เศรษฐกิจปัญญาประดิษฐ์ : วาระใหญ่ที่รัฐบาลต้องเตรียมพร้อม

เศรษฐกิจปัญญาประดิษฐ์ : วาระใหญ่ที่รัฐบาลต้องเตรียมพร้อม

หลายปีก่อน Ray Kurzweil นักอนาคตศาสตร์ชื่อดังกล่าวไว้ในหนังสือ The Singularity is near ว่าปี 2025 ปัญญาประดิษฐ์จะก้าวข้ามขีดความสามารถ

ของสมองมนุษย์ และจะฉลาดกว่าสมองของมนุษย์ทุกคนในโลกรวมกันในปี 2045 ซึ่งเขาได้เรียกจุดนั้นว่า “Singularity” หลังจากนั้น โลกจะเปลี่ยนโฉมไปมาก เพราะโลกกำลังก้าวเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจปัญญาประดิษฐ์ ดังที่กล่าวไว้ในหนังสือเรื่อง The AI Economy : Work, Wealth and Welfare in the Robot Age โดย Roger Bootle

ในเรื่องความก้าวหน้าของปัญญาประดิษฐ์ เราได้ยินทั้งเรื่องในด้านบวกเกี่ยวกับการมีปัญญาประดิษฐ์มาช่วยทำงานและแก้ไขปัญหาของมนุษย์ พร้อมกับได้ยินเรื่องในด้านลบที่ปัญญาประดิษฐ์จะมาทดแทนมนุษย์ ทำให้คนส่วนใหญ่กลายเป็นชนชั้นที่ไร้ประโยชน์และไม่มีงานทำ

เราจะสามารถเข้าใจอนาคตของเศรษฐกิจปัญญาประดิษฐ์ได้ดีขึ้น เมื่อมองย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา โดยหากแบ่งประวัติศาสตร์การปฏิวัติอุตสาหกรรมเป็น 4 ครั้งใหญ่ ตามแนวคิดของ Robert Gordon นักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกัน 

การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งแรก คือการเกิดขึ้นของเครื่องจักรไอน้ำและทางรถไฟในสหราชอาณาจักรยุคปลายศตวรรษที่ 18 ซึ่งทำให้มีเครื่องจักรทำงานแทนคนด้วยขีดความสามารถสูงและสามารถเดินทางขนส่งคนและสินค้าในระยะไกล การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 2 เริ่มปลายศตวรรษที่ 19 จากการประดิษฐ์ไฟฟ้า เครื่องยนต์และโทรศัพท์ และการปฏิวัติครั้งที่ 3 เกิดขึ้นในทศวรรษ 1960 ภายหลังการประดิษฐ์คอมพิวเตอร์ที่พาให้โลกเข้าสู่ยุคดิจิทัล

ในปัจจุบัน เรากำลังอยู่ในช่วงการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 คือปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์ จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญคือปี 2016 ที่ปัญญาประดิษฐ์ของบริษัท DeepMind เอาชนะแชมป์โลกในเกมโกะหรือหมากล้อม ซึ่งเป็นเกมกระดานของประเทศจีนที่มีวิธีการเดินหมากจำนวนมากกว่าอะตอมในจักรวาล อย่างไรก็ตาม ปัญญาประดิษฐ์ในปัจจุบันถือว่ามีข้อจำกัดอยู่มาก โดยเฉพาะความสามารถในด้านความคิดสร้างสรรค์ ความฉลาดทางอารมณ์ และการใช้สัมผัสที่ซับซ้อนแบบมนุษย์

งานหลายอย่างจะเริ่มถูกปัญญาประดิษฐ์ทดแทน ดังเช่น บริษัท Mckinsey ได้ชี้ว่าตำแหน่งงาน 375-700 ล้านตำแหน่งจะสามารถทดแทนได้ด้วยหุ่นยนต์ ธนาคารโลกชี้ว่างานร้อยละ 40-50 มีโอกาสสูงที่จะถูกหุ่นยนต์ทดแทน บางงานที่จะหายไป เช่น พนักงานเก็บเงิน พนักงานจัดของร้านของชำ ผู้ช่วยเช็คอินโรงแรม และรวมไปถึงงานที่มีลักษณะทำซ้ำได้ ทั้งงานกฎหมาย บัญชี การแปล การวิเคราะห์ การอ่านฟิล์มเอกซเรย์ การเขียนบทความ การรายงานข่าว ซึ่งปัจจุบัน ปัญญาประดิษฐ์มีความก้าวหน้าสูงไปมาก

อย่างไรก็ตาม ทุกครั้งที่มีการปฏิวัติอุตสาหกรรมก็จะมีการสร้างงานใหม่เกิดขึ้นมาด้วย เช่น ในทศวรรษ 1990 ภาคเกษตรกรรมคิดเป็นร้อยละ 40 ของเศรษฐกิจสหรัฐ แต่ปัจจุบันเหลือเพียงร้อยละ 2 เกษตรกรได้ย้ายไปสู่ภาคอุตสาหกรรมและบริการ โดยการจ้างงานไม่ได้ลดลงจากในอดีต 

WEF ได้ประมาณการว่าในปี 2026 จะมีงานใหม่จำนวน 12.4 ล้านตำแหน่งสร้างขึ้นในสหรัฐ หลายงานที่ปัญญาประดิษฐ์จะทำงานควบคู่ไปกับมนุษย์ เช่น แพทย์ใช้หุ่นยนต์ผ่าตัดช่วยเหลือในการผ่าตัดที่ซับซ้อน หรือคนขับรถยนต์ที่ต้องประจำที่ไว้เพื่อแทรกแซงรถยนต์อัตโนมัติหากมีอุบัติเหตุหรือข้อผิดพลาด

ทั้งนี้ ความก้าวหน้าของปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์จะช่วยปลดปล่อยมนุษย์จากการทำงานที่หนัก งานน่าเบื่อ งานที่ทำซ้ำ ทำให้มนุษย์สามารถนำเวลาที่เหลือไปใช้ชีวิตมากขึ้น ทั้งเพื่องานอดิเรก การพัฒนาตนเอง การช่วยเหลือชุมชนและสังคม เวลาสำหรับครอบครัว เป็นต้น

หลายฝ่ายมองว่าเมื่อผลิตภาพจากหุ่นยนต์สูงขึ้นก็จะนำไปสู่ผลิตภาพโดยรวมของเศรษฐกิจที่สูงขึ้น ซึ่งขึ้นกับรัฐบาลแต่ละประเทศว่าจะสามารถบริหารจัดการการเปลี่ยนผ่านนี้อย่างราบรื่นหรือไม่ ประเด็นใหญ่ๆ ที่ต้องมีการเตรียมการกัน ทั้งเรื่องการเก็บภาษีหุ่นยนต์ (Robot Tax) นโยบายรายได้พื้นฐานที่ทั่วถึง (Universal Basic Income) ประเด็นจริยธรรมของปัญญาประดิษฐ์ เช่น ใครรับผิดชอบหากรถยนต์อัตโนมัติเกิดอุบัติเหตุ เจ้าของรถยนต์หรือบริษัทที่สร้างรถอัตโนมัติ หากมีอุบัติเหตุ ปัญญาประดิษฐ์จะเลือกชนใครระหว่างเด็ก คนสูงวัย หรือเจ้าของรถยนต์ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีประเด็นเรื่องข้อมูลความเป็นส่วนตัว ความมั่นคงด้านข้อมูล อาชญากรรมทางไซเบอร์ รวมถึงข่าวปลอมจากปัญญาประดิษฐ์ และประเด็นใหญ่อย่างเรื่องความเหลื่อมล้ำ

การก้าวเข้าสู่เศรษฐกิจปัญญาประดิษฐ์จะต้องมีการปรับตัวครั้งใหญ่ในด้านการศึกษาและการเรียนรู้ ระบบการศึกษาเพื่อรองรับยุคเศรษฐกิจปัญญาประดิษฐ์จะต้องยกเครื่องใหม่หมด ทั้งในด้านเนื้อหาและวิธีการสอน สาขาวิชาที่สำคัญที่มีการพูดถึงว่า เด็กทุกคนควรจะโฟกัส ทั้งด้าน STEM (วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม คณิตศาสตร์) และวิชาที่เป็นทักษะของมนุษย์โดยเฉพาะ ทั้งด้านความคิดสร้างสรรค์ การริเริ่มสิ่งใหม่ๆ ความเข้าใจผู้อื่น และความเห็นอกเห็นใจ รวมถึงทักษะความเป็นผู้นำ ความรู้ที่กว้างขวาง ปัญญาและการตระหนักรู้ ซึ่งเป็นศักยภาพของมนุษย์

ระบบเศรษฐกิจปัญญาประดิษฐ์จึงสร้างทั้งผลกระทบด้านบวกและลบให้กับทุกประเทศ รัฐบาลจะต้องคิดอย่างจริงจังกับแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นแน่นอนในอนาคตอันใกล้นี้ ทุกประเทศจะต้องเปลี่ยนผ่านระบบเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ยกระดับผลิตภาพและคุณภาพชีวิตของประชาชน เตรียมเรื่องประเด็นด้านจริยธรรมและกฎระเบียบใหม่ๆ พร้อมกับการลดผลกระทบด้านลบ และการจัดการความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้น 

ที่สำคัญคือการยกระดับคุณภาพการศึกษาทุกช่วงวัย เพื่อให้มนุษย์ใช้ประโยชน์จากปัญญาประดิษฐ์ได้มากที่สุด สามารถทำงานร่วมกันกับหุ่นยนต์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีเวลาว่างเพิ่มขึ้นเพื่อไปทำกิจกรรมสร้างสรรค์ เพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่งมีนโยบายอีกหลายเรื่องที่ผู้นำรัฐบาลต่อจากนี้จะต้องคิดอย่างจริงจังและเร่งมือทำตั้งแต่วันนี้ ก่อนจะสายเกินไป

โดย...

ธราธร รัตนนฤมิตศร

ประกาย ธีระวัฒนากุล

สถาบันอนาคตไทยศึกษา (Thailand Future Foundation)

https://www.facebook.com/thailandfuturefoundation/