ข้อคิดเรื่องเศรษฐกิจจากธนาคารโลก

ข้อคิดเรื่องเศรษฐกิจจากธนาคารโลก

อาทิตย์ที่แล้ว ธนาคารโลกได้ออกรายงานเศรษฐกิจภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกฉบับเดือน ต.ค.2020 พูดถึงสถานการณ์เศรษฐกิจ

ล่าสุด ให้ชื่อรายงานว่า จากการยับยั้งสู่การฟื้นตัว” (From Containment to Recovery)

มองว่าเศรษฐกิจภูมิภาคเอเชียจะหดตัวร้อยละ 3.5 ปีนี้จากผลของวิกฤติโควิด-19 ที่กระทบเศรษฐกิจภูมิภาคในสามด้านหลัก คือ การระบาดของโควิด-19 มาตรการล็อกดาวน์ และการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และที่กระทบรุนแรงเพราะประเทศในภูมิภาคเอเชียพึ่งพาเศรษฐกิจโลกมาก ถึงแม้รัฐบาลของแต่ละประเทศจะใช้จ่ายมากเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ 

ที่สำคัญ การหดตัวของเศรษฐกิจจะทำให้จำนวนคนจนในภูมิภาคเพิ่มขึ้น 38 ล้านคนปีนี้ โดย 33 ล้านคนเป็นคนจนใหม่ที่รายได้เฉลี่ยปีนี้ลดลงต่ำกว่าเส้นความยากจน อย่างไรก็ตาม ก็มีข่าวดีคือธนาคารโลกมองว่าเศรษฐกิจภูมิภาคจะขยายตัวประมาณร้อยละ 5.1 ในปีหน้า

สำหรับเศรษฐกิจไทย สำนักงานธนาคารโลกที่กรุงเทพฯ ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า เศรษฐกิจไทยปีนี้จะหดตัวมากกว่าที่คาดการณ์ไว้เดิม คือหดตัวร้อยละ 8.3 จากเดิมร้อยละ 5 และต้องใช้เวลา 2 ปี กว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจจะกลับมาอยู่ระดับเดียวกับก่อนโควิด แต่ในกรณีที่ช่วงครึ่งปีหลังมีการระบาดรอบสองในประเทศ เศรษฐกิจอาจหดตัวถึงร้อยละ 10.4 ถือเป็นกรณีเลวร้ายสุด

ในแง่ของมาตรการของรัฐบาล ธนาคารโลกมองว่าไทยมีพื้นที่นโยบายหรือเม็ดเงินที่ใช้กระตุ้นเศรษฐกิจมากที่สุดประเทศหนึ่งในภูมิภาค ความท้าทายจึงอยู่ที่การออกแบบและประสิทธิภาพของนโยบาย ซึ่งก็คือการใช้ทรัพยากรเพื่อแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่เดือดร้อน และได้พูดถึงความสมดุลระหว่างมาตรการดูแลด้านสาธารณสุขกับการดูแลภาพรวมของเศรษฐกิจ ว่ารัฐคงต้องหาจุดที่สมดุลและต้องดูว่าในระยะยาวจะสามารถอยู่กับผลกระทบทางเศรษฐกิจต่อไปได้อีกแค่ไหน รัฐบาลอาจต้องผ่อนผันเพื่อดูแลเศรษฐกิจ แต่สิ่งที่ทำอยู่ในปัจจุบันที่ทำให้มีการติดเชื้อในประเทศต่ำ อาจเป็นสิ่งที่ถูกต้องก็ได้ (อ้างจากกรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 30 ก.ย. หน้า 4)

ผมเห็นด้วยกับการวิเคราะห์ของธนาคารโลกเป็นส่วนใหญ่ เพราะภาวะเศรษฐกิจโลกขณะนี้ทำให้เราจะหวังพึ่งภาคต่างประเทศโดยเฉพาะการท่องเที่ยวไม่ได้เลย และเศรษฐกิจโลกจะใช้เวลาอย่างน้อย 2-3 ปีกว่าจะกลับมาถึงระดับก่อนโควิด 

ดังนั้น ในช่วงปีนี้และปีหน้า โมเมนตัมการฟื้นตัวของเศรษฐกิจของเราจะต้องมาจากปัจจัยภายในประเทศอย่างเดียว คือ การใช้จ่ายของภาคธุรกิจ ของครัวเรือนที่มีเงินออม และของภาครัฐ และเงื่อนไขสำคัญที่จะประคับประคองให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจเกิดขึ้น คือการดูแลคนส่วนล่างของสังคมที่ได้รับผลกระทบมากจากโควิดให้สามารถอยู่ได้ มีงานทำ มีรายได้เพียงพอที่จะใช้จ่าย โดยมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐที่ตรงจุด 

นอกจากนี้ต้องระมัดระวังไม่ให้เกิดการระบาดรอบสองขึ้นในประเทศ เพราะถ้าเกิดขึ้น โมเมนตัมของกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เริ่มมีมากขึ้นจะหยุดชะงัก หรือต้องกลับไปเริ่มต้นใหม่ ถ้าเราต้องมีมาตรการล็อกดาวน์อีกครั้งเหมือนที่เกิดขึ้นในหลายประเทศ

ที่น่าห่วงคือเราอาจเริ่มประมาท (Complacent) และไม่ใส่ใจมากพอในเรื่องการระบาดรอบสอง โดยเร่งให้มีกิจกรรมเศรษฐกิจมากเพื่อหวังให้มีรายได้จากต่างประเทศเข้ามา โดยอาจไม่ระมัดระวังมากพอ เช่น กรณีการเปิดให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าประเทศที่จะทำให้คนในประเทศมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นต่อการระบาดรอบสอง ถ้ามาตรฐานการกักตัวนักท่องเที่ยว 14 วัน ไม่เข้มงวดหรือไม่เป็นไปตามระเบียบอย่างที่ปฏิบัติกับคนไทยที่เดินทางกลับจากต่างประเทศ 

อีกความเสี่ยงคือ การระบาดเข้าประเทศไทยของโควิด-19 จากประเทศเพื่อนบ้านที่เกิดจากการเดินทางกลับหรือลักลอบเข้าประเทศของแรงงานต่างชาติที่ไม่มีการกักตัว นี่คือสองความเสี่ยงหลักที่ผู้ที่เกี่ยวข้องต้องระมัดระวังมาก ระมัดระวังอย่างมีความรับผิดชอบ เพราะจะกระทบการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและความปลอดภัยของคนทั้งประเทศ

แต่ที่น่าสนใจมากในรายงานของธนาคารโลก คือการวิเคราะห์ว่าอัตราการเติบโตเฉลี่ยของเศรษฐกิจภูมิภาคในระยะยาวอาจลดลงถึงหนึ่งเปอร์เซ็นต์จากผลของโควิด จากผลกระทบที่โควิด-19 มีต่อเศรษฐกิจภูมิภาคใน 3 ช่องทาง

1.ผลต่อการลงทุนทั้งภาครัฐและเอกชนที่จะลดลงจากความไม่แน่นอนที่มีมากขึ้น จากระดับหนี้ของภาครัฐและเอกชนที่สูงขึ้น และจากผลกระทบของโควิดที่จะทำให้คุณภาพสินทรัพย์ของระบบธนาคารพาณิชย์ด้อยลง ลดแรงจูงใจให้ธนาคารพาณิชย์ขยายสินเชื่อ

2.ผลของโควิด-19 ที่มีต่อคุณภาพทรัพยากรมนุษย์ จากที่การระบาดจะทำให้กำลังแรงงานเจ็บป่วยได้ง่ายขึ้น จากการตกงานที่ยืดเยื้อที่กระทบความสามารถและความอยากทำงานของกำลังแรงงาน นอกจากนี้ ชั่วโมงเรียนที่น้อยลงจากการปิดภาคเรียนที่ต่อเนื่องก็จะทำลายความสามารถของแรงงานในอนาคตไปในตัว จากการสูญเสียโอกาสในการเรียนรู้ ที่จะกระทบไปถึงคุณภาพของแรงงาน

3.ผลต่อผลิตภาพการผลิต (Productivity) ที่จะลดลงเทียบกับก่อนโควิด เพราะบริษัทจำนวนมากต้องปิดตัวลง มีการเลิกจ้าง ทำลายกำลังแรงงานที่ประเทศมี ซึ่งเป็นสินทรัพย์ (asset) ที่สำคัญของภาคเอกชน รวมถึงการลดลงของการลงทุน การลดลงของการค้าระหว่างประเทศ การตัดย่อห่วงโซ่การผลิตเพื่อลดความเสี่ยง เหล่านี้จะมีผลต่อผลิตภาพการผลิตของเศรษฐกิจภูมิภาคในระยะยาว

ผลกระทบเหล่านี้เป็นสิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ และเศรษฐกิจไทยก็จะถูกกระทบเช่นกัน ทั้งในเรื่องการลงทุน คุณภาพทรัพยากรมนุษย์ และผลิตภาพการผลิต ทำให้ศักยภาพการขยายตัวของเศรษฐกิจของเราจะยิ่งลดต่ำลง ประเด็นเหล่านี้ทำให้การปฏิรูปเศรษฐกิจยิ่งจำเป็นและสำคัญ เพราะเราเริ่มจากจุดที่อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจของเราต่ำสุดในภูมิภาคขณะนี้

อีกเรื่องที่รายงานของธนาคารโลกพูดถึง ให้ข้อคิดที่ดีและเป็นเรื่องที่อยู่ในใจผมมาตลอดคือ เรื่องหนี้สาธารณะ ที่ปัจจุบันทุกประเทศจะใช้การก่อหนี้ของภาครัฐเป็นวิธีระดมทรัพยากรการเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ทุกอย่างก็ต้องมีจุดพอดี เพราะถ้ามากเกินไป หรือทำโดยไม่มองถึงความสามารถในการชำระหนี้ในอนาคต ประเทศก็อาจมีปัญหาหนี้สาธารณะที่รุนแรงตามมา คือหนี้ที่กู้มาเพื่อฟื้นเศรษฐกิจได้เพิ่มขึ้นสูงเกินความสามารถของระบบเศรษฐกิจที่จะชำระคืน ทำให้ประเทศมีปัญหาหนี้และเกิดเป็นวิกฤติเศรษฐกิจ 

ดังนั้น ในการทำนโยบายเศรษฐกิจ สำคัญอย่างยิ่งที่ผู้ทำนโยบายจะต้องพิจารณาทางเลือกในการระดมทรัพยากรเหล่านี้อย่างรอบคอบตั้งแต่ต้นจนจบ ซึ่งเป็นข้อคิดที่ดี

ใครสนใจและมีเวลา แนะนำให้อ่านเอกสารของธนาคารโลกฉบับนี้