'ผู้นำเก่ง' ดูจากอะไร? ตอนที่ 2

'ผู้นำเก่ง' ดูจากอะไร? ตอนที่ 2

ช่วงนี้ดูข่าว ทั้งข่าวผู้นำประเทศ ผู้นำโรงเรียน หัวหน้ากองประกวดนางงาม และอีกหลายข่าว ล้วนแต่สอนอะไรเราเกี่ยวกับภาวะผู้นำ (Leadership)

ผู้นำเก่ง ดูจากอะไร?

เมื่อฉบับที่แล้วเราคุยกันเรื่อง คุณลักษณะหลักของ ผู้นำองค์กรไทย 6 Personal ที่เป็นคุณลักษณะเฉพาะสำหรับ “คนไทย” กับการพาองค์กรสู่ “เวทีโลก” ประกอบด้วย 1) นักสำรวจความแปลกใหม่ (Uncharted Explorer) 2) นักรบผู้พิชิตความสำเร็จ (Success Warrior) 3) นักสื่อสารผู้เข้าใจคน (Empathic Communicator) 4) นักผนึกพลัง (Synergistic Winner) 5) นักส่งเสริมความหลากหลาย (Diversity Promoter) 6) ผู้ถือไฟนำทาง (Torch Bearer)

บริษัท สลิงชอท กรุ๊ป ร่วมกับสถาบันวิจัยพฤติกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทร์วิโรฒ ทำการศึกษาผู้นำองค์กรไทยกว่า 300 คน พบคุณลักษณะที่เด่นที่สุดของ ผู้นำองค์กรไทยคือ นักสื่อสารผู้เข้าใจคน (Empathic Communicator) กล่าวคือ สามารถกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจน ทำให้ ทีมงานเข้าใจและเดินไปในทิศทางเดียวกัน

ในทางตรงข้าม คุณลักษณะที่ได้คะแนนน้อยที่สุดคือ นักสำรวจความแปลกใหม่ (Uncharted Explorer) ซึ่งเป็นเรื่องการมองเห็นโอกาส กล้าเสี่ยงที่จะทำอะไรใหม่ ๆ เพื่อพัฒนางานและเสริมสร้างธุรกิจ สามารถรับมือกับความผันผวน ความไม่แน่นอน ความคลุมเครือ และ ผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้น อีกทั้งยังต้องเรียนรู้และพัฒนาตนเองในเรื่องส่วนตัวด้วย

ยิ่งกว่านั้น ภายใต้ 6 คุณลักษณะนี้ ยังประกอบไปด้วย 18 ทักษะความเป็นผู้นำที่จะพาองค์กรไปสู่เทวีสากล ซึ่งจากการวิจัยพบว่า 3 ทักษะที่ผู้นำองค์กรไทยส่วนใหญ่ทำได้ดีในลำดับต้น ๆ คือ

1. การสร้างความแตกต่างเพื่อได้เปรียบทางการแข่งขัน

2. การเตรียมส่งไม้ต่อให้กับคนรุ่นถัดไป

3. การให้ความสำคัญกับความแตกต่างและหลากหลาย

ส่วน 3 ทักษะที่ผู้นำองค์กรไทยส่วนใหญ่ได้คะแนนต่ำสุดคือ

1. ความสามารถในการมองเห็นโอกาสใหม่และประเมินความเสี่ยง

2. ความสามารถในการหาแนวร่วมธุรกิจทั้งจากภายในและภายนอกองค์กร

3. ความสามารถในการสร้างบรรยากาศให้เกิดการแสดงความคิดเห็นและการสนับสนุนให้คิดต่าง

กลับไปที่คำถามข้างต้นว่า “ผู้นำเก่ง ดูจากอะไร”

คะแนนที่เราเห็น เป็นจุดเริ่มต้นของดัชนีวัดสุขภาพการนำองค์กรของผู้นำ หากจะพาองค์กรไทยไปสู่ระดับโลก คงต้องเริ่มคิดเริ่มทำในสิ่งที่แตกต่าง พาตนเองออกไปเชื่อมโยงกับคน ธุรกิจ หรือองค์ความรู้ที่อยู่นอกจากสิ่งที่ตนคุ้นชิน และใช้ประโยชน์จากความคิดที่แตกต่างเพื่อประสานพลังให้ไกลและเร็วกว่าเดิม

คำว่าผู้นำ “เก่งหรือไม่” คงไม่สำคัญเท่า “เหมาะหรือไม่” เพราะผู้นำแต่ละแบบก็เหมาะกับองค์กรต่างกัน หรือเหมาะกับสถานการณ์ช่วงเวลาที่องค์กรกำลังเผชิญอยู่ต่างกัน หากองค์กรกำลังอยู่ในช่วงหาธุรกิจใหม่ ๆ เริ่มทำในสิ่งใหม่ ก็เข้าทางผู้นำแบบนักสำรวจความแปลกใหม่ ที่ต้องกล้าเสี่ยง เห็นโอกาสที่จะทำอะไรใหม่ ๆ หากองค์กรอยู่ในช่วงการขยายธุรกิจไปสู่ประเทศรอบ ๆ ก็เข้าทางผู้นำแบบนักส่งเสริมความหลากหลาย ที่คิดหลากหลายมุมมองทั้งระดับโลก ระดับภูมิภาค ระดับประเทศ

อย่างไรก็ดีจากการศึกษาพบว่า สิ่งที่ผู้นำทั้ง 6 คุณลักษณะจำเป็นต้องมีเหมือน ๆ กัน คือการลุกขึ้นมาลงมือทำ (ACT) มากกว่าเพียงนั่งสั่งอยู่บนหอบัญชาการ (SAT)