การกลับมาของ Stakeholder Capitalism

การกลับมาของ Stakeholder Capitalism

หนึ่งในประเด็นน่าติดตามในแวดวงการบริหารองค์กรระดับโลกในปีนี้ นอกเหนือจากเรื่องผลกระทบและการปรับตัวหลังโควิดแล้ว

ก็คือการกลับมาอีกครั้งของแนวคิด Stakeholder Capitalism หรือที่พอจะแปลเป็นไทยได้ว่า ทุนนิยมที่คำนึงถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ซึ่งเป็นแนวคิดที่แตกต่างกับแนวคิดในปัจจุบันที่จะคำนึงถึงผลตอบแทนของผู้ถือหุ้นเป็นหลัก

ถ้าอธิบายง่ายๆ Stakeholder Capitalism คือระบบการบริหารองค์กรที่คำนึงถึงประโยชน์ของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต่างๆ ทั้งลูกค้า ผู้ผลิตวัตถุดิบ พนักงาน ชุมชน และผู้ถือหุ้น ภายใต้ระบบการบริหารนี้ เป้าหมายขององค์กรคือการสร้างมูลค่าสูงสุดในระยะยาวให้กับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต่างๆ ไม่ใช่การทำกำไรสูงสุดและสร้างผลตอบแทนสูงสุดให้กับผู้ถือหุ้นเหมือนที่ผ่านมา

Stakeholder Capitalism ไม่ใช่เรื่องใหม่ แนวคิดนี้เป็นแนวคิดทางด้านการบริหารที่แพร่หลายในช่วงทศวรรษที่ 1950-1960 แต่พอถึงช่วงทศวรรษที่ 1970 ความสำคัญของ Shareholder value ได้เพิ่มมากขึ้น นักเศรษฐศาสตร์จะระบุเลยว่าความรับผิดชอบหนึ่งเดียวที่องค์กรมีคือการเพิ่มมูลค่าให้กับผู้ถือหุ้น ซึ่งแนวคิดนี้ก็ได้รับความนิยมและยึดถือเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน อย่างไรก็ดี พอมาถึงยุคปัจจุบัน จากปัญหาทางสังคม สิ่งแวดล้อม ความเหลื่อมล้ำทางสังคม รวมถึงการประพฤติตนที่ส่อไปในทางทุจริตหรือผิดศีลธรรมของบรรดาผู้บริหารในหลายๆ องค์กร ทำให้ความไว้วางใจที่สังคมมีต่อผู้บริหารและองค์กรธุรกิจเริ่มลดถอยลง

จากปัญหาและกระแสต่างๆ ข้างต้น ทำให้เรื่อง Stakeholder Capitalism ได้เริ่มกลับมาใหม่และได้รับการสนับสนุนจากผู้บริหารองค์กรธุรกิจยักษ์ใหญ่ต่างๆ ในโลกตะวันตก ทั้งผ่านบรรดาซีอีโอจำนวน 181 คนใน Business Roundtable ที่ได้ปรับ Statement on the Purpose of a Corporation ใหม่ให้ครอบคลุมบรรดา Stakeholders อื่นๆ เพิ่มมากขึ้น (ปรับจากของเดิมที่ใช้มาตั้งแต่ปี 1997)

หรือการประชุม World Economic Forum 2020 ในปีนี้ที่กำหนดประเด็นหลักในการประชุมเป็นเรื่อง Stakeholders for a cohesive and sustainable world รวมทั้งปรับแถลงการณ์ (Manifesto) ของการประชุมประจำปี WEF ใหม่ โดยระบุเป็น Universal Purpose ขององค์กรธุรกิจไว้ว่า “The purpose of a company is to engage all its stakeholders in shared and sustained value creation.”

สำหรับในประเทศไทย Stakeholder Capitalism เป็นเรื่องที่องค์กรชั้นนำของประเทศไทยได้ให้ความสนใจกันมาพอสมควร ไม่ว่าจะผ่านทาง CSR (Corporate Social Responsibility) หรือ ESG (Environment, Social, Governance) หรือการเข้ารับการประเมินโดย DJSI (Dow Jones Sustainability Index) รวมถึงกิจกรรมที่แต่ละองค์กรมุ่งเน้นไม่ว่าจะเป็น Circular Economy หรือ Creating Shared Value หรือ Sustainability

อย่างไรก็ตาม แนวคิดของ Stakeholder Capitalism ในยุคใหม่นั้นไม่ใช่เพียงแค่การทำกิจกรรมเพื่อการประชาสัมพันธ์องค์กร หรือการเข้ารับการประเมินเพื่อให้องค์กรออกมาดูดี หรือเป็นไปตามที่หน่วยงานกำกับและตรวจสอบกำหนดมาเท่านั้น แต่จะต้องฝังอยู่กับทุกระดับในการบริหารองค์กรสมัยใหม่ เริ่มตั้งแต่ระดับคณะกรรมการบริษัท ที่ประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับ Stakeholders กลุ่มต่างๆ ควรจะเข้าไปอยู่ในประเด็นและความสนใจของคณะกรรมการบริษัท (นอกเหนือจากเรื่องของผู้ถือหุ้น)

นอกจากนี้เรื่องของการดูแลสิ่งแวดล้อม การดูแลพนักงานอย่างเป็นธรรม การลงทุนและให้ความสำคัญกับชุมชนและสังคมรอบข้าง การนำเสนอสินค้าและบริการที่ดีและมีคุณค่าให้กับลูกค้า การแข่งขันกับคู่แข่งอย่างเป็นธรรม เรื่องของสิทธิมนุษยชนก็ล้วนแล้วแต่เป็นประเด็นที่ผู้บริหารในทุกระดับขององค์กรจะต้องมุ่งเน้นและให้ความสนใจมากขึ้น

อย่างไรก็ดี ความท้าทายสำคัญสำหรับ Stakeholder Capitalism คือเรื่องนี้จะประสบความสำเร็จไม่ได้ ถ้าผู้ถือหุ้นไม่ให้ความสำคัญและไม่เห็นถึงคุณค่าของการคำนึงถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกลุ่มอื่นๆ มากขึ้น เนื่องจาก Stakeholder Capitalism เป็นเรื่องของระยะยาวที่ยากจะเห็นผลลัพธ์ที่ชัดเจนในระยะสั้น 

ผู้ถือหุ้นเองจะต้องมองการลงทุนในบริษัทเป็ระยะยาวมากกว่าการหวังผลตอบแทนในระยะสั้น ซึ่งก็เริ่มมีงานวิจัยที่ชี้ให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างผลลัพธ์ด้าน Sustainability ของบริษัทที่นำไปสู่การเพิ่มมูลค่าของบริษัท (Valuation) ออกมาแล้ว

น่าจะลองกลับไปทบทวนดูนะครับว่าในปัจจุบันองค์กรของท่านได้ให้ความสำคัญกับเรื่องราวต่างๆ ของ Stakeholder Capitalism มากน้อยเพียงใดและอย่างไร