช้หนี้เก่า หรือพิมพ์ธนบัตรเพิ่ม เชื่อว่าความน่าเชื่อถือจะค่อยๆเสื่อมสลายไป และเมื่อถึงวันนั้น หากผู้ลงทุนใหม่ ไม่ยอมซื้อพันธบัตรใหม่ หรือหากผู้คน ไม่ยอมรับธนบัตรที่รัฐบาลโดยธนาคารกลางพิมพ์ออกมา เมื่อนั้นงานเลี้ยงก็ต้องเลิกรา

ดังนั้น การลงทุน จึงมีความเสี่ยงแฝงอยู่เสมอ อย่าวางใจว่าทุกอย่างจะเหมือนเดิมที่เคยเป็นมาหลายสิบปี

ราคาหุ้นของบริษัทในกลุ่มเทคโนโลยีหลายๆบริษัทในประเทศพัฒนาแล้ว พุ่งขึ้นไปสูงลิบลิ่ว ค่าพี/อี (ราคาหุ้นเมื่อเทียบกับกำไรต่อหุ้น) 30-35 เท่า หลายเป็นค่าต่ำ หุ้นบริษัทโปรแกรมประชุมออนไลน์ ค่าพี/อีสูง เทียบกับกำไรเดิม สูงถึง 594 เท่า แม้จะมีการเติบโตของรายได้สูงมาก แต่ค่า พี/อี ที่คำนวณจากกำไรที่คาดไว้ว่าจะได้ในปีนี้ ก็ยังสูงถึง 199 เท่า

สำหรับผู้ลงทุน หากถามตรงๆ หลายคนคงสารภาพว่า ที่ลงทุนอยู่ทุกวันนี้ เลือกลงทุนเพราะไม่มีทางเลือกอื่น หรือ There is no alternative (TINA). หรือหลายๆคนรีบเข้าไปลงทุนในหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี เพราะกลัวตกรถ (Fear of Missing Out--FOMO)

ตรงนี้อันตรายค่ะ ไม่มีใครบังคับให้เราลงทุนได้ หากเราไม่อยากลง เราก็เก็บรักษาเป็นเงินฝาก เช่น ฝากเงินในบัญชีฝากประจำสัก 10-12 เดือน เพราะยังสามารถรักษาอำนาจซื้อได้อยู่ หรือหากมีเงินเย็นเงินยาว อาจจะเลือกซื้ออสังหาริมทรัพย์ทำเลดีๆที่ราคาลดลงมา 30% ฯลฯ และเรายังไม่ได้มองถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจว่าจะไม่เท่ากันในทุกอุตสาหกรรม ในทุกประเทศ

ดิฉันยังเชียร์หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีอยู่ค่ะ แต่หากท่านจะลงทุน แนะนำว่าซื้อผ่านกองทุนรวมดีกว่า เพราะได้กระจายลงทุนในหลายๆบริษัท มีผู้จัดการกองทุนคอยซื้อขาย สลับลงทุนหุ้นนี้หุ้นนั้นให้ หากเห็นว่าราคาสูงจนเกินไปก็ขายทำกำไรออกไป เห็นราคาตกลงมา ก็เข้าไปซื้อ เป็นต้น

เงินอยู่กับเราย่อมเป็นของเรา อย่าลงทุนเพราะกลัวตกรถ (FOMO) และอย่าเลือกลงทุนเพราะคิดว่าไม่มีทางเลือกอื่น (TINA)