ความน่าเป็นห่วงของเศรษฐกิจ (3)

ความน่าเป็นห่วงของเศรษฐกิจ (3)

ครั้งที่แล้วผมกล่าวถึงข้อเสนอของกลุ่ม CARE ให้รัฐบาลร่วมลงทุนกับ SME ของไทยในการตั้งบริษัทใหม่ขึ้นมา โดยรัฐบาลจะลงทุนไม่เกินรายละ 50 ล้านบาท

 โดยให้เจ้าของบริษัทลงทุน 20 ล้านบาท และธนาคารพร้อมปล่อยกู้ระยะยาว (3 ปี) อีก 30 ล้านบาท ทำให้มีสัดส่วนทุนเท่ากับ 70 (รัฐ 50 เจ้าของ 20) และหนี้สินเท่ากับ 30 โดยจะเป็นบริษัทที่รัฐบาลไม่เข้าไปบริหาร แต่จะเป็นบริษัทที่มีระบบบัญชีโปร่งใสและจ่ายภาษีให้กับรัฐบาลอย่างครบถ้วน

การเสนอดังกล่าวอาจดูว่าเป็นการเอารัฐบาลเข้าไปเสี่ยงที่จะสูญเสียเงินภาษีอากรของประชาชนอย่างมากในภาวะที่เศรษฐกิจย่ำแย่เช่นปัจจุบัน แต่ผมมองว่าหากไม่ทำอะไรก็จะมีการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยเกิดขึ้นในปีหน้า โดยธนาคารพาณิชย์จะต่างคนต่างทำ โดยความจำเป็นที่จะต้องเข้าไปปรับโครงสร้างหนี้ของบริษัทต่างๆ และลูกค้ารายย่อยที่มีถึง 12.5 ล้านบัญชี สินเชื่อรวม 7.2 ล้านล้านบาท (มากกว่า 1/3 ของสินเชื่อทั้งระบบ) ที่กำลังได้รับการผ่อนปรนดอกเบี้ยและไม่ต้องคืนเงินต้นอยู่ในขณะนี้ 

ผมมีข้อสังเกตว่าหากปล่อยให้ธนาคารพาณิชย์ทำการปรับโครงสร้าง เราก็จะไม่สามารถทราบได้เลยว่าจะปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศไปในทิศทางใด และจะตอบสนองความต้องการของประเทศในส่วนรวมมากน้อยเพียงใด

ตัวอย่างเช่นหากธนาคารพาณิชย์มองว่าจะได้ประโยชน์สูงสุดจากการยึดอสังหาริมทรัพย์ของลูกหนี้ที่ไม่สามารถทำธุรกิจต่อไปได้มาเก็บเอาไว้รอขายในอนาคต เพราะต้นทุนในการเก็บรักษาไม่สูง (warehouse with low carrying cost) ก็อาจทำให้มีทรัพยากรถูกเก็บเอาไว้เฉยๆ ไม่เอาไปทำประโยชน์เป็นจำนวนมากในระยะสั้น ซึ่งจะทำให้จีดีพีตกต่ำลงไปอีก (เพราะไม่ได้นำไปใช้ประโยชน์ในการสร้างรายได้) ซึ่งจะทำให้รัฐบาลเก็บภาษีได้ลดลงตามไปด้วย อันจะทำให้หนี้สาธารณะต่อจีดีพีเพิ่มขึ้น ไม่ใช่เพราะว่ารัฐบาลก่อหนี้มากขึ้นแต่เพราะว่าจีดีพีลดลง ประเด็นคือการที่รัฐบาลไม่ทำอะไรเลยก็สามารถทำให้หนี้สาธารณะต่อจีดีพีเพิ่มขึ้นได้เช่นกัน

แต่หากต้องลงทุนที่เสี่ยงสูงดังที่กลุ่ม CARE เสนอแล้วจะปกป้องผลประโยชน์ของผู้เสียภาษีได้อย่างไรซึ่งคำตอบคือการเสนอให้รัฐบาลขายพันธบัตร 100 ปีให้กับธนาคารแห่งประเทศไทยมูลค่า 2 ล้านล้านบาท โดยรัฐบาลจ่ายดอกเบี้ยเพียง 0.01% ต่อปี (เท่ากับที่คิดดอกเบี้ยธนาคารพาณิชย์ที่กำลังกู้เงิน soft loan ให้กับ SMEs ในขณะนี้) ในส่วนนี้จะหมายความว่ารัฐบาลจะมีภาระดอกเบี้ยที่จะต้องจ่ายให้กับ ธปท.เพียง 200 ล้านบาทต่อปี 

และหากรัฐบาลลงทุนได้มากถึง 2 ล้านล้านบาทจริง ก็จะทำให้ภาคเอกชน (เจ้าของ+ธนาคารพาณิชย์) ต้องใส่เงินเข้ามาอีก 2 ล้านล้านบาท รวมเป็น 4 ล้านล้านบาท ซึ่งจะกระตุ้นจีดีพีได้มากเพราะคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 23% ของจีดีพีและเนื่องจากรัฐบาลเก็บภาษีได้ประมาณ 17% ของจีดีพี ดังนั้น รัฐบาลก็น่าจะเก็บภาษีเพิ่มขึ้นได้เท่ากับ 6.8 แสนล้านบาท โดยยังไม่ได้คำนวณตัวคูณ (multiplier) ที่จะเกิดขึ้นเมื่อมากรลงทุนใหม่ซึ่งกระตุ้นการใช้จ่ายและการจ้างงานในระบบ

การกระตุ้นให้เศรษฐกิจสามารถตะกายตัวออกจากหลุมขนาดใหญ่ทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากการระบาดของ COVID-19 นั้น ผมเชื่อมั่นว่าจะช่วยลดสัดส่วนของหนี้สาธารณะต่อจีดีพีลงไปได้อย่างรวดเร็ว เช่นที่เคยเกิดขึ้นในอดีต เมื่อเศรษฐกิจไทยสามารถฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง ดังที่เห็นได้จากตารางข้อมูลในอดีตเกี่ยวกับหนี้สาธารณะต่อจีดีพีที่ปรากฏในรูป

160166234020

หากดูตัวเลขมูลค่าหนี้สาธารณะในช่วง 24 ปี จาก 1996-2020 (ถึงเดือน ..) จะเห็นได้ว่ารัฐบาลไทยแทบจะไม่เคยลดมูลค่าหนี้สาธารณะลงเลย และหากลดลงก็จะทำได้เมื่อเศรษฐกิจดีมากๆ ทำให้รัฐบาลต้องลดนโยบายการคลังเพื่อลดความร้อนแรงของเศรษฐกิจและไม่จำเป็นต้องเคลียร์หนี้สิน และในภาวะที่เศรษฐกิจย่ำแย่นั้นรัฐบาลยิ่งต้องใช้เงินกอบกู้เศรษฐกิจโดยการกู้เงินเพิ่มขึ้นอย่างมากเช่นในปี 1996-1999

แต่การรักษาวินัยทางการคลังที่วัดจากสัดส่วนของหนี้สาธารณะต่อจีดีพีนั้น จะเห็นได้ว่าจะสามารถลดลงได้เพราะคุณภาพของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจหลังวิกฤติว่าฟื้นจีดีพีได้มากและยาวนานต่อเนื่องเพียงใด เช่น หนี้สาธารณะต่อจีดีพีลดลงจาก 60% ในปี 2000 เหลือเพียง 35% ในปี 2008 เพราะจีดีพีไทยขยายตัวเร็วกว่าหนี้สาธารณะ (หลังจากนั้นเพิ่มขึ้นเพราะเกิด Hamburger Crisis) 

ดังนั้น การรักษาวินัยทางการคลังคือการเพิ่มตัวหารที่ได้มาจากการที่รัฐบาลกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างมีประสิทธิภาพ