Tesla ใช้วิศวกรรมนำตลาด

Tesla ใช้วิศวกรรมนำตลาด

แม้หลายอุตสาหกรรมในปี 2020 ต้องเผชิญกับพิษเศรษฐกิจที่ซบเซาอย่างมาก แต่หุ้นของบริษัทเทสลา (Tesla) ผู้ผลิตรถที่ใช้พลังไฟฟ้า กลับโตขึ้นถึง 400%

จนทำให้เทสลามีมูลค่าตลาดสูงกว่า 400 พันล้านดอลลาร์เมื่อต้นเดือนตุลาคมและก้าวขึ้นเป็นบริษัทอันดับหนึ่งในอุตสาหกรรมยานยนต์ ภาพเทสลาในวันนี้แตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับปี 2010 ที่ย่ำแย่ เมื่อครั้งหุ้นเทสลาเริ่มเข้าเทรดในตลาด NASDAQ ที่ราคา 17 ดอลลาร์ และไม่ปรากฎภาพความสำเร็จของบริษัทรถยนต์น้องใหม่ให้เห็นอย่างเช่นปัจจุบันที่มีราคาหุ้นกว่า 400 ดอลลาร์ภายหลังการแตกหุ้น 1 เป็น 5 หุ้นเมื่อปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา

 

ความสำเร็จของเทสลามีพื้นฐานมาจากการพัฒนาด้านวิศวกรรมที่ประสานเข้ากับนวัตกรรมซอฟต์แวร์ที่ล้ำสมัย ซึ่งสามารถติดตามได้จากข่าวของอีลอน มัสก์ที่มักเป็นเรื่องราวที่ท้าทายความคิดและฉีกกรอบอุตสาหกรรม โดยล่าสุดอีลอนร่วมกับดรูว์ แบ็กลิโน (Drew Baglino) ผู้บริหารด้านวิศวกรรมระบบส่งกำลังและพลังงาน แถลงข่าวในงาน Battery Day ซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 22 กันยายน 2020 ที่โรงงานผลิตรถเทสลาในเมืองฟรีมอนท์ รัฐแคลิฟอร์เนียเพื่อนำเสนอความก้าวหน้าของเทคโนโลยีการผลิตแบตเตอรี่ โดยทั้งสองได้แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นภายในเทสลาที่ยึดหลักด้านวิศวกรรมศาสตร์ กระบวนการผลิต และวิศวกรรมซอฟต์แวร์

 

วิศวกรรมนำทาง

ทีมงานเทสลาได้แถลงถึงแผนการเพื่อทำให้ราคาแบตเตอรี่ (cost per KWh) ลดลงถึง 56% ผ่าน 5 วิธีการได้แก่ การออกแบบแบตเตอรี่ (cell design) การปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิต (cell factory) การปรับวัตถุดิบที่ใช้ในอะโนด (anode materials) การปรับวัตถุดิบที่ใช้ในแคโทด (cathode materials) และการรวมแบตเตอรี่เข้าเป็นส่วนหนึ่งของตัวถังรถ (cell vehicle integration) ซึ่งนักวิเคราะห์อาจเห็นว่าแนวคิดหลายเรื่องที่เทสลากล่าวถึงไม่ใช่เรื่องใหม่ในอุตสาหกรรม เช่นการปรับวัตถุดิบ หรือการสกัดลิเธียมโดยใช้น้ำเป็นตัวทำละลาย แต่เป็นเรื่องของความคุ้มค่าในการผลิตและการทำได้จริง

 

โดยเทสลาหวังว่าด้วยราคาของแบตเตอรี่ที่ลดลงในอนาคต จะทำให้สามารถลดราคารถเทสลาให้ต่ำลงมาที่ 25,000 ดอลลาร์ ซึ่งจะช่วยให้ผู้บริโภคสามารถขับรถ EV ได้แพร่หลายและช่วยลดภาวะโลกร้อนที่กำลังเพิ่มสูงขึ้น หากเทสลาสามารถทำตามแผนการได้จริง นอกจากจะช่วยลดราคาแบตเตอรี่ลงแล้วยังช่วยลดของเสียจากกระบวนการผลิต ช่วยลดต้นทุนการสร้างโรงงาน ทำให้เทสลาสามารถใช้วัตถุดิบที่หาได้ในประเทศเพื่อผลิตแบตเตอรี่ขึ้นใช้เอง โดยอีลอนคาดว่าจะสามารถเริ่มการผลิต (scale up) แบตเตอรี่ใหม่จำนวนมากที่ 100 GWh ในปี 2022 และในปี 2030 จะผลิดได้ถึง 3 TWh จากโรงงาน terafactory

 

พลิกโฉมวิศวกรรมการผลิต

กระบวนการผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถไฟฟ้าประกอบด้วย 4 ขั้นตอนหลักได้แก่ การฉาบอีเลคโตรด (electrode) การขดบรรจุอีเลคโตรด (winding) การประกอบ (assembly) และการอัดกระแสไฟฟ้า (formation) โดยเทสลาต้องการเปลี่ยนกระบวนการผลิตแบบเปียก (wet process) ซึ่งเป็นกระบวนที่ยุ่งยากและใช้เครื่องจักรจำนวนมากไปเป็นกระบวนการผลิตแบบแห้ง (dry electrode) ที่จะช่วยลดขนาดและขั้นตอนการผลิตลงถึง 10 เท่าพร้อมกับประหยัดพลังงาน 10 เท่า เป็นการลดขนาด gigafactory ทีผลิตพลังไฟฟ้าที่ 150 GWh ลง 10 เท่าไปเป็น terafactory ที่ผลิตพลังไฟฟ้าที่ 1 TWh

 

พร้อมพัฒนาเทคโนโลยีขึ้นใหม่เพื่อเปลี่ยนการใช้วัตถุดิบในอะโนดไปเป็น Tesla Silicon ซึ่งจะลดค่าใช้จ่ายในการผลิตไฟฟ้าเหลือเพียง 1.2 ดอลลาร์/KWh โดยจะยกเลิกการใช้แร่โคบอลต์ในแคโทด แต่จะผลิตแคโทดจากแร่นิเกิลและลิเธียม โดยเทสลาจะผลิตลิเธียมเองจากแหล่งแร่ในรัฐเนวาดา ซึ่งหมายถึงการทรานส์ฟอร์มครั้งสำคัญของอุตสาหกรรมการผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมไอออน

 

ซอฟต์แวร์เปิดทาง AV

อีลอนกล่าวว่าเทสลาเป็นทั้งบริษัทฮาร์ดแวร์และบริษัทซอฟต์แวร์ภายในองค์กรเดียวกัน และการพัฒนาซอฟต์แวร์ของเทสลาก็ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงเพื่อใช้งานภายในรถยนต์อย่าง autopilot แต่เทสลาพัฒนาซอฟต์แวร์เพื่อใช้ควบคุมการทำงานของเครื่องจักรในโรงงานอีกด้วย พร้อมกับอธิบายถึงความล่าช้าในการพัฒนาซอฟต์แวร์สำหรับระบบรถไร้คนขับ (AV) ว่าเกิดจากการที่ต้องพัฒนาโปรแกรมขึ้นใหม่ทั้งหมด และเปลี่ยนมาใช้วิธีการ label ในวิดีโอ 3D แทนภาพสำหรับใช้งานกับ AI เพื่อให้รถเทสลาพร้อมต่อการขับเคลื่อนด้วยระบบรถไร้คนขับ

 

ม้าที่วิ่งเร็วขึ้น หรือพาหนะที่ไร้คนขับ

เป็นเรื่องราวที่คุ้นหูกันแล้วว่า ในอดีตก่อนที่จะมีรถยนต์วิ่งให้เห็นบนท้องถนนนั้น ผู้คนอาจนึกไม่ออกว่าจะมีอะไรที่ดีไปกว่าม้าที่วิ่งเร็วขึ้น จนกระทั่งเฮนรี ฟอร์ดผลิตรถยนต์ฟอร์ดสู่ตลาด จึงทำให้การใช้รถม้าเพื่อสัญจรไม่ใช่สิ่งที่ผู้คนต้องการอีกต่อไป ในวันนี้เทสล่าสร้างเทรนด์การใช้รถพลังงานไฟฟ้าเพื่อทดแทนรถยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิง (ICE) โดยเน้นประโยชน์ของการลดภาวะโลกร้อนที่สังคมโลกหว่งใย

 

ถึงในเวลานี้ผู้คนอาจนึกไม่ออกว่าการใช้ชีวิตประจำวันในพาหนะไร้คนขับที่ไม่มีแม้กระทั่งพวงมาลัยรถหรือคันเร่งจะดีกว่ารถยนต์ที่วิ่งเร็วขึ้นได้อย่างไร จึงคงมีเพียงบทเรียนจากความก้าวหน้าทางอุตสาหกรรมในอดีตที่สะท้อนให้เห็นแล้วว่าแม้รถม้าจะวิ่งเร็วขึ้นก็ไม่เป็นที่ต้องการอีกต่อไป และคงเป็นสิ่งซึ่งท้าทายอุตสาหกรรมรถยนต์ให้ต้องเปลี่ยนให้ทันกระแสโลกที่ดีสลัปความต้องการในชีวิตประจำวันของผู้คน เป็นบทพิสูจน์จากอดีตให้เห็นว่าวิศวกรรมนำกระแสความต้องการของตลาด